เสรี พงศ์พิศ www.phongphit. “ปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่ให้ยาแก้ปวด ต้องผ่าตัดใหญ่ ไม่ให้เป็นการศึกษาที่ล้มเหลว” ปฏิรูปการศึกษาจะไม่มีทางเกิดในรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนที่ยังมีโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองแบบรวมศูนย์ เมื่อการบริหารจัดการอยู่กรุงเทพฯ ปัญหาทุกอย่างจะรวมอยู่ที่ส่วนกลาง ปัญหาใหญ่และซับซ้อนมากจนไม่อาจแก้ได้ถ้าไม่กระจายความรับผิดชอบให้ท้องถิ่น โลกเปลี่ยนไปแล้ว โควิดมาเร่งให้เร็วขึ้นไปอีก ปัญหาการศึกษาวันนี้มีมากจนยากจะแก้ไขอยู่แล้ว ยิ่งโลกเปลี่ยนเร็วขึ้นก็ยิ่งยากและแก้ไขอะไรไม่ได้ กลายเป็นระบบที่ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ตอบโจทย์ของสังคมใหม่ ของโลกใหม่ที่ต้องการคนที่มีวิธีคิดวิธีทำแบบใหม่ จึงไม่แปลกที่นักศึกษาจบมหาวิทยาลัยแล้วไม่มีงานทำ หรือเด็กเยาวชนระดับมัธยมเริ่ม “ขบถ” เพราะถูกกดดันจากระบบการศึกษาที่ใช้อำนาจมากกว่าใช้ปัญญา จะว่าเด็กถูกครอบงำล้างสมองจาก “มือที่สาม” ก็พูดได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เด็กก็ถูกครอบงำและถูกล้างสมองจากครู จากกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกัน ถูกกดแรงเท่าใดปฏิกิริยาตอบก็แรงจนกลายเป็นความก้าวร้าว เลยจุดที่เรียกร้องให้เจรจา-เสวนาไปแล้ว ปัญหาใหญ่ 4 อย่างที่ขัดขวางการปฏิรูปการศึกษา คือ 1.ปัญหาโครงสร้างที่รวมศูนย์การบริหารจัดการ บุคลากรแออัดอยู่ที่กระทรวง ถ้าไม่ผ่าตัด ไม่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการการศึกษาเอง ให้งบประมาณ ให้บุคลากร ให้สิทธิอำนาจ (authority) ในการตัดสินใจจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับท้องถิ่น ที่อ้างว่าปฏิรูปก็คงเหมือนปะผุรถบุโรทั่งเท่านั้น 2.ปัญหากระบวนทัศน์แบบอุตสาหกรรม แบบ 0.4 ไม่มีทางพัฒนาไปสู่ 4.0 ได้ เพราะยังคิดแบบโบราณในยุคอุตสาหกรรม ที่ผลิตแบบรวมศูนย์ในโรงงาน ได้ผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันที่ไหลไปตามสายพาน การศึกษาในห้องสี่เหลี่ยม ที่ยังเห็นผู้เรียนเป็น “สิ่งของ” (object) ไม่ใช่ “คน” (subject) จึงต้องมีรูปแบบเดียว อ้างกฎอ้างวินัยเหมือนวัตถุดิบที่ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ต้องตัดผมสั้น สวมชุดนักเรียน รองเท้าถุงเท้า 3.วิธีการเรียนการสอนแบบรับ (passive) ไม่ใช่แบบรุก (active) ไม่สอนให้ตั้งคำถาม สอนให้หาแต่คำตอบ เพราะความคิดของการศึกษาแบบอุตสาหกรรมที่ว่า “ความจริง” นั้นมีหมดแล้ว ครูเอามาถ่ายทอดให้นักเรียน ให้จดให้จำแล้วเอาไปสอบ วันนี้ผู้เรียนหาข้อมูลความรู้จากอินเตอร์เน็ตได้มากกว่าจากครู 4.คุณภาพครูยังไม่ดีพอ มีสถานะที่เป็นปัญหา เพราะในกระบวนทัศน์การศึกษาแบบ 0.4 ครูเป็นเหมือนผู้ควบคุมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการเท่านั้น คุณภาพครูเป็นคุณภาพทางเทคนิค กลไก ไม่ใช่คุณภาพชีวิต คุณภาพคน ถึงมีปัญหามากมาย ครูลงโทษเด็กรุนแรง ล่วงละเมิดทางเพศ เพราะครูมีอำนาจ มักใช้อำนาจข่มขู่ ดูถูกนักเรียน ทำให้อับอายต่อหน้าเพื่อน อ้างว่าครูเงินเดือนน้อยก็ปรับให้จนมากกว่าหลายอาชีพ แต่ยิ่งปรับก็ยิ่งใช้เงินมาก ยิ่งเป็นหนี้มาก ปรับโครงสร้างหนี้ครูไม่รู้กี่ครั้งกี่หนกลับเพิ่มหนี้ เป็นดินพอกหางหมูจนหมูเดินไม่ได้ รัฐบาล ข้าราชการ ครู ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมใช้ “อำนาจนำ” (hegemony) ครอบงำด้วยค่านิยมอำนาจ ค่านิยมวัตถุให้เด็กซึมซับ หล่อหลอมการใช้อำนาจตั้งแต่ชั้นประถมมัธยม ไปจนแสดงออกรับน้องแบบโหดๆ ในมหาวิทยาลัย ถ่ายทอดสืบทอดความรุนแรง ถ้าอยากปฏิรูปการศึกษาแบบฟินแลนด์ (ตามที่บอกใครๆ) ก็ควรจะ “ยกเครื่อง” ทั้งหมด ทั้งรูปแบบ เนื้อหา กระบวนการ ระบบโครงสร้าง ไม่ใช่เอาแต่รูปแบบภายนอกของเขาแล้วอ้างว่า “เรียนบนฐานปรากฏการณ์” เพราะฟินแลนด์มีระบบต่างจากไทย ไม่ได้รวมศูนย์ แต่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้โรงเรียนให้ครูจัดการศึกษาพัฒนาหลักสูตรเอง ครูมีคุณภาพสูง ส่วนกลางกำหนดแนวทางนโยบายให้เท่านั้น คณะผู้บริหารการศึกษาไทยไปดูงานที่ฟินแลนด์ถามว่า “คณะกรรมการอุดมศึกษา” ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ฟินแลนด์บอกว่า เขาไม่มีคณะหรือสำนักงานที่ว่านี้ มีหน่วยงานที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดตั้งดูแลกันเอง เขาไม่ได้มีหน้าที่ “ควบคุม” มหาวิทยาลัย เขามีหน้าที่ “ส่งเสริมสนับสนุน” หน่วยงานการศึกษาที่ส่วนกลางของฟินแลนด์และประเทศพัฒนาแล้ว ทำหน้าที่วิจัย ส่งเสริมสนับสนุน ฝึกอบรม ติดตามประเมินผล เพื่อให้การศึกษาในท้องถิ่นมีคุณภาพ ไม่ใช่นั่งอยู่ที่วังจันทรเกษมหรือถนนศรีอยุธยาแล้วควบคุมสถานศึกษาทั่วประเทศ (โดยดูจากเอกสารแบบนักพิสูจน์อักษร) ไทยเคยอยากปฏิรูปการศึกษาเพื่อชุมชนเมื่อ 40 ปีก่อน กู้เงินธนาคารโลกมาใช้เพื่อเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เห็นได้ผลอะไร มีความพยายามเกือบทุกรัฐบาล แต่ก็ได้แต่พยายามเท่านั้น อย่างมากก็เหมือนกับทำน้ำอัดลมที่มีแต่น้ำ แก๊ส สี น้ำตาลและกลิ่นผลไม้ ไม่ใช่น้ำส้มคั้นจากส้ม การศึกษาไทยเป็นเหมือนอย่างแรก ของฟินแลนด์เป็นอย่างหลัง ไทยไม่ควร “เลียนแบบ” แต่ควร “เรียนรู้” จากฟินแลนด์ เพื่อจะได้ของแท้ที่เราทำขึ้นเอง ปรากฏการณ์จริงอยู่ที่ท้องถิ่น เทศบาลต่างๆ ควรจัดการศึกษาด้วยตนเอง ทุกจังหวัดจัดการการศึกษาได้ทุกระดับถ้าหากให้โอกาสและส่งเสริมสนับสนุนจริง ทุกวันนี้ทุกจังหวัดก็มีสถานศึกษาเกือบทุกระดับอยู่แล้ว เพียงแต่ถูกควบคุมและจัดการจาก “ส่วนกลาง” ไม่ปล่อยให้จังหวัด เทศบาล เป็นอิสระจัดการเอง อีวาน อิลลิช วิพากษ์ไว้นานแล้วว่า สังคมจะพัฒนาถ้าเป็นสังคมที่ไม่มีโรงเรียน (Deschooling Society, 1971) เพราะ “โรงเรียนตายแล้ว” เป็นเพียง “โรงงานอุตสาหกรรมชนิดหนึ่ง” สถานศึกษาอาจให้ความรู้ แต่ไม่ได้ให้ปัญญา เพราะ “ปัญญาญาณไม่ใช่ผลผลิตของโรงเรียน แต่มาจากความพยายามเรียนรู้ตลอดชีวิต” (ไอนส์ไตน์)