สถาพร ศรีสัจจัง มีคำกล่าวว่าสังคมอเมริกันนั้นเป็นสังคม “ไร้รากแก้ว” สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเป็นสังคมของ “ประเทศเกิดใหม่” มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับสังคมไทยยุคที่มี “กรุงเทพมหานคร” เป็นราชธานี คือมีอายุประมาณ 200 กว่าปีเท่านั้นเอง หลังจากตั้ง “รัฐบาลกลาง” ได้สำเร็จ สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการ “เคลียร์คัต” หรือ “จัดการขั้นเด็ดขาด”กับเจ้าของแผ่นดินเก่า ที่ยึดครองแผ่นดินตั้งรกรากมาเนิ่นนานก่อนหน้านั้นแล้วหลายร้อยปี นั่นคือบรรดาชาวชาติพันธุ์ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “อินเดียนแดง” (Red Indian) ซึ่งฟังว่าก็คือชาติพันธุ์ที่อพยพไปจากเอเซียพวกหนึ่ง มีหลายกลุ่มชนเผ่า แต่ทั้งหมดล้วนมี “ราก” ด้านวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน คือ หาอยู่หากินกันแบบ “บูชาธรรมชาติ” คือถือธรรมชาติเป็นใหญ่ คิดว่าตนเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆหนึ่งของธรรมชาติ ไม่เคยคิดหรือรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือหรือเป็น “นาย” ของธรรมชาติ อันนี้เป็น “วิถี” และ วิธีคิดที่แตกต่างจากกลุ่มชน “ผู้บุกรุก” ซึ่งเดินทางไกลมาจากยุโรปแบบตรงกันข้าม! ผู้คนกลุ่มใหม่ที่มาจากยุโรปเหล่านั้นมาถึงพร้อมกับ “เทคนิควิทยา” สมัยใหม่ ที่เป็นผลจากการคิดแบบความต้องการเอาชนะหรืออยู่เหนือธรรมชาติ พวกเขามาถึงพร้อมกันอาวุธทำลายล้าง ทั้งต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและสิ่งมีชีวิตอื่นใดทั้งหลาย มีทั้งปืนไฟหลากชนิด ทั้งดินประสิว และ ดินระเบิด ฯลฯ ทั้งชนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า “อินเดียนแดง” ทั้งสัตว์ป่าพื้นเมืองอย่างควายไบซอน และอื่นๆ จึงต้องศิโรราบลงด้วย “อำนาจ” ของกลุ่มชนที่ประกาศว่า พวกเขาบูชา “เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ” แบบ “ติดปาก” สรุปก็คือ พวกเขาพร้อมจะรุกราน พร้อมจะฆ่าทำลาย และพร้อมจะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการอ้างสิทธิ์ “ภารกิจของคนขาว” ( The White Man's burden) ดังที่นักเขียนลือนามชาวอังกฤษ (แต่เกิดที่อินเดียยุคอาณานิคมและมีเมียเป็นอเมริกัน) ที่ชื่อ “รัดยาร์ด คิปลิง” เคยตราไว้ ที่จริงจะกล่าวว่าอเมริกันชนไม่มี “ราก” ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากประเทศแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น พวกเขามาถึงดินแดนแห่งนี้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ใหญ่มีตัวร่วมก็คือ “ต้องการมาสร้างชีวิตใหม่” ที่ “มั่งคั่ง มั่นคง และมีเสรีภาพ” การสร้าง “ความเป็นอเมริกัน” เพื่อให้กลายเป็นรากแก้วของสังคมใหม่ ได้รับการออกแบบและลงมือปฏิบัติการกันครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมจำเพาะที่ความแตกต่างหลากหลายจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพและอย่างกลมกลืน นักมานุษยวิทยาเก่งๆรุ่นเก่าๆของประเทศนี้บางคนเคยนำเสนอรูปแบบที่เรียกว่า “Melting-pot Culture” (ควรแปลว่า “วัฒนธรรมหม้อใหญ่?”) คือให้คัดเลือกเอาส่วนที่ “คิดว่าดี” ของแต่ละชนชาติ(ที่เพิ่งผ่านการต่อสู้รบราฆ่าฟันกันมา) มาหลอมรวมกันเข้าเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่ทุกคนในสังคม “อเมริกัน” ต้องถือปฏิบัติ ผลปรากฏว่าเจ๊งอย่างไม่เป็นท่า! จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าสิ่งที่สามารถหลอมรวมให้ผู้คนในสังคมใหม่แห่งนั้นสามารถก่อสร้าง “รากแก้ว” ทางสังคมของพวกเขาขึ้นได้จริง กลับเป็นระบบเศรษฐกิจที่พวกเขาได้สมาทานรับเอาหน่ออ่อนที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปขณะที่พวกเขากำลังสร้างประเทศใหม่ๆมาปฏิบัติ นั่นคือระบบที่โลกรู้จักในปัจจุบันว่า “ระบบทุนนิยมเสรี” (Liberal capitalism)นั่นเอง! รากแก้วทางสังคมของพวกเขาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษที่พ้นผ่านมีแก่นเนื้อหาใจกลางอยู่ที่ “เงินเป็นใหญ่ กำไรสูงสุด” นั่นก็คือวัฒนธรรมที่เชื่อในระบบ “กรรมสิทธิ์เอกชน” (Private property) เป็นเรื่องสูงสุด และทุกลมหายใจเข้าออก ทุกช่วงกิจกรรมแห่งชีวิต จะต้องถือผลประโยชน์ตนเป็นใหญ่ ต้องคิดถึงกำไรและผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับก่อนสิ่งอื่นใด! ไม่ว่าสิ่งนั้นจะก่อเกิด “การเบียดเบียน” ขึ้นในลักษณะเช่นใดก็ตาม! รากแก้วทางความคิดเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดการแข่งขันและการเอารัดเอาเปรียบ ก่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนกลุ่มน้อยกับคนกลุ่มใหญ่ ก่อเกิดจริยธรรมแบบสามานย์ต่างๆขึ้น ก่อเกิดการรุกรานทั้งทางตรงและทางอ้อม ฯลฯ หลังสงครามโลกครั้ง 2 เป็นต้นมา เราจึงพบว่า ความมั่งคั่งอย่างมหาศาลของประเทศเกิดใหม่ที่เกิดจากการทำกำไรอย่างมหาศาลในช่วงสงครามด้วยเหตุปัจจัยที่เอื้อให้ และด้วยนโยบาย “ผลประโยชน์ต้องมาก่อน”ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นมหาอำนาจที่แทรกชอนกำลังอำนาจเพื่อแสวงหากำไรและผลประโยชน์ทั้งโดยตรงโดยอ้อมไปทั่วโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว(แต่อ่อนแอกว่า)และโดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนา(พวกเขาเรียกว่า"กำลังพัฒนา") แลด้วยพลังอำนาจทั้งโดยเปิดเผย และโดยเร้นแฝงทางเศรษฐกิจ-การเมืองนี่เอง พวกเขาจึงสามารถ ส่งผ่าน “กระบวนทัศน์” ทางสังคม อันได้แก่ค่านิยมและความเชื่อแบบต่างๆ(Super structure)ของพวกเขาผ่านระบบเศรษฐกิจกระแสหลักที่เรียกว่า “ทุนนิยมบริโภคเสรี” ได้อย่างหนักหน่วง และสืบเนื่องไปยังประเทศที่อ่อนแอกว่าทั้งหลาย และภาพสะท้อนแห่งความ “รากขาด” ทางวัฒนธรรมของสังคมไทยปัจจุบัน ก็สำแดงคุณภาพอดังที่เห็นในวันนี้ ด้วยประการฉะนี้แล..อาเมน!!!