แสงไทย เค้าภูไทย แม้จะประสบผลสำเร็จในการชุมนุม 19 ก.ย. 63 แต่สัมฤทธิผลตามเป้าหมายยังไม่เกิด บทเรียนม็อบ พธม.จนถึง กปปส. บอกว่า การใช้กำลังกับกระบวนการศาลเท่านั้น ที่จะล้มล้างรัฐบาลได้ พันธมิตร(พธม.) ก่อม็อบขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ 2548 จนถึง 2549 จบลงด้วยการยึดอำนาจของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯช่วง 2549-2550 ขัดตาทัพเกือบปี ก็ให้เลือกตั้งทั่วไปใหม่ พรรคพลังประชาชนใต้ร่มเงาของทักษิณกลับมาใหม่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ได้ไม่ครบปี ( 25 ม ค 51 - 9 ก.ย.51) ก็ถูกกระบวนการกฎหมายปลดจากตำแหน่งด้วยข้อหาจัดรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามี “เจ๊แดง” เยาวภา (ชินวัตร) ขึ้นมาเป็นนายก พธม.มองว่า ที่ทำการขับไล่ทักษิณไปแล้ว กลับได้นายสมัครและนายสมชาย มาแทน ถือเป็นความสูญเปล่า จึงออกมาเคลื่อนไหวใหม่ในปี 2551 การขับไล่ครั้งนี้ เริ่มต้นที่ธรรมศาสตร์เช่นเคย เพราะมีเครือข่ายอาจารย์เข้าร่วมเป็นพันธมิตรอยู่มาก มีการยึดทำเนียบรัฐบาลขนาดนายกรัฐมนตรีถึงกับต้องปีนบันไดข้ามกำแพงหนี จนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรีสมชาย ให้ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่นายสมชายก็อยู่ไม่ได้ เพราะถูกยุบพรรคเมื่อ 2 ธ ค 51 ด้วยข้อหาผิดรัฐธรรมนูญ กลไกกฎหมายทำหน้าที่ปลดนายกฯอีกครา มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภาฯ เกิดงูเห่าในพรรคพลังประชน หลายตัวไปลงมติให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ ก่อเกิดความขุ่นแค้นแก่ผู้สนับสนุนอดีตพรรคพลังประชาชนหรือพรรคทักษิณ จนก่อตั้งกลุ่มนปช.คนเสื้อแดงขึ้นมา หลังสลายม็อบคนเสื้อแดงด้วยอาวุธมีคนตายไป 99 ศพ พ.ค. 2553 นายอภิสิทธิ์ถูกกดดันให้ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ได้พรรคเพื่อไทยใต้เงาทักษิณกลับมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ เกิดม็อบกดดันจนยิ่งลักษณ์ยุบสภา เลือกตั้งใหม่เพื่อไทยกลับเข้ามาอีก คราวนี้ กปปส.ออกโรงเอง หลังเป็นอีแอบใน พธม.ยุให้ยึดสนามบินจน 6 แกนนำพธม.นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าคุกเมื่อปลายปีที่แล้ว ซ้ำยังต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 550 ล้านบาท บำนาญถูกยึดจนแทบไม่มีจะกินขณะนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ชัตดาวน์กรุงเทพฯและยึดกระทรวงการคลังและศูนย์ราชการ รวมถึงเรียกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งทหารและพลเรือนเข้ามารายงานตัวราวกับเป็นการรัฐประหาร แต่ไม่มีใครเล่นด้วย ครั้งนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตื๊ออยู่จนนายสุเทพ ท้อใจ ม็อบอ่อนล้าสุดขีด ทำให้ได้คิดว่า ลำพังม็อบ คงไม่สามารถทำให้รัฐบาลล้มได้ ในที่สุดต้องไปขอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มายึดอำนาจ จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขและกลไกที่ทำให้เปลี่ยนตัวนายกฯหรือเปลี่ยนรัฐบาลใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น อยู่ที่การยึดอำนาจและกลไกทางกฎหมาย ต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกและเดินทางออกนอกประเทศ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสทางสถานีวิทยุ ระงับเหตุรุนแรงที่ทหารเตรียมจัดการม็อบและได้พระราชทานายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงมา ในห้วงต่างกรรมต่างวาระ ต่างยุคเช่นนี้ คงทำได้ยาก ส่วนสถานการณ์และเหตุการณ์ที่จะทำให้พลเอกประยุทธ์ พ้นจากนายกรัฐมนตรีก่อนครบวาระมี 2 ทางคือ อุบัติการณ์จรที่ไม่คาดฝันอย่างกรณีบอส อยู่วิทยา เป็นต้น กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด ที่ทำให้นายกฯหมดความชอบธรรม หรือท้อใจจนไม่ไปต่อ จำยอมยุบสภา ส่วนจะมีการทำรัฐประหารหรือไม่ มองกันว่ายามนี้ไม่มีมือ เพราะไม่มีใครเสี่ยง