ทองแถม นาถจำนง ลัทธิทุนนิยมเกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดมาไม่นาน ก็มีแนวคิดตรงกันข้ามเกิดตามมา นั่นคือลัทธิสังคมนิยม สังคมอุตสาหกรรมโลกตะวันตก เกิดความขัดแย้ง ระหว่างสองลัทธิ ระหว่างสองฟากฝ่ายผลประโยชน์ คือ “ทุนกับแรงงาน”ทุนกับแรงงานต่อสู้กันดุเดือดสองร้อยกว่าปี ทำให้ “ทุนนิยม” ต้องปรับตัวอย่างมาก ทุกวันนี้การขูดรีดโดยตรงจาก “มูลค่าสวนเกิน” ของแรงงานในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางนั้นลดทอนลงไป แต่ในประเทศยากจนและกำลังพัฒนา การขูดรีดแรงงานก็ยังคงรุนแรงอยู่ ทุนนิยมพัฒนากลไกแสวงหากำไรสูงสุดรูปแบบใหม่ นั่นคือ “ภาคการเงิน” ภาคการเงินเป็นผีร้ายที่จะฉีกสังคมมนุษย์ แยกออกเป็นสองภาค คือกลุ่มสุขสบายจากทุนการเงิน กับกลุ่มยากไร้ไม่มีเงินลงทุนในภาคการเงิน ทั่วโลกจะเป็นแบบนี้ ความขัดแย้งหลักของสังคมมนุษย์จะไม่ใช่ “ทุน(การผลิต)กับแรงงาน” อีกต่อไป แต่จะเป็นระหว่าง “(ผู้มี)ทุนการเงินกับ(ผู้ยากไร้ไม่มีเงินออม)มนุษย์ที่ไม่มีรายได้จากภาคการเงิน” อย่างไรนี่ไม่ใช่จุดจบของทุนนิยม ทุนนิยมจะพัฒนาต่อไปอีกมาก และที่คนมักจะลืมไปแล้วคือ “สังคมนิยม” มิได้จบสิ้นไป สังคม “สังคมนิยม” จะเกิดจาก สังคมทุนนิยมที่พัฒนาสูงสุดแล้ว จีนเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาติดตาม และให้กำลังใจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กุมอำนาจรัฐยังคงชูธง “สังคมนิยม” แม้ว่าคนทั่วไปในทั่วโลกจะมองว่าจีนปัจจุบันเป็นทุนนิยมไปแล้วก็แน่นอน เพราะสังคม “สังคมนิยม” ต้องเกิดจากสังคม “ทุนนิยม” ถ้าจีนไม่เป็นทุนนิยม มันจะเกิดสังคมสังคมนิยมจากกระบอกไม้ไผ่ที่ไหน ? บทบาทที่จีนแสดงออกในการประชุมผู้นำประเทศ G-20 ที่หางโจว เป็นหมุดหมายสำคัญบ่งบอกว่า ต่อไปจีนจะพยายามเพิ่มอำนาจฝ่ายสังคมนิยมในองค์กรควบคุมดูแลเศรษฐกิจโลก พูดตรง ๆ คือจะพยายามดึงอำนาจกำกับควบคุมเศรษฐกิจโลกมาอยู่ในมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีจีนเป็นแนวหน้านั่นเอง เรื่องนี้จะยังไม่เกิดผลกระทบอะไรมาก ต้องผ่านไปอีกหนึ่งทศวรรษเป็นอย่างน้อย จึงจะเริ่มเห็นผลเปลี่ยนแปลงโลก ข้าพเจ้ามิได้มองว่า จีนเป็นมหาอำนาจที่ก้าวร้าวคุกคามโลก แต่ข้าพเจ้ามองว่าจีนเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถต่อรอง ปรับปรุงแก้ไขกลไกการควบคุมเศรษฐกิจโลก ให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น พูดตรง ๆ คือลดทองอำนาจของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก อเมริกา-ญี่ปุ่น-อียู ลงนั่นเอง กระบวนการปรับตัวรอบนี้กินเวลานาน และมีปัจจัยตัวแปรอื่น ๆ อีกมาก เช่น หากเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม หมากกระดานนี้ก็จะล้มไป หนึ่งทศวรรษต่อไปนี้ เราจะเห็นการปรับตัวใหญ่ของ “ทุนนิยมโลก” เราจะเห็นการเติบโตของทุนนิยมพร้อม ๆ กับการสร้างระบบการตลาดแบบสังคมนิยมในประเทศจีน นี่เป็นการมองโลกอย่างไม่มีอคติ (ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนั้น แต่คนอื่นคงจะมองว่าข้าพเจ้ายงบ้าอุดมการสังคมนิยมอยู่ก็ได้) ความเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นตลอดเวลาครับ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ชี้ไว้นานแล้ว (พ.ศ ๒๕๒๒) แนวโน้มของโลกขณะนั้น คือระบบเศรษฐกิจ ที่เดิมเคยแยกกันชัดเจนว่า เป็นทุนนิยม เป็นสังคมนิยมนั้น กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นเศรษฐกิจแบบผสม คือรับเอาข้อดีจากทั้งลัทธิทุนนิยมและลัทธิสังคมนิยมมาใช้ ซึ่ง “คึกฤทธิ์ ปราโมช” แสดงความเห็นสนับสนุน แนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบผสม ดังต่อไปนี้ “ระบบที่บ้านเมืองต้องการ ก็คือ ‘ระบบเศรษฐกิจผสม’ หรือถ้าจะให้ดีขึ้นอีกก็ควรจะเรียกว่า ‘ระบบนายทุนสังคมนิยม’ ระบบเช่นนี้จะนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดจากทุนนิยมและสังคมนิยมมาใช้ร่วมกัน และจะเป็นการพัฒนาสิ่งซึ่งสังคมนิยมและทุนนิยม เห็นว่าดีที่สุดที่จะเสนอให้แก่เมืองไทย แต่ถึงอย่างไร คนไทยก็ยังเป็นคนไทย มีคุณความดีอันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะชาติไทยมากมายหลายอย่าง มีวิธีพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ด้วยเหตุผลอย่างไทย มีทรรศนะอย่างไทยต่อปัญหาทั่วไป และมีทางหนีทีไล่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมือนใครอื่น ๆ เพราะฉะนั้น ระบบทุนนิยมก็ดี สังคมนิยมก็ดี และระบบเศรษฐกิจผสม หรือ ‘นายทุนสังคมนิยม’ ก็ดี หากจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แท้จริงแก่เมืองไทยแล้ว ระบบก็จะต้องสามารถปรับตนเองให้เข้ากับลักษณะพิเศษต่าง ๆ ของคนไทยอีกด้วย ไม่ว่าลักษณะเหล่านั้นจะดีจะชั่ว มิฉะนั้นระบบนั้น ๆ ก็คงจะยังเป็นแต่เพียงระบบ ไม่มีความหมายต่อชีวิตจริง ๆ ของคนไทยแต่อย่างใดเลย” ในทศวรรษหน้า (คือนับจากปัจจุบันไปอีกสิบปี) แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่มีจีนเป็นผู้นำจะเพิ่มบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยควรโน้มตามทิศทางใหญ่นี้ โดยเลือกใช้เศรษฐกิจผสมผสาน “ทุนนิยม-สังคมนิยม” โดยตั้งอยู่บนฐานคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ข้าพเจ้ามองว่าแนวทางนี้จะช่วยคนไทยได้ดีกว่า ก้มหน้าก้มตาเดินตามทุนนิยมอย่างเดียวแบบปัจจุบัน