ทีมข่าวคิดลึก ยิ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นร้อน ว่าด้วย "นายกรัฐมนตรีคนนอก"ดังกระหึ่มมากเท่าใด ดูเหมือนว่า "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ก็ยิ่งถูกจับตามากเท่านั้นในฐานะ "ตัวเต็ง" อันดับหนึ่งยิ่งแรงเสียดทานมีไปยัง "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" หรือ สนช.ในท่วงทำนองว่า"ทำเกินหน้าที่" ด้วยเพราะพยายามเสนอให้ตีความอำนาจของ ส.ว.ให้สามารถเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ได้ท่ามกลางกระแสต่อต้านทั้งจากสมาชิกแม่น้ำแต่ละสายไปจนถึง "นักการเมือง"ยิ่งทำก็ยิ่งจงใจบิดเบือนเจตนารมณ์ที่ประชาชนตัดสินใจออกเสียงประชามติให้ผ่านฉลุยไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ประเด็นวันนี้ แม้ที่สุดแล้ว "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ กรธ.จะมีข้อสรุปออกมาเช่นใดก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้น และไม่อาจทำให้ผู้คนในสังคมจับตา และเทความสนใจไปได้ นั่นคือคำถามที่ว่าจริงหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมป คสช. ในราวปลายปี 2560และหากเป็นเช่นนั้นจริง คสช. และตัว พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจงต่อสังคมอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ เองนั้นก็ไม่ได้ "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" อย่างสิ้นเชิง! อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันที่ต้องยอมรับว่า "นักการเมือง" ต่างพากันอยู่ในที่ตั้งอย่างสงบ ไม่ว่าจะพอใจ คสช. หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อวันนี้ นักการเมือง ต่างรอคอยให้ถึงวันเลือกตั้ง เพราะหวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะสามารถกลับเข้ามามีบทบาทในสภาหินอ่อนได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ยังต้องอยู่ภายใต้"อำนาจ คสช." ผ่านกลไกที่ถูกเขียนเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติก็ตาม สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์เองวันนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต่อต้านการดำรงอยู่ของ คสช. ไม่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่า คสช.เองย่อมประเมินสถานการณ์ดังกล่าวออกเช่นกัน ! ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกที่จะพบว่าเวลานี้ คสช.เองไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการดูแลรักษาความสงบเรียนร้อยภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ ตัวจักรสำคัญอย่าง "รัฐบาล" เองได้กำลังเร่งผลิตผลงาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ในยามที่ "กระแส" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในแดนบวก ตั้งแต่ก่อนและหลังประชามติเป็นต้นมา เพราะแม้ว่าจะเกิดเหตุระเบิด และมีการเผาสถานที่บางแห่งใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 10-12 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงวันนี้ ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่เดินหน้าสืบสวนสอบสวนไปอย่างเข้มข้น แต่ถึงกระนั้นคะแนนด้านความเชื่อมั่นต่อการรักษาความสงบภารกิจของ คสช. ยังมีคะแนนที่ไม่ขี้เหร่นักจากการผลสำรวจความเห็นประชาชนที่ผ่านมาล่าสุดโดย "ซูเปอร์โพล" นำเสนอผลสำรวจเรื่อง "สังคมคิดคิดอย่างไร ต่อหน่วยงานความมั่นคงในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน" เมื่อจุดแข็งของ คสช.ยังยืนอยู่บนภารกิจของความมั่นคง ประชาชนมีความมั่นใจต่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน คะแนนความนิยมที่ประชาชนมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะกลายเป็น "เกราะ" ชั้นดี คสช. จะต้องไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเป็นฝ่ายเรียกร้องและสร้างความเปรียบเทียบเกิดขึ้น ระหว่างนายกฯ ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหารกับ นายกฯ ที่จะมาจากบัญชีพรรคการเมือง เสนอเข้าชิงในยกแรก เมื่อถึงวันเปิดสภา !