รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากประชามติมาได้ไม่นาน ยังไม่ทันได้เห็นกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายลูกฉบับอื่น ๆ และก็ยังต้องรออีกปีเศษจึงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ แต่ขณะนี้ก็มีกระแสวิจารณ์กันเรื่องพรรคการเมืองใหม่กันแล้ว เมืองไทยเรามีพรรคการเมืองมานานแล้วเหมือนกัน แต่ยังหา “พรรคการเมือง” ที่มีคุณสมบัติเป็นพรรคการเมืองแท้ ๆ ตามหลักทฤษฎีไม่ค่อยได้เราจึงควรทบทวนก่อนว่า พรรคการเมืองตามหลักทฤษฎีนั้นเป็นอย่างไร “พรรคการเมือง” หมายความว่า กลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกันมารวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ   พรรคการเมืองมีความสำคัญอย่างไร? พรรคการเมืองนั้นถือได้ว่ามีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากว่าพรรคการเมืองคือสถาบันหลักที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่าง “ภาครัฐ” กับ “ภาคประชาชน” โดยที่พรรคการเมืองจะนำเอาปัญหาหรือความต้องการของประชาชนมาแปลงเป็นนโยบายของพรรค เพื่อนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร   องค์ประกอบของพรรคการเมือง คณะบุคคลซึ่งมีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องมารวมตัวกัน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันมีการจดแจ้งจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองถูกต้อง และมีการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของพรรคการเมือง มีเป้าหมายที่สำคัญในการสรรหาและคัดเลือกสมาชิกของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนในการใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและอำนาจฝ่ายบริหาร ข้างต้นนี้เป็นหลักการตามทฤษฎี ใครคิดจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ควรจะเป็นพรรคการเมืองตามหลักทฤษฎีนี้ ซึ่งดูไปแล้ว ยังเป็นไปไม่ได้ในเมืองไทย น่าคิดว่า มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร ? เพราะไม่มีใครกล้าทำ หรือเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยทำให้ระบบพรรคการเมืองแท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้   วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นกรอบหรือแนวทางของพฤติกรรมทางการเมืองในสังคมที่ถือปฏิบัติสืบต่อจนฝังรากลึกในสังคม หรือเป็นกรอบของพฤติกรรมตามสภาพความเป็นจริง วัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของพฤติกรรมร่วมทางการเมือง ซึ่งอาจจะถูก ดี หรือไม่ดีก็ได้ และมักเป็นเรื่องที่อยู่เหนืออำนาจทางกฎหมาย การใช้กฎหมายสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก และในทางกลับกัน จะใช้อำนาจกฎหมายหยุดยั้งวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาก็มักไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน  การปฏิรูปการเมืองนั้น จุดสำคัญแต่ถูกละเลยไม่กล่าวถึงก็คือ การเปลี่ยน “วัฒนธรรมทางการเมือง” ของคนไทยนั่นเอง