ทีมข่าวคิดลึก จาก "คำถามพ่วง" ที่เพิ่งผ่านประชามติมาได้อย่างฉลุย แม้คะแนนจะน้อยกว่าการที่ประชาชนให้ความเห็นชอบน้อยกว่า "ร่างรัฐธรรมนูญ" ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่สุดแล้วคำถามพ่วง ก็ฝ่าด่านมาได้ แต่แล้วล่าสุดดูเหมือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมากับ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. คือ "แรงเสียดทาน"จากทั่วทุกทิศ จนมีบางฝ่ายถึงกับยกให้"คำถามพ่วง" นั้นมีสภาพไม่ต่างไปจาก"ระเบิดเวลา" ซึ่งเวลานี้ แม่น้ำแทบทุกสายที่มีหน้าที่ต่างหาทาง "ปลดชนวน" กันอย่างเคร่งเครียด ! แน่นอนว่าหากดูตามกรอบระยะเวลาการทำงานของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วจะต้องลงมือปรับแก้บทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญให้สอดรับกับคำถามพ่วงที่ผ่านการออกเสียงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ก่อนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ภายในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ซึ่งจะครบระยะเวลา 30 วันหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ส่งผลการออกเสียงประชามติให้แก่นายกรัฐมนตรี ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ทาง กรธ.ได้รับฟังในสิ่งที่ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชี้แจงไปเรียบร้อยแล้วในฐานะที่ สนช.เป็นผู้เสนอคำถามพ่วงโดย "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ.เองได้บอกชัดเจนแล้วว่า สถานการณ์ตอนนี้ก็เหมือนกับผู้หญิงที่ถูกหมั้นหมายไปแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะมีใครมาชอบอีก ก็คงจะสายเกินไปแล้วหมายความว่าข้อเสนอที่เกี่ยวเนื่องกับคำถามพ่วงจาก สนช.จากนี้ย่อมไม่สามารถนำมาพิจารณาได้อีกแล้ว สถานการณ์การเมืองหลังผ่านพ้นการทำประชามติ น่าจะเกิดความราบรื่นเพราะ "ฝ่ายต่อต้าน" ที่เคยประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งพรรคการเมืองใหญ่ไปจนถึงกลุ่มการเมือง ต่างไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหว แสดงพลังอย่างใดอย่างหนึ่งได้เหมือนเคย แต่แล้ว บรรยากาศกลับถูกปลุกให้เผชิญหน้ากับ "แรงเสียดทาน" เมื่อประเด็นคำถามพ่วงกำลังจะส่อเค้าเปิดทางให้ "250 ส.ว." ทำหน้าที่เปิดประตูต้อนรับ "นายกฯ คนนอก" กันตั้งแต่ "ยกแรก" เมื่อวันเปิดสภา !ยิ่งเมื่อมีการ "ตีความ" กันอย่างกว้างขวาง จากแม่น้ำสายต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. ส่อเค้าไปในทิศทางที่จะให้เกิดการสืบทอดอำนาจของคสช. ด้วยการมี "คนนอก" เข้ามานั่ง "นายกฯ คนที่ 30" ยิ่งกลายเป็นชนวนที่ "นักการเมือง" ไม่อาจยินยอมได้ เพราะนั่นหมายความว่า "นายกฯ" ที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองซึ่งต้องเสนอขึ้นมาด้วย 3 รายชื่อ จะไม่มีความหมายทันที ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้ทั้ง สนช.และ กรธ.ต้องร่วมกันตีความคำถามพ่วงอย่างเคร่งครัด ว่าประเด็นที่ประชาชนออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมานั้นได้เห็นด้วยในประเด็นใด มีกรอบมากน้อยแค่ไหน จะขยายวงไปถึงการให้ส.ว. "โหวต" เลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.หรือให้สิทธิไปถึงการ "เสนอชื่อ" นายกฯด้วยหรือไม่ ยิ่งเข้มข้นมากเท่าใด ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อคสช.และโดยเฉพาะตัว "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. มากเท่านั้น เพราะการบ่มเพาะความหวาดระแวง ในยามที่ คสช.และรัฐบาลยังต้องเดินหน้าไปตามโรดแมปที่วางเอาไว้ที่การเลือกตั้งในปี 2560 เป็นอย่างเร็ว ย่อมมีแต่จะทำให้เกิดปัญหาตามมา จนเกิดกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งนี้การตัดสินใจ "ถอย" เพื่อลดแรงเสียดทานรอบด้าน น่าจะเป็นการดีมากกว่าเสีย และน่าจะได้แต้มต่อมากกว่าผลลัพธ์ที่ "เป็นลบ" ดังนั้นโอกาสที่จะดึงดันให้ ส.ว.เป็นผู้เสนอชิงเอาชัยชนะจากฝ่ายการเมืองด้วยการเสนอชื่อนายกฯ กันตั้งแต่ยกแรกนั้น คงต้องกลับมาประเมินสถานการณ์กันใหม่ เพราะการเปิดโอกาสให้ ส.ส.คือฝ่ายการเมือง ได้แสดงบทบาท ในยกแรกแล้วไม่สามารถ "ได้ข้อสรุป" จากนั้นจึงค่อยรอจังหวะเปิดไปยัง "250 ส.ว." เปิดเกมเล่นในยกที่สองน่าจะเป็นทางออกที่สวยที่สุด !