สถาพร ศรีสัจจัง "...การค้ามนุษย์นั้นเห็นได้ชัดว่ายังไม่หมดไปจากโลกนี้ ...แม้ปัจจุบันจะไม่มีเรือจอดทอดสมอที่หน้าป้อมกักกัน แต่ก็มีผู้คนถูกบังคับให้ต้องเข้าสู่ความเป็นทาส ไม่โดยรูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งตลอดเวลา..." คำกล่าวอมตะของ “โดโฮ” : กวีชาวกานา การอภิปรายเรื่อง “ทาส” ในโลกสมัยใหม่ตาม “วาทกรรม” ที่กวีแห่งประเทศกานานาม “โดโฮ” เคยกล่าวไว้ และได้นำมาจั่วหัวเปิดเรื่องครั้งนี้นั้น นับเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง เพราะถ้าจะแปลความวาทกรรมนี้ตรงๆก็คงได้ประมาณว่า จริงหรือที่ในปัจจุบันไม่มี “ทาส” อยู่ในโลกที่แสนจะทันสมัยด้วยความเร็วและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี “ดิจิทัล”อีกแล้ว? กวีอย่าง “โดโฮ” ไม่เชื่อ! และเชื่อว่าอีกหลายใครก็คงไม่เชื่อเช่นกัน! อะไรคือ “ทาส”? “ความรู้” หรือ “ข้อมูล” (Data) เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ทาส” ในโลกปัจจุบันระบุไว้ว่า ประเทศสุดท้ายที่มีการประกาศยกเลิกการมีทาสอย่างเป็นทางการคือประเทศ “มอริตาเนีย” โดยได้ประกาศยกเลิกเมื่อปี ค.ศ. 1981 คือเมื่อ 39 ปีที่แล้วนี่เอง ส่วนประเทศแรกในโลกที่มีพระราชบัญญัติการเลิกทาสใช้คือประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการค้าขายทาสกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาก ขนาดพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เอง เมื่อครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ยังเป็นดยุกแห่งยอร์กอยู่ ก็เป็นเจ้าของบริษัทค้าทาสจดทะเบียนในกรุงลอนดอนที่ชื่อ “The African company” โดยจดทะเบียนบริษัทมาตั้งแต่ ค.ศ. 1660 แต่เมื่อถึงปี ค.ศ.1883 รัฐสภาอังกฤษสามารถผลักดัน พ.ร.บ.เลิกทาสได้สำเร็จ โดยไม่มีการรบราฆ่าฟันกันจนต้องเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด กล่าวสำหรับเมืองไทย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงให้ตราพระราชบัญญัติการเลิกทาสมาตั้งแต่พ.ศ. 2417 แต่ที่สามารถประกาศใช้อย่างได้ผลจริงก็คือ “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124” ซึ่งก็คือ พ.ศ. 2448 นั่นเอง ที่น่าสนใจคือประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเกิดใหม่พร้อมๆการเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย ที่เกิดมาพร้อมกับการประกาศ “คีย์ เวิร์ด” สำคัญที่ยังใช้โฆษณาตัวเองมาจนถึงวันนี้ ว่าคือดินแดนแห่ง “เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ” ตามคำประกาศของ ยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนสำคัญของเขานั่นไง อาจกล่าวได้ว่าประเทศอเมริกานั้นถูกสร้างมาจากแรงงาน “ทาส” ผิวดำโดยตรง มีหนังสือหนังหา ภาพยนตร์ และข้อมูลในรูปแบบต่างๆจำนวนมากที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า การประกาศเลิกทาสในสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดี ฮับราฮัมลินคอล์น จากรัฐอิลลินอยส์ผู้โปรดปรานนิยายเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” (หนังสือที่เห็นใจทาส)ของนางบีทเชอร์ สโตว์นั้น ก่อผลก็คือทำให้เกิดสงครามกลางเมือง (American civil war) ระหว่างกลุ่มรัฐทางฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือขึ้น สงครามดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกองทัพฝ่ายใต้ (นิยมการมีทาส) บุกเข้าโจมตีฐานทหารที่ฟอร์ตซัมเทอร์ ในรัฐเซาท์ แคโรไลนาเมื่อ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 สงครามดำเนินอยู่ประมาณ 4 ปี ระหว่างค.ศ. 1861 ถึง ค.ศ. 1865 ฟังว่ามีคนทั้ง 2 ฝ่ายเสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 600,000 คน ที่บาดเจ็บพิการนั้นไม่ต้องพูดถึง นับเป็นวิกฤติและบาดแผลทางสังคมใหญ่อีกแผลหนึ่งของประวัติศาสตร์อเมริกัน! ประธานาธิบดี ฮับราฮัม ลินคอล์น ลงนามใน กฎหมายประกาศเลิกทาส (Emancipation procremation) เมื่อ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 แต่ความเป็นทาสได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกที่ของสหรัฐอเมริกา ในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 13 โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม 1865 คำถามที่ว่า “ทาส” คืออะไร? มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้างนั้น ถ้าใครเคยอ่านเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกฎหมายลักษณะทาสยุคอยุธยาของไทย ก็ย่อมจะได้รับรู้ว่า เฉพาะในสังคมไทยนั้น “ทาส” มีพัฒนาการและเป็นมาอย่างไรแบบไหนบ้าง ก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา ดูเหมือนเราจะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ “ทาส” มากนัก แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของสยาม มีเรื่องดังกล่าวบันทึกไว้อย่างชัดเจน สรุปได้ว่า “ทาส” ในสยามนั้น มีทั้งสิ้น 7 ประเภท ได้แก่ 1)ทาสเชลย คือทาสที่ถูกจับมาเพราะแพ้สงคราม(น่าจะเหมือนกันทุกสังคมโบราณ) 2)ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุด เงื่อนไขก็คือ “การขายตัวเพื่อเป็นทาส” (มีมูลนาย เช่นแม่หรือพ่อขายลูก ผัวขายเมีย หรือขายตัวเอง)เป็นต้น 3)ทาสที่ได้รับจากมรดก คือเจ้าของทาสตายแล้วยกให้ทายาท 4) ทาสท่านให้ ทาสที่ได้จากนายทาสอื่นยกให้ 5)ทาสที่ช่วยไว้จากทันฑ์โทษ คือคนที่ทำผิดแล้วไม่มีเงินจ่ายค่าปรับสินไหมมีคนจ่ายให้แทนจึงต้องเป็นทาสของผู้นั้น 6)ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ส่วนใหญ่ทาสพวกนี้จะขายตัวเอง 7) ทาสในเรือนเบี้ย คือเด็กที่เกิดในระหว่างที่แม่เป็นทาส ประเภทนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตัวเองได้ แค่ประเด็น “ทาส” เรื่องเดียวก็กินพื้นที่เสียยาวแล้ว ยังไม่ได้พูดเรื่อง “การเรียนรู้” และ “ยุคสมัย” สักแอะเดียวเลย ถ้าอยากรู้ว่า 3 เรื่องนี้ “เชื่อมโยง” กันอย่างไร ก็คงต้อง “โปรดติดตามต่อโดยพลัน” !!!!