ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] หลังจากที่คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีจดหมายถึง ค.ร.ม.เพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศที่ค่อนข้างจะมีวิกฤติจากการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง หนังสือของประธานสภามีถึง ค.ร.ม.วันที่ 19 ต.ค. 63 นายกรัฐมนตรีได้นำเข้าหารือใน ค.ร.ม. ทันทีในวันรุ่งขึ้น และได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ออก พ.ร.ฎ. เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค. 63 ก่อนเปิดประชุมสภาสามัญในวันที่ 1 พ.ย. 63 ต่อมา เสียงของฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงและยุติการดำเนินคดีต่อผู้ถูกจับกุมในการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดประชุมสภาฯเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่และปฏิรูปสถาบัน รวมถึง ส.ส.ส่วนมากได้ยื่นศาลแพ่งให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน การออกมาชุมนุมของ “คณะราษฎร 63” ต่อเนื่องทุกวันในสถานที่ กทม. ที่เป็นสี่แยกและเป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากการปิดถนน ซึ่งประชาชนไม่ทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้รถติดกันเป็นชั่วโมงๆ เดือดร้อนจากการเดินทางของผู้คนไปทั่วกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ได้ส่งผลให้หุ้นดิ่งรูดลงมาที่ระดับ 1200 จุด กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมอีกส่วนหนึ่ง จากการประเมินของธนาคารระดับโลก ให้ไทยฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจต่อไปอีก 3 ปี เพราะเงินหายไปจาก 16 ล้านล้านบาทถึง 1.3 ล้านล้านบาท กว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ จะต้องใช้เวลาอีกถึง 3 ปี ในขณะที่โควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤติ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ผลิตสินค้าต้นทุนจึงไม่สามารถฟื้นตัวได้ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงไปอีก คาดการณ์ว่าประเทศที่จะสามารถพ้นวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้คือ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม เพียง 3 ประเทศเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ไทยจะต้องย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่สามารถก้าวล้ำประเทศเวียดนามที่เป็นคู่แข่งคนสำคัญลงไปได้ แต่กลับพลิกฟื้นได้ดีกว่าไทยแม้ว่าจะถูกพายุฝนฟ้าตกจนน้ำท่วมขังเสียหายไปมากก็ตาม ประเทศไทยก็โดนด้วยเช่นกัน การเปิดประชุมครั้งนี้เป็นการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 โดยไม่มีการลงมติก็ตาม แต่เชื่อว่าคงไม่มีทางที่จะเป็นทางออกของประเทศไทยได้ทั้งหมด เพราะโจทย์ใหญ่อยู่ที่การลาออกของนายกรัฐมนตรีและคณะ และการปฏิรูปสถาบันเป็นเป้าหมายลหัก จะทำได้เพียงพิจารณารับหลักการของญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่มีกรรมาธิการจพิจารณานำเสนอให้ผ่านร่างเพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไข เพื่อที่จะบรรเทาให้กระแสการชุมนุมได้ยุติลง แต่เชื่อได้ว่า “คณะราษฎร 63” คงชุมนุมกันต่อไป ประกอบกับพรรคฝ่ายค้านได้ร่วมกันเสนอและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่นายกรัฐมนตรีคงไม่ยอมง่ายๆ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด จะเป็นประเด็นที่จะต่อสู้กันต่อไปอีก ยังมองภาพไม่ออกว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร ออกที่จะเป็นห่วงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น หากมีการชุมนุมกันต่อ การลงทุนของต่างชาติคงชะลอตัวต่อไปอีก หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีกับคณะจะลาออก แล้วเลือกกันใหม่ จะได้คนดีที่ถูกใจ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ท้ายสุดนายกรัฐมนตรีได้ถอยออกมาโดยประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หวังว่าจะลดความกดดันจากผู้ชุมนุมได้ แต่เป้าหมายของผู้ชุมนุมคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออกและเปิดโอกาสให้แก้มาตรา 1-2 ของรัฐธรรมนูญ คงต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะหาทางออกได้อย่างไร?