สถาพร ศรีสัจจัง การวิเคราะห์สังคมหนึ่งๆ ในสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อให้เห็นภาพของความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นความขัดแย้งหลักและความขัดแย้งรอง เพื่อพิจารณาให้เห็นถึงองคาพยพของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างถ่องแท้นั้น นอกจากจะต้องมีความชัดเจนในการใช้เครื่องมือที่เป็นวิทยาศาสตร์(Scientific) คือการมีกรอบทฤษฎีที่ถูกต้องเที่ยงตรงแล้ว ตัวชี้ขาดที่สำคัญซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์ครั้งนั้นๆแสดงผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำก็คือ “ชุดข้อมูล” หรือ “ชุดข้อเท็จจริง” ทั้งหลายทั้งปวงที่ดำรงอยู่ในสังคม ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ที่จะมารองรับการวิเคราะห์ กล่าวสำหรับนักคิดหรือนักสังคมศาสตร์ที่มีบทในการวิเคราะห์สังคมไทยคนสำคัญๆในห้วงที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่วนใหญ่มักอิงหรือโน้มเอียงไปในทางการนำเอากรอบแนวคิดทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสำนัก “ว่าด้วยความขัดแย้ง” ( Theory of Conflict) ที่มีคาร์ล มาร์กซ์ เป็นต้นเค้าคนสำคัญมาเป็นเครื่องมือ หลังเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ”(2516) แนวคิดมาร์กซิสต์แบบประธานเหมา เจ๋อ ตุง แห่งสาธารณรัฐประชนจีน กลายเป็น “คัมภีร์” สำคัญของ “นักปฏิวัติ” หรือ “นักปลดแอก” รุ่นนั้น ทั้งที่สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยตรง และ บรรดานักคิดหนุ่มสาวที่เป็น “แนวร่วม” ทั้งหลาย ยึดติดกันจนกระทั่งใครก็ตามที่คิดต่าง จะต้องกลายเป็นพวก “ลัทธิแก้” หรือ “พวกปฏิกิริยา” ไปเสียสิ้น! ที่เอ่ยถึงชื่อนักทฤษฎีคนสำคัญยุคนั้นอย่างอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขึ้นมาก็เพราะเห็นว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่แสดงตัวชัดมาตลอดว่าไม่ยึดติดหนาหนักในกระแสเช่นที่ว่านั้น และในชั้นหลังๆบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยของเขาก็ดูแตกต่าง เป็นรูปธรรม และน่าสนใจ โดยเฉพาะ การวิเคราะห์เหตุการณ์ความขัดแย้งทางสังคมยุค “เสื้อสี”ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 (พฤษภาฯ 2553) เคยอ่านบทสัมภาษณ์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในเรื่องดังกล่าวจากหนังสือ “ค.คน” (ภายหลังตัดบางตอนมาทำเป็นเหมือน “text” นำเรื่องในหนังสือนิทรรศภาพถ่ายเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ชื่อ “Rupture” ของช่างภาพฝรั่ง 2-3 คน เช่น วูฟล์กัง เบลวินเคล/แอกเนส แอเบยส์/โอลิเวอร์ พิน-แฟ็ต..มีช่างภาพไทยร่วมด้วยอยู่ 2 ท่าน คือ มานิต ศรีวานิชภูมิ และ Piyatat Hemmatat) บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้นับเป็นการชี้ปมเหตุสำคัญเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ในสังคมไทย หลังยุคคุณทักษิณ ชินวัตร ขึ้นครองอำนาจ (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547) และน่าจะยังสามารถเอามาชี้ว่าเป็นเหตุปัจจัยกันเดียวกับขบวนความขัดแย้งในยุค “ธนาธรริสม์” (คู่กรณีนายกฯลุงตู่?)ไอดอลคนสำคัญของของชาวคณะ “ราษฎร' 63”? เหตุปัจจัย “แก่นแกน” ที่ดร.เสกสรรค์ มองเห็น และวิเคราะห์ให้ฟังไว้ตั้งแต่ปี 2553 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คืออะไร? จะขอลองยกมาให้ดูบางส่วนสักเล็กๆน้อยๆ ดังนี้ : " สังคมไทยได้สั่งสมความขัดแย้งระหว่างคนชั้นต่างๆกับคนที่ได้เปรียบ ซึ่งบางทีเราก็เรียกรวมกันไปว่าคนชั้นกลาง และคนขั้นสูงมานานแล้ว คำว่าคนชั้นล่างนี่ ขออนุญาตพูดอย่างหยาบๆนะ ไม่ได้เคร่งครัดในทฤษฎีอะไรผมหมายถึงคนที่มีปัญหาถูกข่มเหงรังแก ด้อยโอกาส เสียเปรียบในเรื่องรายได้ เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม มีอำนาจทางการเมืองน้อยเกินไปที่จะต่อรองอะไรประมาณนี้ ... คนเหล่านี้สั่งสมความไม่พอใจมาตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะว่าพวกเขาตกเป็นเบี้ยล่าง ทั้งในโครงสร้างอำนาจและในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่ช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาอย่างจริงจัง บางกลุ่มเคยต่อสู้ด้วยตนเองแต่ก็พ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนท้อใจ ดังนั้นเมื่อพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณไปเสนอนโยบายที่เรียกกันว่า “ประชานิยม” ซึ่งเกื้อกูลพวกเขาในบางเรื่องบางราว พวกเขาย่อมเกิดความพอใจ และเริ่มคิดว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของตนมีประโยชน์อยู่บ้าง กระทั่งมองการยึดโยงกับพรรคไทยรักไทยว่าเป็นทางออกแบบหนึ่ง...เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกโค่นลงด้วยรัฐประหาร คนเหล่านี้ย่อมรู้สึกสูญเสีย กระทั่งมีอารมณ์โกรธแค้น ดังนั้น เมื่อเราพิจารณาการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม(2553)ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าผู้มาร่วมชุมนุมเป็นคนชั้นต่างๆในสัดส่วนที่มากทีเดียว มันเหมือนกับว่าชนชั้นนำซึ่งสังกัดค่ายของอดีตนายกฯทักษิณได้มาเปิดตลาดนัดการเมือง โดยชวนคนทุกข์คนยากหลายๆกลุ่มมาเปิดแผงของตน อันนี้จึงทำให้เกิดพื้นที่ทางการเมืองขึ้นชั่วคราวสำหรับคนที่อัดอั้นตันใจมานาน และไม่เคยมีอำนาจต่อรองที่เพียงพอ ...เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ไปร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล อย่างน้อยก็ได้แสดงออกว่าตัวเองมีเรื่องคับแค้นใจ ..." และอีกบางประเด็น เช่น : “...ถ้าจะพูดในเชิงโครงสร้างแล้ว คงต้องยอมรับว่าในยุคโลกาภิวัตน์ ระบบการค้าเสรี การเงินเสรี เศรษฐกิจไร้พรมแดนทั้งหลาย มันได้ให้กำเนิดกลุ่มทุนใหม่ๆ ที่เข้าถึงโอกาสระดับสากล แล้วเติบใหญ่ ร่ำรวย มั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาพเช่นนี้ไม่ใช่มีแต่คุณทักษิณคนเดียว คนเหล่านั้นช่วงหนึ่งก็เคยรวมตัวกับคุณทักษิณเข้าสู่เวทีการเมือง แล้วก็ขึ้นมากุมอำนาจรัฐได้โดยการเลือกตั้ง ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าไม่มีใครถ่วงดุลเลย พวกเขาก็จะครอบงำประเทศทั้งหมด ... ...โดยแก่นแท้ก็คือ ปัญหาการจัดพื้นที่กันใหม่ในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ สภาพแบบนี้ ถ้าไม่ลงตัวก็จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ หรือชนชั้นนำต่างกลุ่ม กระทั่งอาจนำไปสู่การหักโค่นกันอย่างรุนแรง...” เห็นไหมว่าเหตุปัจจัยของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยทั้งแต่คุณทักษิณขึ้นรวบอำนาจสถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้าเผด็จการรัฐสภา ใช้อำนาจตามอำเภอใจ และถูกโค่นลงในท้ายที่สุด จนก่อเกิดเหตุการณ์ “เสื้อแดงเผาเมือง” เมื่อปี2553 คืออะไร? หรือ “ขบวน” ที่เย้วๆกันอยู่ตามท้องถนนปัจจุบัน(2563) จะมีแก่นแท้ที่แตกต่างๆ ลองขานมาดูซิถ้าฝ่าย “อำนาจเก่า” (ที่ฟังว่า “ยึดอำนาจรัฐ” เอาไว้ได้ในปัจจุบัน) ถูกโค่นลงไปได้สำเร็จ เมืองไทยเราจะมี “ท่านผู้นำ” มาจากกลุ่มไหน? กลุ่มที่ชื่อ “ชินวัตร” หรือ “กลุ่มธนาธร” ? หรือชื่อเหล่านั้นจะสามารถ “ชี้ขาด” ในการเนรมิต “ประชาธิปไตย” ให้ไทยแลนด์ได้จริงๆตามคำโฆษณาของบรรดาหน่วยทะลวงฟันที่กำลังสนุกในการจัดฉากอยู่บนท้องถนนหลวงปัจจุบัน?!!!!