สถาพร ศรีสัจจัง ปรากฏการณ์วิกฤติสังคมไทยตอนนี้ โดยเฉพาะปัญหาความไม่สามารถสื่อสารกันได้ระหว่างเด็กรุ่นปัจจุบัน(ที่อายุตั้งแต่ประมาณ 10 ปีถึง 30 ปี) กับคนรุ่นก่อนหน้านั้น น่าจะชี้ปัญหาชัดว่าสังคมไทยเป็นสังคม “รากขาด” จริงๆ! คือได้สำแดงความ “รากขาด” ในกลุ่มคนรุ่นที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร รุ่น 2563” นี่แหละ! แม้เนื้อบางส่วนในข้อเรียกร้องในการต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาจะดูเป็นเรื่องปกติในความเคลื่อนเปลี่ยนของยุคสมัย เหมือนกับที่หนังสือวรรณกรรมประเภท “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ในช่วงทศวรรษ 2500 และ ทศวรรษ 2510 เคยเสนอ “วาทกรรม”เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเอาไว้ให้เห็นอย่างดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็นงานอย่าง “แลไปข้างหน้า” ของท่าน “ศรีบูรพา” หรือ “ปีศาจ” ของ ท่านเสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้ล่วงลับเป็นต้น แต่ถ้าท่านทั้ง 2 ได้มาเห็นมารับรู้ถึงท่วงทำนองและท่าทีในการ “ลุกขึ้นสู้” เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พวกเขาเชื่อว่า “ก้าวหน้ากว่า” ของเยาวชนรุ่นนี้ ผู้รู้ผู้ศึกษาและผู้ผ่านการต่อสู้ในลักษณะเดียวกันมาหลายคนบอกว่า ท่านอาจจะเห็นและรับรู้ได้ถึงพลังแห่งความต้องการการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ภพภูมิที่ “ทันสมัยกว่า” เหล่านั้น แต่คงยากที่จะเห็นด้วยในเรื่องของท่าทีและท่วงทำนอง รวมถึงต่อสิ่งที่เรียกว่า “จังหวะก้าว” ในบางเรื่อง! ถ้าคุณจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดและนักต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าผู้ลือนามในอดีตตื่นฟื้นขึ้นมาเห็น ก็อาจออกปาก วิจารณ์เด็กๆรุ่นนี้ว่า เป็นกลุ่มคนที่ลอกเลียนแนวทางการพัฒานาสังคมจากต่างชาติต่างวัฒนธรรมมาแบบ “ไม่เลือกแก่นทิ้งกาก”เป็นแน่แท้ ! โดยเฉพาะท่วงทำนองด้านจริยธรรม คุณธรรมต่างๆที่พวกเขาแสดงออกเชิง “สำราก” อย่างหยาบคายต่อคนรุ่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์(โดยไม่จำเป็น) อันสะท้อนถ่ายให้เห็นว่า พวกเขาไม่สามารถ “จำแนก” ได้เลยว่า “บุญคุณ” คืออะไร? ความแค้นคืออะไร? ใครคือศัตรู?ใครคือแนวร่วม? ฯลฯ เมื่อถามถึงสาเหตุว่า ทำไม “เด็ก” รุ่นนี้จึงต้องตกอยู่ในภาวะรากขาด เหมือนเกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ “คุณค่า” ของ “ด้านดี” ที่บรรพบุรุษ “ไทย” สร้างสรรค์ สืบสาน และ “สั่งสม” ไว้ให้ บางใครในรุ่นนั้นก็อธิบายว่า ไปโทษเด็กไม่ได้หรอก ต้องโทษรุ่นพ่อแม่นั่นแหละ ที่งี่เง่ารับเอาแต่ “ความคิด” หรือ “ความเชื่อใหม่” แบบตะวันตกมายัดใส่ระบบโรงเรียนและระบบการเลี้ยงดูแบไมรู้จักแยกแยะ จนทำให้สังคมไทยรุ่นนี้ต้องเป็นอย่างนี้! และเมื่อถามต่อว่า แล้วความคิดที่ถูกต่อเรื่องการสร้าง “ราก” ให้เด็กไทยควรทำอย่างไร?เขาเงียบแต่ก็มอบกระดาษแผ่นหนึ่งยัดใส่มือให้ เปิดดูเห็นมีบทกลอนอยู่เต็มหน้า แต่น่าเสียดายที่บางส่วนลบเลือนไปแล้ว ดูท่าจะเป็นเพราะน้ำตาเจ้าของบทกลอนที่มอบให้นั่นแหละ ท่อนบทกลอนที่เหลือมีเนื้อความดังนี้ : คนไทยเคยอยู่เย็น/แบบอยู่เป็นจึงอยู่ไป มีธรรมจึงมีไทย/มิใช่ทาสแห่งทางทุน มีรากและมีเหง้า/มีเทือกเถามีเจือจุน มีรักมีการุณ/มีอุ่นเอื้อมีเจือจาน มีกินและมีใช้/แบบเรียบง่ายแห่งการงาน ไม่พุ่งแบบสายพาน/แต่เพียงพอและภาคภูมิ เพียงพอ-ไม่พึ่งพิง/ไม่มักมากไม่มามมูม ไม่โตแบบตื่นตูม/ที่พร้อมแตกไม่รู้ตัว ยิ่งเร็วยิ่งไร้รัก/ยิ่งมากมักยิ่งมืดมัว ยิ่งโกรธยิ่งเกลียด-กลัว/ยิ่งมุ่งร้ายทำลายกัน ยิ่งแย่งยิ่งแต่งปรุง/ยิ่งรังรุงยิ่งโรมรัน ยิ่งหลง ยิ่งงงงัน/ยิ่งลืม “ดี" ที่ง่าย-งาม ทางทุน-หรือทางทาส?/ที่ต้อยต้อย-ที่เต้าตาม "ทางไท"เคยทาบทาม/จึงแทบคล้ายไม่เห็นทาง... ------------------------------ มัดมือกันเถิดมา/ร่วมกู้ค่าที่เคยจาง ร่วมหวังร่วมวาดวาง/สร้างภาพฝันให้มั่นคง เลือกทางแบบพึ่งตน/ที่ยั่งยืนและอยู่ยง เพื่อ"รัก"จักดำรง/เป็นภาพร่างสังคมเรา ร่วมสร้างสันติธรรม/ร่วมแบกแบ่งไม่ดูเบา ขัดแย้ง-ร่วมแต่งเกลา/ร่วมร่างแบบร่วมระบาย ชูธงผืนชื่อ"ธรรม"/ขึ้นทูนเทิดขึ้นท้ายทาย เพื่อร้อนจักผ่อนคลาย/และที่ร้าย..จะกลายดี!!...ฯ ............................... อ่านกลอนที่เขามอบให้จบไป 2 เที่ยวแล้วรู้สึกหนาวๆพิกล ฤดูฝนปีนี้ดูเหมือนว่าจะมีพายุลูกแล้วลูกเล่าโถมกระหน่ำไทยแบบไปรู้หยุดหย่อน แต่เขาว่า “ฟ้าหลังฝน” จะสดใสกว่าเสมอไม่ใช่หรือ?!!!!