ทองแถม นาถจำนง เรื่องที่จะนำเสนอในวันนี้ เป็น “คำไว้อาลัย” พิมพ์ในงานงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว ตัน สนิทวงศ์) แม้จะเป็นเพียงคำไว้อาลัย แต่เนื้อหาก็มีส่วนที่เป็นประโยชน์ คือความรู้เกี่ยวกับลำดับเชื้อพระวงศ์ และเกร็ดประวัติของหม่อมสนิทวงศ์เสนี ก่อนจะอ่านคำไว้อาลัยของ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ผมขอแนะนำประวัติย่อ ๆ ของพลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ ตัน สนิทวงศ์) ก่อน ม.ร.ว ตัน สนิทวงศ์ เป็นบุตรพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า สายสนิทวงศ์ และหม่อมแจ่ม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ 2434 ณ เมืองกลันตัน (สมัยยังเป็นอาณาเขตของสยาม) ท่านเรียนจบโรงเรียนนายร้อยทหารบก ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศฝรั่งเศสและสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้ช่วยทูตทหารในยุโรประหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รับราชการทหารฝ่ายพลาธิการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หม่อมสนิทวงศ์เสนี” (เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2467) เป็นทูตทหารประจำประเทศอังกฤษ เป็นอัครราชทูตประจำประเทศปอร์ตุเกส เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ 2491 – 2492) หม่อมสนิทวงศ์เสนีสมรสกับท่านผู้หญิงแผ้ว ผู้เป็นศิลปินยิ่งใหญ่คนหนึ่ง จึงขอเสนอประวัติของท่านไว้ด้วย ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี (25 ธันวาคม พ.ศ. 2446 - 24 กันยายน พ.ศ. 2543) ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2528 ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี มีนามเดิมว่า แผ้ว สุทธิบูรณ์ เกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของนาย เฮง และนางสุทธิ สุทธิสมบูรณ์ ได้เข้าถวายตัวในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ในพระตำหนักวังสวนกุหลาบตั้งแต่อายุ 8 ปี รับการฝึกหัดนาฏศิลป์กับ เจ้าจอมมารดาวาด (ท้าววรจันทร์) และเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาเป็นที่โปรดปรานของเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ ทรงขอท่านไปเป็นชายา มีนามว่า "หม่อมแผ้ว นครราชสีมา" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณารับท่านไว้ในตำแหน่งสะใภ้หลวง หลังจาก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบ สิ้นพระชนม์ที่พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 พระชนมายุได้ 36 พรรษา โดยไม่ทรงมีพระโอรสและพระธิดา ขณะนั้นหม่อมแผ้วมีอายุได้ 21 ปี ต่อมาท่านผู้หญิงแผ้วจึงสมรสใหม่กับ หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์ (พลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี) ได้ติดตามติดตามสามีซึ่งรับราชการเป็นทูตทหารไปประจำที่ประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษ ประเทศอิตาลี จนได้รับการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศโปรตุเกส ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย นายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้เรียนเชิญให้ท่านผู้หญิงช่วยปรับปรุงฟื้นฟู และวางรากฐานด้านการละคร การรำ ให้กับกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้ออกแบบท่ารำ เป็นผู้ฝึกสอน และอำนวยการฝึกซ้อมการแสดงโขน ละคร ฟ้อนรำ ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี มีบุตรธิดากับพลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี จำนวน 4 คน คือ หม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์ หม่อมหลวงนวลผ่อง สนิทวงศ์ (ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์) สมรสกับ พลเอกแสวง เสนาณรงค์ พ.ต.อ. (พิเศษ) หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์ สมรสกับ นางโสภี โชติกพุกกณะ หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์ สมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ถึงแก่กรรมเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2543 อายุ 98 ปี พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนคำไว้อาลัยท่านมีเนื้อความสำคัญดังนี้ “ทางเจ้าภาพในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว ตัน สนิทวงศ์ ได้ขอให้ผมเขียนคำไว้อาลัยท่านผู้ตายเพื่อพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ คุณพี่ตันเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญชีวิตมาด้วยความดีโดยตลอด และได้ทำหน้าที่ต่าง ๆ อันบุคคลพึงกระทำได้ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต่อครอบครัว ต่อญาติและมิตร และต่อสังคมไว้โดยพร้อมบริบูรณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและต่อผู้อื่น มีความเมตตากรุณาเสมอต้นเสมอปลายต่อผู้ที่เป็นน้องคือตัวผมเอง ที่เรียกว่าเสมอตันเสมอปลายนั้นก็คือ เมื่อผมยังเป็นเด็กเยาว์วัยอยู่ คุณพี่ตันก็ให้ความเมตตากรุณาอย่างที่พึงให้แก่เด็ก วางตนเป็นผู้ใหญ่ที่เด็กเคารพนับถือได้และถือเป็นแบบอย่างได้ ต่อมาเมื่อเด็กนั้นเติบโตขึ้นมา และถึงแม้ว่าเด็กอย่างผมจะมิได้ถอดแบบอย่างความประพฤติอันดีของคุณพี่ตันมาใส่ตัวไว้ คุณพี่ตันก็ยังคงเมตตากรุณาโดยสมแก่วัยของผม กล่าวคือนับถือยกย่องให้เป็นผู้ใหญ่ ยอมเคารพในความคิดเห็นของเด็กที่เติบโตขึ้นแล้ว มิได้ถือว่าเมื่อรู้จักมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กก็จะต้องเป็นเด็กตลอดไป การปฏิบัติอย่างนี้เรียกได้ว่าเสมอต้นเสมอปลายโดยแท้ คือการปรับความเมตตากรุณาที่มีต่อผู้อื่นให้สมแก่วัยและฐานะของผู้อื่นที่ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปนั้นได้ตลอด และเห็นจะเป็นเพราะความเสมอต้นเสมอปลายนี้เอง คุณพี่ตันจึงเป็นที่เคารพของญาติและเป็นที่รักของคนที่ได้พบปะหรือเป็นมิตรจนตลอดชีวิต ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเป็นศัตรู ในที่นี้ผมเรียกคุณพี่ตันว่าพี่ แต่อาจมีผู้สงสัยว่านับกันทางไหน จึงขออธิบายไว้เสียด้วย เพื่อประโยชน์ของคนหนุ่มสาวที่อาจยังไม่ได้คิดในเรื่องเหล่านี้โดยละเอียด ผมสังเกตว่าในระยะนี้มักจะมีหม่อมราชวงศ์หนุ่ม ๆ สาว ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นหม่อมราชวงศ์ชั้น 4 หรือหม่อมราชวงศ์ในรัชกาลที่ 4 มาเรียกผมว่า “พี่” อยู่บ่อย ๆ โดยถือว่าเมื่อเป็นหม่อมราชวงศ์ก็คงเป็นชั้นเดียวกันและเมื่อแก่กว่าก็ต้องเป็นพี่ นอกจากหม่อมราชวงศ์แล้วก็ยังมีหม่อมเจ้าบางพระองค์ (รัชกาลที่ 4 อีกเหมือนกัน) โปรดเรียกผมว่า “หลานชาย” เพราะทรงถือว่าเมื่อผมไม่ใช่ลูก แต่เป็นหม่อมราชวงศ์เท่าลูก ก็คงเป็นหลาน คติเช่นนี้ผิด ที่ผมเรียกคุณพี่ตันว่าพี่ก็เพราะคุณพี่ตันกับผมเป็นหม่อมราชวงศ์ชั้น 2 ด้วยกัน มีปู่เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยกัน จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หม่อมราชวงศ์ชั้น 2 นั้น ถ้าจะนับญาติกับเจ้านายเยี่ยงสามัญชน (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ควรนับ) ก็มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหม่อมเจ้าในรัชกาลที่ 3 และที่ 4 และถ้าจะนับญาติกับหม่อมราชวงศ์รัชกาลที่ 3 และที่ 4 (ซึ่งควรนับอย่างยิ่ง) ก็มีศักดิ์เป็นอาว์ของท่านเหล่านั้น เมื่อสี่สิบปีมาแล้ว หม่อมราชวงศ์รัชกาลที่ 2 มีเหลืออยู่มาก แต่ในปัจจุบันนั้นอัตคัดเกือบจะหาดูไม่ได้ เมื่อสิ้นคุณพี่ตันไปเสียอีกคนหนึ่ง คนที่ยังเหลืออยู่ที่มีผมเองรวมอยู่ด้วย ก็ต้องใจหายเป็นธรรมดา เพราะนอกจากจะเสียดายอาลัยคุณพี่ตันเป็นอย่างยิ่งแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าความตายอันไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้นั้น ใกล้ตัวเข้ามาอีกนิดหนึ่งด้วย เมื่ออิเหนาเกิดนั้น เทวดามาให้กฤช แล้วมีชื่อจารึกไว้ในกฤชนั้นด้วย ชื่อเต็มของอิเหนานั้นคือ ๐ ชื่อหยังหยังหนึ่งหรัดอินตะรา อุดากันส่าหรีปาตี อิเหนาเองหยังกะตาหลา เมาะตาริยะกัดดังสุรสีห์ ดาหยังอริราชไพรี เอากะหนะกะหรีกุเรปัน ๐ คุณพี่ตันก็เกิดคล้ายอิเหนา เพราะเมื่อเกิดก็ได้กฤช เมื่อคุณพี่ตันเกิดนั้น เสด็จพ่อของคุณพี่ตันเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ (Governor General) อยู่ที่รัฐกลันตันในมลายู ด้วยขณะนั้นกลันตันยังขึ้นอยู่กับไทย เพราะเหตุว่าคุณพี่ตันเกิดที่เมืองกลันตัน คุณพี่ตันจึงได้นามเต็มว่า หม่อมราชวงศ์ กลันตัน สนิทวงศ์ ซึ่งชื่อนี้ดูเหมือนน้อยคนจะทราบ แต่ชาวเมืองกลันตันในสมัยนั้นเขาเรียกคุณพี่ตันด้วยนามมลายูว่า “ตวนกู โวะ” และเมื่อเกิดก็นำกฤชมาให้ไว้ตามประเพณี เรื่องนี้ต้องขอแทรกไว้ในที่นี้เพราะเกรงว่าต่อไปจะสูญ คำไว้อาลัยนี่ดูจะมีเรื่องอื่นสอดแทรกเข้ามามาก แต่คุณพี่ตันรักกับผมมาตลอดชีวิต ก็เพราะผมพูดเลอะเทอะทำนองนี้ และคุณพี่ตันบอกว่ามันคุยสนุกดี ชอบฟัง ถ้าหากว่าคุณพี่ตันสามารถจะทราบด้วยญาณวิถีใด ๆ ว่าน้องชายของคุณพี่ตันคนนี้มาพูดจาเช่นเคยในโอกาสสุดท้ายนี้ คุณพี่ตันก็คงจะพอใจ คึกฤทธิ์ ปราโมช 15 มีนาคม 2503”