ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของการประชุมวิสามัญรัฐสภาสมัยวิสามัญได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ใช้เวลา 2 วัน 26-27 ต.ค. 63 เป็นการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่าย เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศในยามมีปัญหาคือการชุมนุมของ “คณะราษฎร” ที่ยังไม่ยอมหยุด ฝ่ายค้านต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาตั้งแต่การปฏิวัติปี 59 และการเลือกตั้งเข้ามาโดยรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจัดทำเพื่อหวังอยู่ยาว โดยให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย โดยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เสียใหม่และบริหารประเทศล้มเหลว ส่วนปัญหาการปฏิรูปสถาบันสามารถแก้ไขได้ภายหลัง ส่วนการขัดขวางขบวนเสด็จถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่อารักขาและโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเอง เสียงจากฝ่ายรัฐบาลประสานเสียงมิให้นายกลาออก เพราะจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง รวมกับของราษฎรอีก 1 ร่างโดยเร็ว โดยเฉพาะเสนอให้ตั้งกรรมการสมานฉันท์ร่วมกัน 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกให้รัฐบาล ในการนี้นายกรัฐมนตรีรับว่าจะนำไปพิจารณาทั้งหมดและได้กล่าวกลางสภาว่าคงไม่ลาออกยามประเทศวิกฤติ แต่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จ 3 วาระในเดือนธันวาคม 2563 และรับได้กับการแต่งตั้งกรรมการจากทุกภาคส่วนพิจารณาหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งคุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภารับลูกจะนำเข้าหารืออีกครั้งกับรัฐสภา คาดว่าจะใช้วิธีนี้ ผมก็ว่าเป็นเรื่องดีหากคณะกรรมการร่วมเห็นชอบจัดตั้งได้ ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ถึงตอนนั้นนายกรัฐมนตรีก็ควรพิจารณาตัวเองลาออกไปเพื่อเลือกตั้งใหม่ เข้าสู่ประชาธิปไตยตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง ส่วนการปฏิรูปสถาบัน ผู้ชุมนุมคงยินยอมที่จะยกเลิกไปเอง เนื่องจากมีผู้รักสถาบันมากมายไม่เห็นด้วย ที่น่าห่วงถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ค่อยๆดีวันดีคืน เป็นไปอย่างช้าๆ เพราะปัญหาโควิด-19 รุนแรง แต่มีแนวโน้มดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากจีนและอื่นๆ ที่ใช้เงื่อนไขของไทยที่ต้องถูกกักตัว 14 วันก่อน จึงจะไปที่อื่นได้ ปัจจุบันเข้ามาแล้วอย่างน้อยเกือบ 200 คน รัฐบาลสามารถประคองเศรษฐกิจไปได้ด้วยการระดมงินเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการต่างๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังอดเป็นห่วงรายได้ของรัฐบาลจากภาษีอากรหลักของรัฐบาลที่คงไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ในขณะที่ GDP เหลือ-8% เงินหายไปจากระบบ 1.3 ล้านล้านบาท และอาจพลาดเป้าหมายการเก็บรายได้ของปีนี้ไปอีก เช่น 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปี 62 เก็บได้ 8 แสนล้าน ตั้งไว้ 8.29 แสนล้าน 2.ภาษีเงินได้ ปี 62 เก็บได้ 3.3 แสนล้าน ตั้งไว้ 3.7 แสนล้าน 3.ภาษีเงินได้บุคคล ปี 62 เก็บได้ 6.94 แสนล้าน ตั้งไว้ 7.1 แสนล้าน 4.ภาษีโภคภัณฑ์ ปี 62 เก็บได้ 5.8 แสนล้าน ตั้งไว้ 6.3 แสนล้าน 5.รายได้จากรัฐวิสาหกิจ ลดลงจาก 1.69 แสนล้านเหลือเพียง 1.59 แสนล้าน จากการจัดเก็บภาษีของ 9 เดือนแรก รายได้ไม่เข้าเป้าหมายอย่างน้อย 10-20% และอีก 3 เดือนหลังในไตรมาส 4 คาดว่าถึงอย่างไรคงต่ำกว่าเป้าหมายอีกเข่นกัน ในขณะที่ ธปท.ได้สรุปว่าไตรมาสแรกของปี 63 หนี้ครัวเรือน 80% จะเพิ่มเป็น 83.8% ในไตรมาส 2 เช่นเดียวกับสภาพัฒน์ย้ำว่าคนจนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาโควิดเช่นกัน ในขณะที่รายได้จากทางอื่น เช่น การส่งออก การท่องเที่ยวยังเป็นตัวเลขที่ดันไม่ขึ้นเพราะเศรษฐกิจโลก ที่รอการฟื้นตัว รัฐบาลคงต้องหาทางในการกู้เงินมาใช้จ่ายกันอีก เพราะรายได้ไม่สามารถเพิ่มได้ หากการชุมนุมยุติลงได้ ความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศยังพอมีอยู่ แล้วหันหน้าเข้ามาคุยกันเพื่อปรเทศชาติ เชื่อว่าประเทศไทยยังไม่ถึงกับล่มสลายทางเศรษฐกิจลงไปได้ เอาใจช่วยครับ