สถาพร ศรีสัจจัง ใครก็รู้ว่าระบบเศรษฐกิจกระแสหลักของโลกปัจจุบันคือ “ระบบทุนนิยม” ที่ไม่แน่ใจนักว่าราชบัณฑิตท่านใดเป็นผู้บัญัติ “เทคนิเคิล เทอม” คำที่มาจากภาษาฝรั่งมังค่าว่า “Capitalism” คำนี้ ออกมาเป็นคำดังกล่าว แต่ก็นับว่า “บัญญัติ” ได้ดีตรงความเดิมทีเดียว  เพราะความหมายของคำนี้ก็คือ “ระบบที่นิยมยอมรับว่า ทุนเป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด”                ซึ่งนั่นย่อมกินความถึงว่า ยิ่งใหญ่เหนือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วย !ท่าน “หลู่ซิ่น” หรือใครจะออกเสียงเป็น “หลู่สวิ่น” ก็ไม่ว่ากัน(เพราะเคยเห็นมีผู้เรียกเช่นนี้) ที่ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง บิดาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่คารวะเรียกว่า “แม่ทัพใหญ่แห่งวงวรรณกรรมจีนยุคใหม่” เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไวัอย่างมีชั้นเชิงยิ่งในงานเชิงเสียดสีชิ้นหนึ่งของท่านว่า ระบบนี้มีเนื้อหาที่อธิบายได้ด้วยคำง่ายๆเพียงคำเดียว (โดยอักษรตัวเดียวของภาษาจีน)               คือคำว่า “กินคน !”ลองตีความกันเอาเองก็แล้วกันว่า ท่านหลู่ซิ่น ปราชญ์และนักเขียนร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคนหนึ่งอธิบายตีความคำว่า “ระบบทุนนิยม” (Capitalism)ไดแจ่มชัดเพียงใด               เอาเป็นว่าไหนๆก็ต้อง “ทุนนิยม” อยู่แล้ว วันนี้ลองมาอภิปรายถึงปรากฏการณ์บางประเด็นเกี่ยวกับ ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับ “ทุน” ในเมืองไทยกันบ้างซักหน่อยปะไร เพราะคำ “ทุน” ในปัจจุบันนั้นถูกขยายอธิบายกินความไปกว้างขวางขึ้นมาก                คำหนึ่งที่นักทุนนิยมทั้งหลายชอบพูดถึงในปัจจุบัน คือคำ “ทุนทางสังคม” อันอาจหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่มาแต่เดิมโดยกระบวนการสร้างสรรค์ของสังคมนั้นๆ กล่าวโดยทั่วไปมักจะหมายรวมถึง “ผลิตผลที่ดำรงอยู่ในรูปของโครงสร้างชั้นบนทางสังคม” ซึ่งก็คือสิ่งที่ภาษาไทยไทยรวมเรียกเป็นคำใหญ่ว่า “วัฒนธรรม” นั่นเอง                 ซึ่งแน่นอนว่าในนี้ย่อมรวม “คน” บางคนที่มี “คุณค่า” พิเศษในตัวตนบางประการรวมอยู่ด้วย!                 ทุนทางสังคมจึงมักหมายถึงสิ่งที่มี “คุณค่า” พิเศษที่เป็นอัตลักษณ์ของสังคมนั้นๆซึ่งสังคมทุกสังคมต้องมีอยู่ เช่น ปราชญ์ ภูมิปัญญาพิเศษ เทศกาล ขนบธรรมเนียม ประเพณี คติความเชื่อ งานศิลปกรรมทั้งหลาย นับแต่โบราณสถาน โบราณวัตถุ จิตรกรรม ปฏิมากรรม วรรณกรรม และศิลปะการแสดงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนาฎกรรมหรือคีตกรรม เป็นต้น                  ที่เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “ทุนทางสังคม” ก็เพราะมันสามารถแปรจากความมี “คุณค่า” ให้เป็น “มูลค่า”หรือ “เงิน” ซึ่งเป็นสุดยอดเป้าหมายของระบบทุนนิยมได้นั่นเอง                    ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆก็เช่น ประเทศสเปนและประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรที่ในอดีตเคยเป็นจักรวรรดินิยม ใช้แสนยานุภาพทางทหารและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าไปยึดครองเขาทั่วโลก ปัจจุบันอำนาจเหล่านั้นหมดลง แต่เนื่องจากรุ่งเรืองมานานจึงสร้าง “ทุนทางสังคม” ไว้มาก วันนี้จึงได้นำ “ทุน” เหล่านั้นแหละมาขายกิน โดยเฉพาะสเปญวันนี้ ที่ใครๆก็ว่าอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรมฟุตบอลและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศิลปะอันยิ่งใหญ่เท่านั้น เรื่องนี้ย่อมต้องมีอีกยาว โดยเฉพาะข้อวิตกวิจารณ์เกี่ยวกับการนำ “ทุนทางสังคม” มาใช้ในสังคมไทย !!