คอลัมน์ ทางเสือผ่าน สมบัติ ภู่กาญจน์ ความเห็นอีกสามประการ ที่อาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความแสดงทรรศนะไว้ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๕ (ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 , เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ,และเหตุการณ์อื่นๆอีกสารพัด) มีข้อความดังนี้ ประการที่สอง (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวกับวัดและสงฆ์ที่เป็นอยู่ ณขณะนั้น แล้วก็มีความเห็นว่า) ถ้าหากว่าสมภารวัดแบบนี้สึกหาลาเพศไป ซึ่งไม่ว่าจะสึกเอง(เพราะมีสีกามาเลื่อมใสใกล้ชิดจนต้องสึก) หรือว่าถูก(กฎหมายจัดการ)ให้สึก ก็ดี ทรัพย์สินที่เป็นเงินทองหรือวัสดุเครื่องตกแต่ง จะเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้จัดหา ส่วนที่จะตกเป็นของสงฆ์ ก็เฉพาะครุภัณฑ์หรือสิ่งที่ปลูกสร้างไว้เท่านั้น ดูเพียงเท่านี้ ก็น่าจะเห็นทางร่ำรวยของคนที่อยากจะร่ำรวยแล้วมิใช่หรือ? (นั่นเป็นคำถามจากม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งแสดงความเห็นต่อไปว่า) ทรัพย์สินเครื่องตกแต่ง ตลอดจนเงินทอง ที่ชาวบ้านเขาเอาไปถวายพระนั้น ในเนื้อหาที่แท้จริงแล้วชาวบ้านก็เอาไปถวายแก่พระศาสนาก็ด้วยความศรัทธา เมื่อพระที่ได้รับทานเหล่านั้นสึกแล้ว กลับถือว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นส่วนของตัวบุคคล พระศาสนาก็จะต้องกลายเป็นเครื่องมือของคนโลภไปได้อย่างง่ายดายที่สุด (ซึ่งความโลภเหล่านี้มีอยู่ในสันดานของมวลมนุษย์ ที่พุทธศาสนาพยายามพร่ำสอนให้ผู้เชื่อถือลดละสิ่งเหล่านี้ แต่ทุกวันนี้เราคำนึงถึงการลดละหรือขจัดกิเลสตัวนี้กันมากน้อยแค่ไหนครับ? นอกจากการสร้างเสริมกันแต่ศรัทธาความเชื่อ ซึ่งความเชื่อบางอย่างห่างไกลจากหลักการของพุทธศาสนาไปก็ยังมี- ความที่อยู่ในวงเล็บทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นเพิ่มเติมของผมเอง ซึ่งคิดต่อหลังจากอ่านข้อเขียนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ยังมีอีกต่อไปว่า) ในประการที่สาม พระภิกษุรูปใดพยากรณ์โชคชาตาราศี หรือปลุกเศกเครื่องรางของขลัง และจำหน่ายให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใส จนหาเงินได้มากนั้น ย่อมเป็นใหญ่กว่าสมภารเจ้าวัด เพราะทุกวัดเวลานี้ ก็นิยมทำพิธีปลุกเศกเครื่องรางของขลังกันทั่วไป และเมื่อพระภิกษุที่ประพฤติการเช่นนั้น มีผู้หลักผู้ใหญ่เข้านับถือมาก พระภิกษุรูปนั้นก็จะเป็นเอกเทศ ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาได้ ในประการที่สี่ พระภิกษุเอาผู้หญิงเข้าไปอยู่ร่วมเสนาสนะ พระผู้ใหญ่ก็ว่ากล่าวอย่างไรไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน และหลักฐานอย่างนั้นก็ออกจะหายาก เพราะฆราวาสซึ่งเขาทำกันได้ เขายังไม่ทำให้คนดู แล้วจะไปเอาหลักฐานอะไรกับพระ ซึ่งมีวินัยปฐมปาราชิกห้ามไว้ว่าไม่ให้ทำเป็นอันขาด ในตอนท้าย ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดได้ปรารภไว้ว่า ท่านรู้สึกเศร้าใจ ทำไมจิตใจคนถึงได้เหี้ยมโหดอย่างนั้น ผมขอตอบไว้เสียเลยในที่นี้ว่าพระภิกษุที่ปฏิบัติตามระเบียบปกครองสงฆ์ที่ท่านได้อ้างมานั้น ถ้าหากว่าไม่คำนึงถึงพระวินัยเสียแล้ว เป็นฆ่าคนได้ทั้งนั้นแหละครับ ข้อเขียนทั้งหมด จบลงด้วยประการะฉะนี้ ความเห็นดังกล่าวนี้ เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2515 ซึ่งนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ เวลาก็ผ่านมาแล้ว 45 ปี สถานการณ์เหล่านี้ มีอะไร‘ดี’ขึ้นบ้างไหมครับ? -ประชาชน ‘รู้เรื่องและเข้าใจ’เรื่องของวัด เรื่องของทรัพย์สินของวัด ของพระ ของสงฆ์ ของคนที่ข้องเกี่ยว ดีขึ้นหรือไม่แค่ไหน? -วัดที่ทำ ‘ศาสนธุรกิจ’หาประโยชน์เข้าวัดเข้าตัว ลดน้อยถอยลงไปบ้างหรือเปล่า? -และพระภิกษุที่ระมัดระวังเคร่งครัดเรื่องพระวินัย มีมากขึ้นมากกว่าเดิมอีกหรือเปล่า และมากน้อยแค่ไหน? ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ในช่วงหลังปีพุทธทศวรรษที่ 2540 ที่หลังจากผู้ห่วงใยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ศาสนายิ่งถูกดึงเข้าใช้เป็นเครื่องมือเสริมประโยชน์ทั้งในทางการเมืองและในทางการเงินธุรกิจ ในรูปแบบและวิธีการสารพัดสารพันเพิ่มขึ้นมา ขณะที่ปัญหาเก่าๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาให้ดีขึ้น ปัญหาใหม่ๆที่ยังไม่มีแบบอย่างในการแก้ ก็นับวันแต่จะทวีเพิ่มขึ้นมามลพิษกำลังปกคลุมทั่วพุทธมณฑลนิกายเถรวาทในเมืองไทย ด้วยอวิชชา คือความไม่รู้ หรือความรู้ที่ไม่ถูกต้องแท้จริงตามแนวพุทธ ขณะที่ภาวะอนิจจังคือการเปลี่ยนแปลงก็กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั้งในและนอกประเทศหรืออาจทุกแห่งในโลก สร้างทุกข์คือปัญหาให้เกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ ที่มนุษย์จะต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ในข้อเขียนตอนที่แล้วของผม เกิดปัญหาในการพิมพ์ทำให้ข้อความตอนท้ายหายไปสองสามบรรทัด ซึ่งผมต้องการสรุปว่า ในการแก้ปัญหาบางอย่าง พุทธศาสนามีคำสอนว่า ในบางสถานการณ์ ตนจะเป็นที่พึ่งของตนได้ดีที่สุด ผมจึงจะพยายามพิจารณา พุทธ ต่อไป ด้วยความหวังว่า เราจะใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาของแต่ละคนกันได้ดีขึ้นถ้าเราจะสามารถพบ ‘ปัญญา’ ได้จากคำสอนทางศาสนา