เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในยุโรป มีขบวนการทางสังคมที่โดดเด่นอยู่ 2 ขบวนการ ที่ต่อมากลายรูปไปเป็นพรรคการเมือง คือ ขบวนการสิ่งแวดล้อม เริ่มจากกลุ่มกรีนพีช ที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเมื่อ 50 กว่าปีก่อน แล้วกลายมาเป็นพรรคกรีนในหลายประเทศ เติบโตและมีพลังไม่น้อย มีสมาชิกเครือข่ายคู่ขนานไปกับขบวนการทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับสำนึกสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน อีกขบวนการหนึ่ง คือ ขบวนการของกลุ่มขวาจัด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์และมักใช้ความรุนแรง บางกลุ่มสืบทอดแนวคิดและอุดมการณ์เดิมของฟาสซิสม์และนาซี อย่างที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ ขบวนการนี้กลายเป็นพรรคการเมืองส่วนหนึ่ง และยังคงรูปแบบเครือข่ายกลุ่มคนที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองโดยไม่เป็นพรรคการเมือง ยังมีอีก 2 รูปแบบของขบวนการทางสังคม แบบหนึ่ง คือ เครือข่ายอาชีพต่างๆ เช่น เครือข่ายเกษตรกรในยุโรปซึ่งมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติและระหว่างประเทศสมาชิกของประชาคมยุโรป เกษตรกรเหล่านี้สังกัดองค์กรเกษตรกรต่างๆ โดยเฉพาะสหกรณ์ สมาพันธ์ ซึ่งมีพลังทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัย อย่างในฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ขบวนการทางสังคมแฝงตัวอยู่ในองค์กรอาชีพต่างๆ แสดงออกอย่างชัดเจนและเข้มแข็งถ้าหากมีการจัดขบวนการดี มีอุดมการณ์เข้มข้น อย่างขบวนการทางศาสนาของกลุ่มอนุรักษนิยมไปจนถึงคลั่งศาสนาขวาจัด (fundamentalist) อย่างกรณี IS หรือรัฐอิสลาม ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ขบวนการทางสังคมที่เป็นเครือข่ายตามอาชีพมีพลังอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เพราะสามารถเสนอกฎหมายและนโยบายของรัฐ กดดันทางการเมืองจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังกรณีขบวนการกรรมกร ที่เป็นเครือข่ายสหภาพแรงงาน ที่จัดการประท้วง การนัดหยุดงาน การเดินขบวน และอาชีพอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่เป็นข่าวมากเหมือนขบวนการกรรมกร แต่ก็เป็นเครือข่ายที่มีพลัง ไม่ว่าเครือข่ายอาชีพแพทย์ พยาบาล ครู วิศวกร หรือที่รวมตัวกันเป็นสภา เป็นสมาพันธ์ สมาคม ชมรม เหล่านี้ คือ แกนนำขบวนการทางสังคมที่ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ผลประโยชน์ให้เครือข่ายของอาชีพตนเอง อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การรวมตัวกันเป็นขบวนการทางสังคมเฉพาะกิจ ก่อนจะแปรไปเป็นพรรคการเมืองหรือฝังตัวอยู่ในองค์กรต่างๆ ทางสังคมและการเมือง อย่างกรณี “ขบวนการปลาซาร์ดีน” ที่เกิดขึ้นในอิตาลีเมื่อปลายปี 2018 ถึงต้นปี 2019 ที่คนกลุ่มเล็กๆ ใช้สมาร์ทโฟนระดมผู้คนออกไปชุมนุมกันเป็นแฟลชม็อบตามจัตุรัสในเมืองใหญ่ๆ ทั่วอิตาลี อัดกันแน่นเหมือนปลากระป๋อง เพื่อต่อต้านพรรคขวาจัดไม่ให้ชนะการเลือกตั้งที่จะมีผลอย่างสำคัญต่อการเมืองอิตาลี และทำได้สำเร็จ ขบวนการได้สลายตัวหลังจากนั้น หรือขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองที่ฝรั่งเศส ที่ไม่ได้เกิดจากสหภาพแรงงาน สมาพันธ์หรือพรรคการเมือง แต่เป็นการรวมตัวกันของคนจากหลากหลายอาชีพแบบไม่เคยมีมาก่อน ประท้วงรัฐบาลและนายมาครง ยืดเยื้อยาวนานเป็นปีทุกสุดสัปดาห์ กลายเป็นความรุนแรงที่สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจของประเทศ ก่อนที่โควิด-19 จะมากระหน่ำซ้ำ ทำให้ฝรั่งเศสอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ต้องล็อกดาวน์ประเทศ และมีการประท้วงไปทั่ว เป็นอีกขบวนการหนึ่ง แต่ไม่ได้ใหญ่เท่าเสื้อกั๊กเหลือง ขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นทุกทวีป อย่างขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม การเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ ที่มีเครือข่ายไปทั่วโลก กดดันจนแอฟริกาใต้ต้องยกเลิกลัทธิเหยียดผิว มีขบวนการใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ขบวนการสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิคนพื้นเมือง คนกลุ่มน้อย การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาของไทยจนก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 การดำเนินกิจกรรมทางสังคมการเมืองหลังจากนั้นจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นระยะเวลาที่เฟื่องฟูที่สุดของขบวนการนักศึกษาไทย ที่กลายเป็น “ไทยแลนด์โมเดล” และแรงบันดาลใจให้อีกหลายประเทศ ขบวนการ “เสื้อเหลือง” เกิดขึ้นตอนปลายยุค “รัฐบาลทักษิณ” เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่เห็นว่าขาดความชอบธรรม ขาดหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล การคอร์รัปชัน และหลังจากรัฐประหารในปี 2549 และรัฐบาลพลเรือนขัดตาทัพก็เกิดขบวนการเสื้อแดง ขบวนการคนรากหญ้าที่ผนึกพลังกับขบวนการทางสังคมอื่นๆ ที่สังกัดองค์กรต่างๆ รวมไปถึงองค์กรหรือขบวนการทางศาสนา ขบวนการเกษตรกร กรรมกร จนเกิดการปะทะและใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ ด้านหนึ่งระหว่างอำนาจรัฐ (อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล) กับขบวนการที่ประท้วง อีกด้านหนึ่งก็ระหว่าง “สี” ที่ต่อสู้กันทั้งทางแนวคิดและกิจกรรมทางสังคมไปถึงขบวนการกปปส. ที่เรียกคนลงถนนได้นับล้านเพื่อต่อต้านรัฐบาลและสภาที่ร่วมมือกันผ่านกฎหมายแบบ “นิรโทษกรรมสุดซอย” ตอนตีสี่แบบลักหลับ และไปสู่รัฐประหารในปี 2557 การสืบทอดอำนาจนำมาซึ่งขบวนการทางสังคมของคนรุ่นใหม่ ภายใต้อิทธิพลและการนำของพรคคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ การก่อตัวของขบวนการนักเรียนนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีโลกทัศน์ชีวทัศน์ใหม่ กลายเป็นพลังทางสังคมที่นำมาสู่สถานการณ์ในวันนี้ ที่เกิด “ม็อบดิจิทัล” “สมาร์ทม็อบ” ขบวนการทางสังคมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเพียงใดขึ้นอยู่กับอย่างน้อย 3 ปัจจัย คือ มีอุดมการณ์และเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีเครือข่ายที่กว้างขวางและเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้นำหรือแกนนำ ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง (ที่อ้างกันว่าเป็นม็อบไม่มีผู้นำนั้นคือวาทกรรม มีแบบไม่มี) เพื่อวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการกิจกรรม ไม่ว่าการชุมนุม การรณรงค์ หรือกิจกรรมอื่นๆ ขบวนการทางสังคมมีพลังเพราะขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณจิตอาสา เป็นสิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมือง การกำหนดนโยบาย การตรวจสอบและคานอำนาจรัฐ แต่ขบวนการทางสังคมที่เป็นพลังบริสุทธิ์ เป็นขบวนการของประชาสังคมจริงๆ มีไม่มาก ทำได้ไม่ง่าย ส่วนใหญ่กลายเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้นำแกนนำที่มีผลประโยชน์แอบแฝงของตนเอง หรือของอำนาจมืดรัฐหรือทุนที่หลบอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าในหรือต่างประเทศ