สถาพร ศรีสัจจัง หัวใจของงานเขียนที่ดีตามข้อเสนอแนะชี้นำของตำราอลังการศาสตร์ ซึ่งเป็นตำราการเขียนเล่มสำคัญที่เป็นมรดกทางความคิดหรือภูมิปัญญาอันลุ่มลึกของอารยธรรมอินเดีย ที่ปราชญ์ไทยในอดีตนำมา “ปรับใช้” ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมไทย มาตั้งแต่ยุคอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ก็คือ ต้องเขียนเรื่องความรู้ที่ควรรู้ หนึ่ง เขียนเรื่องเรื่องความคิดที่เป็นประโยชน์ หนึ่ง และ เขียนเรื่องที่ช่วยพัฒนาอารมณ์ของผู้อ่านให้ดีขึ้น อีกหนึ่ง กระทั่ง กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่ม “ปัญญาชนสยาม” ในชั้นหลัง (ไม่เกิน 10 ทศวรรษ) ได้ไปสมาทาน “วิธีวิทยา” ทั้งหลายทั้งปวงของบรรดาประเทศจักรวรรดิตะวันตกมาเป็นสรณะ(อย่างไม่เลือกแก่นทิ้งกากและไม่บูรณาการ) เริ่มจากการรับเอาระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็น “โครงสร้างชั้นล่าง” (Base structure) มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมไทย จากนั้นบรรดาสิ่งที่เป็นโครงสร้างชั้นบน(Super Structure)ก็กระหน่ำตามมา ตั้งแต่ระบบการปกครอง กฎหมาย และศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวง ยิ่งนานเข้า การเชิดชูเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล” (Privacy)ที่มีฐานคิดมาจากหลัก “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” (Private property)ซึ่งเป็นหัวใจของระบบทุนนิยม จึงกลายเป็น “แก่น” ของเนื้อหาในการสร้างงานศิลปะทุกสาขา รวมถึงวรรณกรรมหรืองานเขียนเชิงสร้างสรรค์ด้วย การตีความว่าอะไรคือ “ความจริง ความดี และความงาม” ซึ่งเป็นภาพรูปธรรมของ “ความรู้และความคิด” ที่ต้องปรากฏในงานศิลปะทั้งหลายทั้งปวงจึงเน้นกันแต่เรื่อง “ส่วนตัว” ของบุคคลเป็นหลัก กลายเป็นการไปเน้นย้ำถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของ “ตัวกูของกู” เป็นสำคัญ โดยไม่สนใจความมี “สัมมาทิฐิ” หรือความเห็นที่ชอบที่ถูกต้องตามทำนองครองธรรม ของเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำกับไม่ให้ความคิดความอ่านผู้เสพงานศิลป์หรืองานวรรณกรรมชิ้นนั้นๆเกิดความคิดที่ผิด ที่ลำเอียง ที่ไม่สร้างสรรค์ ที่นอกรีตนอกรอย ที่หมกมุ่นเห็นแก่ตัว ฯลฯ “สัมมาทิฐิ” นั้นเป็นแก่นคำสอนที่สำคัญที่สุดในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ได้รับการปลูกฝังลงในความคิดของผู้คนในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล เป็นตัวกำกับทางความคิดอย่างสำคัญที่ทำให้คนหลีกพ้นจากความคิดแบบ “เบียดเบียน” ทั้งที่เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่น และเบียดเบียนสังคม! คติแนวคิดที่เน้นเรื่องการสร้างจิตสำนึกแบบ “ทรัพย์สินเอกชน” (private property)นี้ ได้ประทับแน่นลงในจิตวิญญาณของชาวไทยแบบแกะไม่ออกแทนสำนึกแบบ “ละอายต่อบาป” หรือ “ความเห็นชอบ” แบบชาวไทยดั้งเดิมมาแต่เมื่อใดก็ไม่อาจจะระบุได้ รู้เพียงว่า ปัจจุบันแนวคิดที่น่ากลัวดังกล่าวนี้ได้ปรากฏชัดเจนโดยทั่วไปแล้วในสังคมไทย! สังคมที่เคยมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน สังคมที่เคยมีรอยยิ้มให้แก่กัน สังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน สังคมที่ผู้คนในครอบครัว ในสังคม มีสายใยความผูกพันกันด้วยความรู้ที่ “ควรรู้” และความคิดที่ “ควรคิด” ฯลฯ จึงพังพินาศลงอย่างที่เห็นๆอยู่คาตา ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครเชื่อใคร ไม่มีระบบคารวธรรม ไม่มีผู้อาวุโส จนแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีแม้กระทั่งสำนึกแบบ “ลูกกับพ่อ-แม่” หรือ “ครูกับศิษย์” ที่เห็นโดยทั่วไปก็คือ “กูมีสิทธิ”/ “เรื่องของกู” / “เรื่องของพวกกู” ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นผลที่เกิดจากสังคมแบบ “เงินเป็นใหญ่กำไรสูงสุด” หรือ “ทรัพย์สินเอกชนเป็นใหญ่” หรือ “เรื่องของกูและพวกกูเป็นใหญ่” ที่เกิดขึ้นเพราะความคิดและความรู้แบบทุนนิยม “เสรี” อย่างแท้จริง! เรื่องของ “ความรู้ที่ควรรู้ และความคิดที่มีประโยชน์” จึงนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่คนแต่ละคน สังคมแต่ละสังคม ควรจะตรองกันจงดีว่าเรื่องใดควรรับมาและเรื่องใดควรปฏิเสธ ทั้งนี้ทั้งนั้นคงไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ต้องการพัฒนาการเขียนตามหลักของ “ตำราอลังการศาสตร์”เท่านั้น แต่อาจกล่าวได้ว่า คงเป็น “หลักการทั่วไปแห่งชีวิตบุคคลและสังคม” ทีเดียวเชียวหละ! เพราะผลที่เกิดจากการไปคลั่งยึดถือเอา “ความรู้ที่ไม่ควรรู้” และ “ความคิดที่ไร้ประโยชน์(แต่เป็นโทษ)” มายึดถือสมาทานจนกลายเป็นสรณะนั้น นอกจากจะเบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนครอบครัว ญาติพี่น้อง แล้ว ยังอาจเป็นช่องทางแห่งความหายนะของสังตมอีกด้วย! หรือภาพที่กำลังเกิดขึ้นแบบ “ประจักษ์ตาประจักษ์ใจ” อยู่ในสังคมไทยณบัดนี้ จะยังไม่ช่วยยืนยันหรือเป็นประจักษ์พยานว่า “ความรู้ที่ไม่ควรรู้/และความคิดที่ไม่มีประโยชน์(แต่เป็นโทษ)” นั้นไม่ช่วย “พัฒนาอารมณ์(ไปสู่สิ่งดี)ของผู้คน” ตามหลักการในตำราอลังการศาสตร์อย่างไรบ้าง?!!!!