ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ถึงแม้ว่า “ระบบการศึกษาอังกฤษ-สหรัฐอเมริกา” ที่อาจจะเข้มงวดมากกว่า โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่เข้มงวดมากกว่าอเมริกาแน่นอน แต่อเมริกาดูจะผ่อนคลายมากกว่า แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแทบเอเซียแล้วรับรองได้เลยว่า “ราวฟ้ากับดิน” กล่าวคือ เอเชียนั้น “เข้มงวด” มากกว่ากันเยอะมาก เริ่มตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เด็กนักเรียนอนุบาลจนถึงอายุ 18 ปี จะเรียนหนังสือจนสมองทะลุ และเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วแทบต้องร้อง “ไชโย” กันลั่นเลยทีเดียว! มาต่อกันจากสัปดาห์ที่แล้วครับ ถึงระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่มีทางเลือกมากมายเช่นเดียวกัน “Terminal/Vocational Track” เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสายวิชาชีพ หลังจาก 2 ปีแล้ว นักศึกษาจะได้รับวุฒิอนุปริญญา (Associate Degree) ทางสาขาวิชาที่เลือก อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ เลขานุการ เขียนแบบ เป็นต้น   “วิทยาลัย (Colleges)” เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา หลักสูตร 4 ปี เปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ วิทยาลัยหลายแห่ง เปิดสอนถึงระดับปริญญาโท  วุฒิบัตรระดับปริญญาตรีและโทจาก   College  ทั้งของรัฐและเอกชนในสหรัฐฯ มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่า University ทุกประการแต่เล็กกว่ามาก  “มหาวิทยาลัย (University)” เป็นสถาบันระดับอุดม ศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอกในสาขาต่างๆ แต่ใหญ่กว่า “สถาบันเทคโนโลยี ( Institute of Technology)” เป็นสถาบันที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และอาจเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอก สถาบันเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การสอนในสาขาเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เงื่อนไขการรับเข้าเรียน “มัธยมศึกษา” นักเรียนจากประเทศไทยสามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมในโรงเรียนของเอกชนเท่านั้น ไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันของรัฐบาลได้ เงื่อนไขอื่นๆ เช่นเกรดเฉลี่ยและคะแนนTOEFL แตกต่างออกไปตามสถาบัน  “วิทยาลัย” วิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.0 ขึ้นไป และคะแนน TOEFL 450-500 ขึ้นไป  “มหาวิทยาลัย” สำหรับปริญญาตรี สถาบันส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป และ TOEFL 500 ขึ้นไป “ปริญญาโทและเอก” เกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไป และคะแนน TOEFL ไม่ต่ำกว่า 500 นักศึกษาที่จะสมัครในโปรแกรม MBA ส่วนใหญ่จะต้องใช้คะแนน GMAT ซึ่งจะนำมาคำนวณกับเกรดเฉลี่ยปริญญาตรี ส่วนนักศึกษาที่สมัครปริญญาโทและเอกในสาขาอื่นๆ ส่วนใหญ่จะต้องสอบ GRE (Graduate Record Examination)             ปีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา (Academic Year) จะเริ่ม ประมาณเดือนกันยายนถึงพฤษภาคม ซึ่งมีกำหนดภาคเรียน แตกต่างกันออกไปดังนี้ “ระบบ Semester” เป็นระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ในระยะเวลาหนึ่งปีจะประกอบด้วย 2 Semesters และ 1-2 Summer Sessions แต่ละ Semester ยาวประมาณ 16 สัปดาห์ ดังนี้ Fall Semester เปิดประมาณปลายสิงหาคม – กลางธันวาคม Spring Semester เปิดประมาณต้นมกราคม - เมษายน บางครั้ง Summer Session จะแบ่งครึ่งเป็น 2 ช่วงสั้นๆ Summer Session เปิดประมาณกลางพฤษภาคม–สิงหาคม และบางงคนสามารถจบการศึกษาได้ภายใน 3 ปี “ระบบ Quarter” ในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 4 Quarter แต่ละ Quarter ใช้เวลาเรียนประมาณ 10 สัปดาห์ ดังนี้ Fall Quarter เปิดประมาณกลางกันยายน - ธันวาคม Winter Quarter เปิดประมาณมกราคม - กลางมีนาคม  Spring Quarter เปิดประมาณต้นเมษายน - กลางมิถุนายน  Summer Quarter เปิดประมาณกลางมิถุนายน- สิงหาคม  “ระบบ Trimester” ใน 1 ปี แบ่งภาคการศึกษาดังนี้  First Trimester เปิดประมาณกันยายน - ธันวาคม  Second Trimester เปิดประมาณมกราคม - เมษายน  Third Trimester เปิดประมาณพฤษภาคม - สิงหาคม   “การสมัครเข้าศึกษา”  นักศึกษาที่ต้องการไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกา ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 1 ปี การติดต่อสถานศึกษานั้น ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้เอง โดยขอใบสมัครไปที่ Office of Admission ของมหาวิทยาลัย พร้อมระบุว่าต้องการสมัครสาขาใด ถ้าเป็นการสมัครระดับปริญญาโทหรือเอก ต้องเขียนขอใบสมัคร ไปที่ Graduate School Admissions Office หรือ Chairman ของคณะหรือแผนกที่ต้องการเรียน ในยุคของคอมพิวเตอร์ นักศึกษาสามารถสมัครผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต แต่ต้องกรอกข้อความให้ครบถ้วน และดำเนินการทุกขั้นตอนตามที่สถานศึกษา กำหนด ใบสมัครจะไม่ได้รับการพิจารณา ถ้าทางสถาบันไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร  หลังจากที่ส่งจดหมายหรือแบบฟอร์มขอใบสมัครไปยังสถานศึกษา ประมาณ 3-6 สัปดาห์ นักศึกษาควรจะได้รับการติดต่อกลับมาจากสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งรายละเอียด และใบสมัครหรือใบสมัครขั้นต้น (Preliminary Form)  “เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครเรียน” 1.แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกเรียบร้อยแล้ว  2.ค่าธรรมเนียมการสมัคร (Application Fee) 10-100 เหรียญสหรัฐ(แล้วแต่สถานศึกษาจะกำหนด) ซึ่งค่าสมัครนี้จะไม่มีการคืน ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับนักศึกษาก็ตาม  3.ใบแสดงผลการเรียน (Transcript) ฉบับจริง  4.สถานศึกษามักต้องการผลสอบ TOEFL GRE หรือ GMAT สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอก ผลสอบเหล่านี้ต้องขอให้ศูนย์สอบ เช่น Education Testing Service (ETS) ส่งผลไปยังสถานศึกษาโดยตรง(รายงานผลสอบที่ส่งจากศูนย์สอบไปยังสถานศึกษานี้ เรียกว่า Official Score Report) 5.จดหมายรับรองฐานะทางการเงิน (Financial Statement) ของผู้ปกครองจากสถาบันการเงินที่ผู้ปกครองเป็นลูกค้า อยู่ในกรณีที่เป็นนักเรียนทุน ควรมีจดหมายรับรองการรับทุนแนบไปด้วย 6.จดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) 2-3 ฉบับจากอาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชา 7.บทเรียงความประวัติส่วนตัวหรือจุดประสงค์ในการศึกษาต่อ หรืออาจจะเป็นหัวข้ออื่นๆ แล้วแต่สถานศึกษาจะกำหนด ประมาณ 300-500 คำ  เอกสารเหล่านี้ ต้องส่งทางไปรษณีย์อากาศให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัคร สถานศึกษาจะพิจารณาจากหลักฐานที่ส่งไป หากพอใจก็จะส่งจดหมายตอบรับเข้าเรียน หลายแห่งจะให้นักศึกษาตอบยืนยันการตัดสินใจอีกครั้งว่า จะไปเรียน ณ สถานศึกษาที่ตอบรับมานี้แน่นอนแล้ว จึงจะส่งใบตอบรับอย่างเป็นทางการที่เรียกว่าI-20 Form มาให้ เพื่อให้นักศึกษานำไปใช้ เป็นหลักฐานประกอบการขอวีซ่า ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ในระดับปริญญาตรีจะไม่ยากเลย และปริญญาโทอาจจะยากนิดหน่อย แต่ปริญญาเอกจะพิจารณาเข้มข้นมาก เพราะเขาจะต้องการเลือกเฟ้นบุคคลที่ต้องสามารถจบได้จริงๆ