สถาพร ศรีสัจจัง มีคำกล่าวว่า “การเรียนรู้คือสิ่งประเสริฐที่สุดของมนุษย์” ถ้าจะถามต่อว่า แล้วสิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้”คืออะไรกันละ? ทำไมจึงต้องเป็นสิ่ง “ประเสริฐสุด” ด้วย? ถามต่อว่า แล้วทำไมเราจึงต้องรู้ด้วยล่ะว่า “การเรียนรู้” คืออะไร? บางใครอาจตอบว่า ที่ต้องรู้ก็เพราะ บรรดานักปราชญ์คนสำคัญของโลกแต่โบราณมักกล่าวไว้ตรงกันว่า “การเรียนรู้” ที่ถูกต้องนี่แหละ ที่จะทำให้มนุษย์สามารถเป็น “อิสรภาพ” จากพันธนาการแห่งชีวิตทั้งหลายทั้งปวงได้! และนั่นคือ “เป้าหมายสูงสุด” ของมนุษย์ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตสังคมมิใช่หรือ? เพราะ “การเรียนรู้” เท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากความเป็น “ทาส” หรือที่ชีวิตต้องขึ้นต่อผู้อื่นได้อย่างแท้จริง! ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสวาทะสำคัญที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ไว้ว่า “มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ได้!” และผู้นำยุคแรกๆในการตั้งประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ ยอร์ช วอชิงตัน ถึงกับประกาศความฝันทางสังคมของประเทศเกิดใหม่ประเทศนั้น(อายุเพิ่งจะ 200 กว่าปี) ไว้อย่างชัดเจนว่า “นี่คือแผ่นดินแห่งเสรีภาพ ภราดรภาพ และ เสมอภาค”!(ขณะที่บ้านนั้นเมืองนั้นในยุคนั้นยังมี “ทาสมนุษย์” อยู่เต็มเมือง!) และแน่ละผู้คนที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นล้วนเชื่อว่า “การเรียนรู้” คือคุณสมบัติสำคัญที่จะนำพามนุษยชาติไปสู่อิสรภาพที่แท้จริงได้! สำหรับการนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนทางความคิดในครั้งนี้ เพื่อจะได้มีความเข้าใจตรงกัน ไม่ไขว้เขวเลอะเลือนไปยึดถือตามกรอบความคิดอื่น จึงใคร่ขออนุญาตยึดเอา “คำนิยาม” เกี่ยวกับ “การเรียนรู้” ของท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี “ราษฎรอาวุโส” ที่ถือกันว่าเป็น “นักคิด” ร่วมสมัยคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งของไทยมาเป็นบรรทัดฐาน จากเอกสารเล็กๆกะทัดรัดของคุณหมอประเวศ วะสี เล่มที่ชื่อ “การเรียนรู้คือสิ่งประเสริฐที่สุดของมนุษย์” ท่านได้อธิบายความหมายของคำ “การเรียนรู้” อย่างเป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายไว้ว่า : “สมองของ มนุษย์เป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล ประกอบด้วเซลส์สมองจำนวน 10 ยกกำลัง 11 (หรือ 100,000,000,000 = 1 แสนล้าน)ตัว แต่ละตัวติดเชื่อมโยงกับตัวอื่นๆ ประมาณ 70,000 จุด โครงสร้างอย่างนี้ ทำให้สมองมนุษย์มีศักยภาพที่จะเรียนรู้สูงสุด มนุษย์สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ คือ บรรลุความจริง ความดี ความงาม ความเป็นมิตรต่อสรรพสิ่ง ความเป็นอิสระสมบูรณ์ในตัวเอง และ ความสุข...” เมื่อเข้าใจตรงกันตามนิยามอย่างนี้แล้ว ก็ยังคงต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับ “คีย์เวิร์ด” หรือ “คำสำคัญ” ในนิยามที่คุณหมอประเวศกล่าวไว้เสียก่อนอีกสักหน่อย นั่นคือ ถ้าการเรียนรู้ของมนุษย์ควรเป็นไปเพื่อบรรลุถึง “ความจริง ความดี และ ความงาม” แล้วสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง ความดี และ ความงาม” ของมนุษย์คืออะไรกันละ? ถ้าใครเคยอ่านหนังสือของคุณหมอประเวศเล่มที่เพิ่งเอ่ยชื่อมา ก็จะพบว่า คุณหมอได้ตอบคำถามดังกล่าวอย่างชัดเจนไว้ตอนหนึ่งว่า “ความจริง ความดี และความงาม” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้ถึงเรื่องสำคัญรวม 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความรู้เรื่องธรรมชาติที่เป็นวัตถุ (คือวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่มีเรื่องความงามอยู่ด้วย) 2.ความรู้ทางสังคม(วิทยาศาสตร์สังคม มีเรื่อง “ศิลปะ” คือความงามที่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างขึ้นได้รวมอยู่ด้วย) 3.ความรู้ทางศาสนา(วิทยาศาสตร์ข้างใน=Inner science) 4.ความรู้เรื่องการจัดการ ท่านใดที่ต้องการลงรายละเอียดในเรื่องนี้โดยเฉพาะ คงต้องไปหาหนังสือของคุณหมอเล่มที่ว่าอ่านกันเอาเองก็แล้วกัน(ซึ่งหาได้ไม่ยากเพราะมีการพิมพ์เผยแพร่แจกจ่ายเป็นจำนวนมาก) เรื่องสำคัญก็คือ คุณหมอประเวศท่านได้นำเสนอเรื่องสำคัญเกี่ยวกับ “กระบวนการเรียนรู้” ที่ดีที่ชอบที่ถูกต้องไว้ด้วยว่า จะต้องปรับใช้จาก “วิธีวิทยา” ที่พระพุทธเจ้าแห่งกบิลพัสดุ์พระองค์นั้นทรงสอนไว้ คือ ต้องใช้ปัญญาที่เกิดจากการรับรู้(อุตมยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดไตร่ตรอง(จินตามยปัญญา) และ ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา(ภาวนามยปัญญา) โดยให้ปรับมาเป็น 1.)การเรียนรู้จากการสัมผัสความจริง 2.)การเรียนรู้จากการคิด และ 3.)การเรียนรู้จากการเจริญสติ ใช่แล้ว ที่พูดถึง “การเรียนรู้” อย่างสังเขป(มีรายละเอียดอีกมากมาย)มาทั้งหมด ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า เราต้องบูรณาการความรู้ความคิดจากเรื่อง “การเรียนรู้” นี้เองให้ไป “เชื่อมโยง” กับเรื่อง “ทาส” เพื่อจะพิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่า วาทกรรมที่ยกมาไว้แต่ต้นเรื่องของกวีชาวกานาที่ชื่อ “โดโฮ” ที่กล่าวว่า “ทาส” ที่เกิดจาก “การค้ามนุษย์” ยังไม่หมดไปในโลกดิจิทัลที่แสนจะทันสมัยในยุคปัจจุบันนั้นเป็นจริงอย่างไร!!!!