มีข่าวเล็ก ๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพด้านระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) เพื่อแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาล ผลการตรวจสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้เข้ารับการดูแล บำบัดรักษา ด้วยประวัติผู้ป่วยชุดเดียวกันได้อย่างต่อเนื่องกับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลทดลองดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานประชุมวิชาการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559 : HiMSS Asia Pacific 16 จัดโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรด้านสารสนเทศระบบดูแลสุขภาพ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญของระบบดิจิตอลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพที่เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ มุ่งเน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือผลักดันประเทศเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Tourism Hub) รองรับการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยว ได้อย่างคุ้มค่า โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพด้านระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) เพื่อแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาล ผลการตรวจสุขภาพของผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลทดลองดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูลสากล ทั้งนี้ หลักสำคัญในการพัฒนา  ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากลด้านสารสนเทศสุขภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลและการรับ-ส่งข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสื่อสารเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกคนจะเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย หรือโมบายดีไวส์ (Mobile device) ต่าง ๆ ภายใต้กติกา กฎระเบียบในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ร่วมกับการใช้เลขบัตรประชาชน ทำให้เข้ารับการดูแล บำบัดรักษา ด้วยประวัติผู้ป่วยชุดเดียวกันได้อย่างต่อเนื่องกับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยนอกจากนี้ยังคาดหวังที่จะขยายความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น สามารถนำมาใช้สนับสนุนการบริการทางการแพทย์ในต่างจังหวัดที่ยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางได้ ทั้งนี้ถ้าขยายลงลึกถึงระดับมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือ “หมออนามัย” ในพื้นที่ชนบท ด้วยเครื่องมือสารสนเทศ ก็จะยิ่งพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ห่างไกล กทม. ได้อีกมาก การพัฒนาสารสนเทศของกระทรวงสาธารณสุขรอบนี้ เราจึงไม่อยากให้เป็นแค่งานรองรับนโยบายนำบุคลากรวงการสารณสุขไทยไปรับใช้นโยบายสร้างประเทศไทยให้เป็น Medical Tourism Hub ศูนย์กลางการแพทย์ เพื่อ make money เท่านั้น คุณหมอเก่ง ๆ ท่านรู้ดีอยู่แล้วว่าควรทำอะไร อย่างไร ? เพียงแต่ผู้มีอำนาจกุมอำนาจรัฐจะเข้าใจ และสนับสนุนเพียงใด ในการทุ่มเทช่วยเหลือคนต่างจังหวัด.