เสรี พงศ์พิศ www.phongphit “สังคมไทยยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแบบ digital transformation” การเปลี่ยนแปลงในระยะ 20 ปีที่ผ่านมานี้มีการใช้คำว่า transformation เพราะเป็นการเปลี่ยนไม่เพียงแต่รูปแบบภายนอก หรือเปลี่ยนมาใช้ไอที แต่เปลี่ยนทั้งรูปแบบ-เนื้อหา-กระบวนการแบบ “หักโค่น” (disruption) หรือ “ถอนรากถอนโคน” และแบบ “รุนแรงและก้าวกระโดด” (exponential) มีตัวอย่างมากมายในภาคธุรกิจที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่เปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจไปเลย อย่าง Apple, Google ที่หันมาทำมือถือสมาร์ทโฟน แล้ววันนี้กำลังทำรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเอง หรือ Amazon ที่ขายหนังสือแล้วมาขายทุกอย่าง และบริษัทมากมายในจีน ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจและสังคม ถ้าไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่าง “ถึงรากถึงโคน” ก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกับธุรกิจยักษ์ใหญ่มากมายที่ล้มละลาย และยิ่งโควิดมาซ้ำเติมก็ยิ่งทำให้ล้มกันมากยิ่งขึ้นถ้าไม่ปรับเปลี่ยนโมเดล หรือทั้ง “กระบวน” เลยทีเดียว ในสังคมไทยมีการประกอบการมากมายที่ปรับตัวได้ดีและอยู่รอด อย่างไปรษณีย์ไทย เมื่อคนไม่ส่งจดหมาย ไม่มีโทรเลข ก็หันมาส่งของทุกอย่าง เพราะมีต้นทุนที่เป็นสำนักงานไปรษณีย์และบุคลากรอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ไปรษณีย์ไทยเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่อยู่รอดและมีกำไรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ไปรษณีย์ไทยปรับตัวได้เพราะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ มองเห็นสังคมที่เปลี่ยนไปและหาทางปรับตัว ไม่ใช่เพียงแต่นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หรือพัฒนาบุคลากรให้บริการดี แต่ปรับโมเดลธุรกิจใหม่เลย สังคมการเมืองไทยยังอยู่ใน “โมเดล” เก่า ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยน ผู้คนก็เปลี่ยน ความสัมพันธ์ การสื่อสารเปลี่ยนหมด วันนี้ข่าวสารส่งถึงกันทันทีทางมือถือ เข้าสู่สังคม “ข้อมูล-ข่าวสาร-ความรู้” อย่างเต็มตัว พฤติกรรมของคนจึงเปลี่ยนไป วิพากษ์วิจารณ์ นินทาว่าร้ายกันทางมือถือ การประท้วงก็เป็นแฟลซม็อบ ชุมนุมระยะสั้น ไม่ต้องอยู่ยาวอยู่นาน เพราะความสำคัญคือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ “มวลชน” ให้มากที่สุด เน้นที่การเป็นขบวนการและเครือข่ายมากกว่าเป็นองค์กร และยุทธวิธีการดำเนินการที่แตกต่างไปจากการประท้วงเดิม จนถูก “รุ่นพี่ๆ” ปรามาสว่าใจสู้แต่มุ้งมิ้ง ก้าวร้าวแก่แดด จึงตอบโต้กันแบบขิงก็ราข่าก็แรง การชุมนุมการประท้วงวันนี้จึงเป็นการสื่อสารกันด้วย “ภาษา” และ “สัญลักษณ์” ที่มีพลังอำนาจมาก แพร่หลายไปไกลและรวดเร็ว จึงไม่มีการปะทะ ไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ เพราะผู้ชุมนุมใช้ข้อมูลและมือถือเป็นอาวุธ ใช้สัญลักษณ์เป็นธงนำ วันนี้ “แนวรบ” ย้ายจากพื้นที่ภูมิศาสตร์เข้าไปใน “ภูมิไซเบอร์” แล้ว เยาวชนคนหนุ่มสาวอยู่ในสังคมดิจิทัล ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ เป็นรูปแบบและกระบวนการ ขณะที่รัฐยังอยู่ในโหมดอะนาล็อก ยังใช้ยุทธวิธีแบบเก่าในการจัดการกับผู้ชุมนุม อำนาจรัฐตามการชุมนุม “ดิจิทัล” ไม่ทัน วันนี้คงใช้กฎหมายไล่จับแกนนำขึ้นศาลเข้าคุกแบบเดิมๆ ก็คอยดูว่า ขบวนการคนรุ่นใหม่จะไปต่ออย่างไร อำนาจรัฐจะไล่แบบไหน และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ขณะที่ภาคธุรกิจที่อยู่รอดเพราะปรับตัวได้ เปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคนแบบ digital transformation สังคมไทยยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการแบบรัฐราชการ ใช้หน่วยงานราชการเป็นหลัก และมีวิธีคิดแบบ “สั่งการ-ควมคุม” คือ ใช้อำนาจ และใช้งบประมาณเป็นเครื่องต่อรอง เพราะรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง การบริหารจัดการแบบนี้ย้อนยุค ทวนกระแสโลก ทำให้เกิดความขัดแยัง ความรุนแรง อย่างที่เห็นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และนับวันจะมากขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ใช่การใช้ไอทีมากๆ จะทำให้หน่วยงานราชการปรับตัวและสังคมไทยการเมืองไทยอยู่รอดได้ จำเป็นต้องมี political digital transformation ปรับเปลี่ยนทั้งระบบโครงสร้างและยุทธศาสตร์ คือพัฒนา “โมเดลสังคมการเมืองใหม่” กระจายอำนาจ ไม่เป็นรัฐราชการที่อาศัยหน่วยงานราชการเป็นหลัก หน่วยงานเหล่านี้ต้องเล็กลง และเปลี่ยนจากการควบคุมมาเป็นการส่งเสริมสนับสนุน แก้ไขกฎหมายหลายพันฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและขยายความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบการศึกษา ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการการศึกษา ให้ครูมีเสรีภาพในการคิดนวัตกรรมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ส่วนกลางทำหน้าที่ส่งเสริม วิจัย พัฒนาแนวคิดแนวทางและบุคลากร หลายปีก่อน มีคนถามผู้นำทางธุรกิจคนหนึ่งว่า “อยากเสนอให้หน่วยงานของรัฐช่วยอะไรบ้าง” เขาตอบแบบประชดประชันว่า “อยากขอให้อยู่เฉยๆ” คือไม่ต้องไปยุ่งกับพวกเขาเป็นดีที่สุด สังคมไทยมีศักยภาพสูงมากที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ถ้าหากผู้นำมีวิสัยทัศน์และเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากถึงโคน เรามีทุนทรัพยากร ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญามากมาย เมืองไทยใหญ่กว่าฟินแลนด์ ใหญ่กว่าสิงคโปร์มาก จัดการยาก แต่ถ้ากระจายอำนาจ จังหวัดต่างๆ ของไทยเล็กกว่าสองประเทศนั้นมาก มีทุนท้องถิ่น มีความหลากหลาย ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนดีและมีอิสระ ก็จะเกิดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาตนเองที่อาจเป็นอะไรได้มากกว่าฟินแลนด์และสิงคโปร์ก็ได้ ที่ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะการผูกขาดอำนาจ ผูกขาดทุนและทรัพยากร เหมือนเขื่อนที่กักน้ำไว้ให้แต่คนเหนือเขื่อน ไม่ปล่อยลงไปให้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้เขื่อนได้ใช้ หรือให้แต่เพียงน้อยนิด จึงอดอยากยากแค้น สังคมไทยจึงเป็นเหมือนคนป่วยของเอเชีย ที่อยู่ได้ด้วยยา ทั้งๆ ที่ต้องการการผ่าตัดและการฟื้นฟูด้วยวิธีที่ต้องปรับเปลี่ยนถึงรากโคน ไม่ใช่เพราะยอมอ่อนข้อต่อเยาวชนคนชุมนุมประท้วง แต่เพราะรัฐเองจะได้มั่นคง และทำให้เกิดการพัฒนาที่ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อย่างที่ตั้งใจ