เสือตัวที่ 6 การแสวงหาแนวร่วมหน้าใหม่ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการร้ายแห่งนี้ในการต่อสู้กับรัฐ ที่ยังคงดำเนินการอยู่ต่อไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่ถูกจับจ้องจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ เพื่อสะสมกำลังผู้คนในพื้นที่รุ่นต่อรุ่น ให้เข้ามาเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิดที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเช่นที่ผ่านมา อันเป็นการปฏิบัติการในระดับยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเชื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านั้น ให้มีความคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐ เป็นการสะสมกำลังคนไว้รอคอยโอกาสในการต่อสู้กับรัฐในรูปแบบอื่นใดที่ฝ่ายขบวนการใคร่ครวญแล้วว่าจะได้เปรียบในอนาคต จากการวิจัยพบว่า แรงจูงใจในการเข้าร่วมขบวนการนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการถูกชี้นำ โดยเริ่มการแนะนำจากเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นคนใกล้ชิดในสถานศึกษา และมีโอกาสเชื่อฟังมากที่สุด อันเป็นปกติวิสัยของคนที่อยู่ในวัยรุ่นที่มักจะเชื่อเพื่อนมากกว่าคนกลุ่มอื่น มีเพียงบางส่วนที่ถูกชี้นำจากผู้อื่น อย่างไรก็ตามการชี้นำจากเพื่อนที่รู้จักกันมาก่อนนั้น แม้จะเป็นเพียงการเปิดทางหรือจุดประกายความคิดที่แต่เดิมไม่เคยรู้หรือคิดเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราชรัฐปัตตานีมาก่อน ให้เริ่มคิดและสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ล่อแหลมต่อความไม่เป็นธรรมมากขึ้น แต่ก็เป็นการสร้างจิตวิทยาหมู่ ที่เมื่อเห็นเพื่อนๆ เข้าร่วมขบวนการแล้ว ตนเองก็ปฏิเสธได้ยาก ต้องเข้าร่วมด้วย เพราะอาจถูกดูถูกจากเพื่อนว่าไม่กล้าหาญ ไม่ใช่ลูกผู้ชายหรือถึงขั้นไม่ให้เข้ากลุ่มได้ หลังจากนั้นก็จะเป็นการเข้ามาชี้นำ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานีกับสยามอย่างจริงจัง รวมทั้งการใช้ความต่อเนื่องในการชักชวน เพื่อตอกย้ำ จากคนอื่นที่สามารถเล่าเรื่องได้ละเอียดมากขึ้น รวมทั้งความใกล้ชิดเพื่อสร้างความไว้วางใจ ซึ่งประเด็นสำคัญของประวัติศาสตร์นั้นจะเป็นการมุ่งเน้นการสร้างความเกลียดชังต่อคนนอกศาสนา(โดยเฉพาะพวกสยามในอดีต) ที่มาแย่งเอาดินแดนของคนปัตตานีในพื้นที่ไปครอบครอง ด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อนกับพี่น้องมุสลิมในขณะนั้นที่มักจะถูกนำมากล่าวอ้างอยู่ไม่รู้จบ เช่น การกวาดต้อน เจาะเอ็นร้อยหวายคนมุสลิมไปกรุงเทพฯ เพื่อไปทำงานหนักให้รัฐสยาม ซึ่งเมื่อได้รับฟังเรื่องราวอย่างนั้น ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกช็อกและเคียดแค้นชิงชัง ชาวสยามหรือคนนอกศาสนา ทั้งยังมุ่งให้เกิดความต้องการได้ดินแดนของตนเอง(รัฐปัตตานี) คืนมาเหมือนเดิม นอกจากนั้นแล้ว การสร้างอุดมการณ์ทางศาสนาอิสลามให้เกิดกับผู้ร่วมขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินนี้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการชักจูงให้เข้าร่วมกับขบวนการอีกประการหนึ่ง โดยอาศัยอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางศาสนาท้องถิ่นนี้ มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นของตนเอง ที่ถูกปลุกเร้าให้เห็นถึงความแตกต่างจากรัฐไทยและต้องการการปกครองแบบรัฐอิสลามบริสุทธิ์ เพื่อมุ่งสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วภายใต้อุดมการณ์หรือความเชื่อต่างๆ ดังกล่าวที่ถูกปลูกฝัง หรือสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมขบวนการ จึงเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย และเมื่อผู้ถูกชักชวนเริ่มเปิดใจเห็นคล้อยตามแล้ว ก็จะใช้ความเชื่อ ความศรัทธาในหลักศาสนาที่เข้มข้น ที่ผู้เข้าร่วมขบวนการไม่รู้สึกตัว โดยนักสร้างแนวร่วมจะใช้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการชักจูง โน้มน้าวให้เข้าร่วมขบวนการอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยการชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชของคนมุสลิมนั้น ถือเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หรือข้อบังคับทางศาสนา (วายิบ) ที่คนมุสลิมทุกคนจะต้องทำ โดยอ้างว่า ในหลักศาสนาแล้ว หากใครปฏิเสธแนวทางดังกล่าวนั้น จะเป็นบาป หรือแม้กระทั่งการสั่งสอนให้เชื่อว่า การฆ่าหรือสังหารคนนอกศาสนา (คนที่นับถือศาสนาอื่น) นั้น ไม่เป็นบาป แต่ในทางตรงข้าม การร่วมต่อสู้กับคนนอกศาสนานั้นกลับจะได้บุญแทน ทั้งยังบ่มเพาะความเชื่อว่าเมื่อตายไป วิญญาณของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อศาสนานั้น จะบริสุทธิ์ และนอกจากนั้น บาปที่เคยมีติดตัวก็จะหมดไปด้วย ทั้งยังจะได้ไปสวรรค์พบพระเจ้า พร้อมทั้งกล่าวอ้างหลักศาสนาให้เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นนั้น จะสามารถนำญาติพี่น้องไปสวรรค์ได้อีกจำนวนหนึ่งอีกด้วย ทำให้ผู้เข้าร่วมขบวนการเกิดความหวาดกลัว หากไม่เข้าร่วมและเชื่อมั่นอย่างสุดโต่งว่าการกระทำต่างๆ รวมทั้งการฆ่าผู้คนนอกศาสนาเหล่านั้น ไม่ผิด โดยอาศัยบุคคลที่น่าเคารพนับถือทางศาสนา เป็นผู้ชี้นำและบ่มเพาะความคิดความเชื่อเหล่านั้น ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนหน้าใหม่ในพื้นที่ตลอดมา จะเห็นว่าปัจจัยจูงใจต้นเหตุสำคัญ (Underlying Causes) ของการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการคือความสร้างให้เกิดความเครียดแค้นทางประวัติศาสตร์อย่างฝังรากลึก หรือเรื่องที่บอกเล่าต่อกันมา(Narrative) และอุดมการณ์หรือความเชื่อในเรื่องของรัฐปาตานี ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อด้านศาสนาและการสร้างให้เกิดความรู้สึกว่ากลุ่มของตนมีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของตน เพื่อให้เป็นความมั่นใจในการเข้าร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ ส่วนปัจจัยด้านกระบวนการที่เข้ามาเร่งการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันกลุ่มนี้ คือความต่อเนื่องในการตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ ผสมผสานกับการใช้จิตวิทยาหมู่ระดับสูงหรืออิทธิพลกลุ่ม เพื่อเร่งเร้าให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้เร็วขึ้น โดยจะทิ้งให้กลุ่มเป้าหมาย กลับไปตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ ด้วยตนเองเป็นสำคัญ ร่วมกับการสร้างความหวังในชัยชนะและชีวิตใน “โลกหน้า” อันเป็นวิถีของแนวทางตามความเชื่อทางศาสนา ทำให้ผู้ร่วมขบวนการหน้าใหม่เกิดความมั่นใจในชัยชนะและการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐ ทั้งยังก่อให้เกิดความฮึกเหิม พร้อมทั้งคาดหวังและเชื่อมั่นในชัยชนะของการต่อสู้กับรัฐไทยในวันหนึ่งข้างหน้า เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเข้าร่วม และดำรงอยู่ในขบวนการต่อไปไม่สิ้นสุด