ทองแถม นาถจำนง การโต้แย้งปัญหาทางสังคมนั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจประวัติพัฒนาการของเรื่องนั้น ๆ อย่าใช้อารมณ์มาเถียงกัน ปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์บางส่วน และการบริหารจัดการเงินของวัดบางวัด กำลังเป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันมาก จนบางคนอาจใช้คำว่า “วิกฤติ” และบางคนในโซเชียลมีเดียเขียนแสดงความคิดเห็นกันอย่าง “ชุ่ย ๆ “ ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดความรู้เรื่องพัฒนาการการปกครองคณะสงฆ์ สัปดาห์นี้ข้าพเจ้าจึงขออนุญาต นำทัศนะของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เกี่ยวกับวิกฤติศาสนาพุทธแท้จริง ที่ควรเป็นห่วงมากกว่ากระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียขณะนี้ รวบรวมมาจาก ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิกฤติในพระพุทธศาสนา” โดย พล.ต. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื่องในงานครบรอบห้าปี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตเชียงใหม่ ณ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2432 ,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,, วิกฤติสมัยประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หลักจากการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 แล้ว ก็ได้มีพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์ออกมาใหม่ ใช้ระบอบประชาธิปไตยกับพระ คือให้มีสังฆสภา พระเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสังฆสภาเพื่อพระด้วยกัน สังฆสภาตั้งสังฆมนตรี มีสังฆมนตรีว่าการ อะไรต่ออะไรต่างๆสารพัด แล้วก็มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข แต่ไม่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจปกครองสงฆ์ก็คือสังฆนายก ซึ่งสังฆสภาก็เลือกขึ้นไปอีก นี่ก็จะเห็นได้ว่า การปกครองสงฆ์ในขณะนั้นจะเรียกว่ามันเริ่มวิกฤติก็ได้ เริ่มวิกฤติแล้ว เพราะเราเอาการปกครองของฆราวาสในระบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์นั้นท่านไม่มีอะไรเหมือนฆราวาสเลย ท่านมีชีวิตของท่านต่างหาก เป็นชีวิตที่ดึงออกหรือหนีออกจากชีวิตฆราวาสแล้ว แล้วกลับเข้าไปใช้ระบบการปกครองของฆราวาสอีก มันก็ไม่สู้จะดีนัก แต่มันมีผลดีอะไรอย่างหนึ่งว่า ในระหว่างนั้นพระมหานิกายกับพระธรรมยุตท่านตกลงกันได้ เรื่องต้องบอกด้วยว่า พระมหานิกายท่านมีเสียงข้างมากก็จริง แต่ท่านไม่มีอคตินิกาย ท่านขออย่างเดียวว่า ไหนๆก็เป็นพระด้วยกันมาแล้ว ท่านก็ขอให้ท่านปกครองตัวท่านเอง อย่าให้พระนิกายอื่นมาปกครอง ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า คณะธรรมยุตก็ดูแลเฉพาะพระคณะธรรมยุต ท่านมหานิกายทั้งหลายก็ดูแลปกครองของท่านเอง มีเจ้าหน้าที่ในการปกครองต่างๆอยู่ในวงการมหานิกายนั้น อันนี้ก็เป็นที่ตกลงกัน เป็นที่สะดวกสบาย ไม่มีอริต่อกันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ก็ว่าได้ พ.ร.บ. 2505 กับมหาเถรสมาคม ต่อมา หลังจากสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้มีการเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์ฉบับที่ออกในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มาใช้พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พุทธสักราช 2505 ความจริงกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ใช้ได้ และถ้าเราจะใช้กฎหมายนี้จริงๆแล้ว บางทีเราก็จะตัดปัญหาต่างๆและป้องกันวิกฤติต่างๆได้มาก ปัญหามันก็มีอยู่ในทางปฏิบัติ ว่าเราจะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นกันหรือไม่ หรือเราจะหลีกเลี่ยง เราทำไม่เต็มที่กันอย่างไร ทำให้เกิดวิกฤติเกิดผลเสียหายขึ้น เพราะฉะนั้น ทางแก้ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติและเปลี่ยนโครงสร้างคณะสงฆ์ให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการแก้วิกฤติไปในตัว โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปัจจุบัน มีอยู่ว่า มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ไทยที่สูงสุด แต่การปกครองคณะสงฆ์ทุกวันนี้ดูจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะการปฏิบัติของมหาเถรสมาคมออกจะเพี้ยนไป ผิดไป ขึ้นอยู่กับท่านที่เป็นบุคคลที่อยู่ในมหาเถรสมาคม ขึ้นต้นก็จะต้องกลายเป็นว่า มาถึงก็มาซัดมหาเถระเข้าเลย ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ที่พูดนี่ด้วยความเคารพที่สุด แต่พระมหาเถระที่ท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ มีบารมีมากล้น มีลูกศิษย์ลูกหามาก และก็เป็นที่เคารพนับถือกันเองในหมู่สงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมยุตหรือมหานิกายในสมัยนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ท่านจะกระทำอะไร ตัดสินใจทำอะไรลงไปมันก็เกิดความยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติของมหาเถรสมาคมที่ผ่านๆมาจึงมีคนว่าไม่ได้ผล มีจุดอ่อนหลายอย่าง และจุดอ่อนที่สำคัญนี้ ขึ้นต้นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับมหาเถรสมาคม กรมการศาสนากับมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่งแล้ว อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม กระผมเข้าใจว่า ระเบียบหรือความเข้าใจในเรื่องอะไรหลายอย่างมันแตกต่างกันอยู่ อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการ มีเรื่องอะไรก็ต้องเสนอมหาเถรสมาคม ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านเห็นด้วยท่านก็นิ่งเฉย นี่เป็นประเพณีของพระ เป็นวิสัยของพระ ท่านไม่ต้องไปยกมือเห็นด้วย ท่านไม่ต้องไปกระโดดโลดเต้น ท่านนั่งนิ่งเฉย ดุษณีเท่านั้น มันก็ตกลงไปแล้ว แต่ถ้ากรมการศาสนาซึ่งเป็นฆราวาสไม่ยอมเข้าใจถึงเรื่องนี้ กลับไปหาว่าพระไม่พูด พระไม่เล่น พระไม่ทำอะไร ถือว่าเรื่องที่เสนอเข้าไป เมื่อพระท่านไม่พูดเลยเป็นเรื่องค้าง ในที่สุดเรื่องค้างก็เต็มกรมการศาสนา แล้วก็มาว่าพระ ว่าส่งอะไรเข้าไปก็ไม่รู้จักตัดสิน ไม่เห็นทำอะไร ดีแต่นิ่งเฉย ก็นิ่งเฉยนั่นแหละ อนุมัติแล้ว กระผมก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เรื่องระเบียบข้าราชการของฆราวาส และเรื่องวินัยสงฆ์ เรื่องวิธีปฏิบัติของสงฆ์ มันแยกออกไปคนละทางอย่างนี้ พระท่านจะพูดเฉพาะที่ท่านค้านเท่านั้น อย่างเมื่อเร็วๆนี้ เกิดมีการถวายกฐินกัน ก็มีการสวดญัตติเสนอองค์กฐินว่า ผ้าพระกฐินนั้นควรจะตกแก่พระภิกษุรูปใด พระสงฆ์ที่มาชุมนุมกันอยู่ท่านนิ่งแสดงว่าท่านอนุมัติ ถ้าท่านโวยวายค้านบอกว่าผมไม่เอาด้วย เอ นั่นแหละค้านแล้ว องค์กฐินพังไปแล้วจะต้องทำยังไงกันใหม่ กระผมก็ยังไม่ทราบ เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้กระผมคิดว่า เป็นความผิดของทางราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทางราชการนั้น ขอเรียนว่า ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะพระไม่มีอำนาจในทางโลก การที่จะปกครองคนเป็นจำนวนมากนั้นต้องมีอำนาจ ก็อย่างที่ตำรวจปกครองมนุษย์ ปกครองฆราวาส ก็ต้องมีอำนาจที่จะไปจับไปขัง ไปเข้าตะราง ไปทำอะไรสารพัด มันปลอบทางหนึ่ง ขู่ทางหนึ่งกันอยู่อย่างนี้ แต่พระท่านไม่มีอำนาจเหล่านี้ ท่านไม่มีอำนาจทางโลกเลย ศาสนาพุทธอยู่มาได้กี่ร้อยกี่พันปีในเมืองไทย ก็ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์ คือพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานความอุปถัมภ์ด้วยพระราชอำนาจ ใครมาเล่นรังแกพุทธศาสนาท่านป้องกันให้ หรือศาสนาพุทธเกิดคนไม่ดีขึ้นมา ที่จะทำให้เสียศาสนา พระเจ้าแผ่นดินเข้ามาป้องกันให้ มาจับสึกเอาตัวเข้าตะราง หรือทำอะไรก็แล้วแต่เถอะ ซึ่งพระเองท่านทำไม่ได้ การที่จำเป็นจะต้องมีกระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องมีกรมการศาสนา ก็เพราะเหตุว่า ท่านเหล่านี้เปรียบเสมือนกับพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ เมื่อพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาพุทธแล้ว เป็นหน้าที่ของข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว จะต้องมาดูแลกิจการงานทั้งหลายให้เรียบร้อยไป ถึงคราวจะต้องใช้อำนาจก็ต้องใช้ ถึงคราวจะต้องประสานประโยชน์อย่างไรก็ต้องทำ ทีนี้ ก็มีเสียงพูดอีกนั่นแหละครับ ว่ามหาเถรสมาคมนั้นรวบอำนาจไว้มากมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ไม่ได้ห้ามมหาเถรสมาคมที่จะกระจายงาน กระจายอำนาจ และความรับผิดชอบออกไปสู่สงฆ์กลุ่มอื่นคณะอื่น ที่ไม่ใช่มหาเถรสมาคม เรื่องนี้เราก็เห็นกันเมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้มีการแต่งตั้งการกสงฆ์ขึ้น กระผมก็ไม่เคยได้ยิน รับตรงๆไม่เคย เพิ่งมาเห็นครั้งนี้ เกิดมาบุญ จะเรียกเป็นภาษาฆราวาสว่าอะไร จะว่าเป็นกรรมาธิการก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าอะไรก็ไม่ใช่ ต้องเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า working party แปลเป็นไทยว่า คณะทำงาน บาลีเรียกว่า การกสงฆ์ เรื่องนี้ท่านก็ทำงานได้เรียบร้อยทุกอย่าง เป็นการรับอำนาจจากมหาเถรสมาคมลงมาอีกที งานที่การกสงฆ์ทำไปคราวที่แล้วนี้ มหาเถระทำไม่ได้ ก็ทุกอลค์ท่านก็สูงด้วยอายุ สูงด้วยฐานะ สูงด้วยอื่นๆอีก เรียกง่ายๆว่ามีอำนาจบาตรใหญ่ ว่างั้นเถอะ มันลุกไม่ค่อยจะขึ้น หนักบาตร แล้วจะให้ทำยังไง ก็ต้องมีการแต่งตั้ง มอบหมายใครต่อใครต่อไป ให้ท่านไปทำหน้าที่แทนกันภายใต้การควบคุมของมหาเถระนั่นเอง กิจการนั้นก็สำเร็จไปได้ กระผมยกเรื่องขึ้นมาพูดเพื่อจะให้ได้คิดว่า มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นสถาบันที่สูงสุดในการปกครองสงฆ์ มีอำนาจสูงสุด ขณะเดียวกันก็เป็นที่นับถือสูงสุดของบรรดาสงฆ์ทั้งหลายด้วย จะลงมาทำกิจการงานบางอย่างเห็นจะไม่ได้ มันจะต่ำไป มันจะหนักไป และในที่สุด มันจะไม่มีผลสำเร็จ ทางที่ดีนั้น มหาเถระจึงควรจะมอบหมายอำนาจ กระจายอำนาจในการปกครองเป็นเรื่องๆไป หรือตามท้องที่ ท้องถิ่นตามภูมิศาสตร์ก็ได้ ให้คนอื่นมีอำนาจที่จะตัดสินใจด้วยกัน ภายใต้การมอบหมายของมหาเถระนั่นเอง ถ้าอย่างนี้ กระผมคิดว่าจะป้องกันวิกฤติที่จะเกิดขึ้นได้มาก วิกฤติทุกวันนี้โดยมากเกิดขึ้นจากการปกครอง คือการปกครองย่อหย่อน สมภารไปแจกไอ้ขิกก็ไม่มีใครว่า เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ ก็ดูเฉยๆกันหมด ไม่ได้เป็นการกสงฆ์ ใครทำอะไรก็ทำไป จะไปว่าแกก็ไม่ได้ จะให้ใครใครควบคุมแกก็ไม่ได้ แกเป็นสมภารเสียเอง เอาละซี เรื่องมันก็อย่างนี้ จนในที่สุดก็ได้ไปพูดจากันอย่างไร เรื่องมันก็เรียบร้อยไป หลายอย่างครับที่มีอย่างนี้ ซึ่งกระผมรู้สึกว่า ถ้าหากว่ามหาเถระท่านได้มอบอำนาจเด็ดขาดลงมาให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง ให้มีอำนาจหน้าที่ในการนั้นๆ วิกฤติต่างๆความเสียหายต่างๆ อาจจะไม่เกิดขึ้นในพระศาสนา อย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้ มหาเถรสมาคมกับอธิกรณ์ การพิจารณาเรื่องต่างๆของมหาเถรสมาคม กระผมกล่าวก็ต้องยกมือนมัสการเสียก่อน ใจกระผมเองก็รู้สึกว่าท่านอาศัยหลักนิติศาสตร์มากไป ท่านดูในเรื่องกฎหมาย ท่านมีอำนาจหน้าที่แค่ไหน ไม่มีแค่ไหน ท่านนั่งเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องกฎหมายอยู่อย่างนี้ จนในที่สุดก็เลยทำอะไรม่ค่อยได้ ท่านถุกกฎหมายมัดตัวท่านเอง ท่านนั่งอยู่ แล้วกฎหมายมัด กลายเป็นพระพุพทธรูป กลายเป็นพระประธานไป กระดิกกระเดี้ยไม่ได้ เพราะแรงกฎหมายบังคับ ถ้าท่านจะไม่สนใจกฎหมายเท่าใด ท่านนึกว่าท่านเป็นสงฆ์ เป็นผู้ปกครองสงฆ์ เป็นผู้ที่จะต้องอุปการะสงฆ์ในทางเมตตากรุณาและจะต้องลงทัณฆ์แก่สงฆ์ ทำนิคหกรรมแก่สงฆ์ที่ประพฤติผิดนอกรีตนอกรอย ท่านนึกเสียอย่างนั้น แล้วก็ไม่ระแวงกฎหมาย ไม่พยายามระมัดระวังในแง่กฎหมายจนเกินไปแล้ว กระผมคิดว่าอุปสรรคต่างๆ และวิกฤติต่างๆในพระพุทธศาสนาก็คงจะเบาบางลงไปได้ การกระจายอำนาจของมหาเถรสมาคมนั้น จะเป็นด้วยการทำงาน หรือด้วยบังคับอื่นใดก็ตามที ก็น่าจะป้องกันอะไรได้หลายอย่าง คือถ้าเรามีเจ้าหน้าที่รับมอบหมายมา มาคอยดูแลเรื่องอะไรมันจะเกิด ใครจะไปสำเร็จโสดาปัตติผลที่ไหน ก็ให้เจ้าหน้าที่นั่นแหละเขาคอยดูกัน ไม่ต้องให้ถึงมหาเถรสมาคม เกิดเรื่องพระอริยบุคคล จะให้พระเถระท่านทำอะไร ถ้ามีอะไรอยู่ใกล้ๆคอยระงับปราบปรามได้ มนก็พอพูดกัน เรื่องเล็กมันก็ไม่น่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่น่าหัวเราะ มันก็จะไม่กลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาแก้ อุปสรรคทั้งหลายตลอดจนวิกฤตการณ์ต่างๆ ก็น่าที่จะเบาบางลงไปได้ เพราะฉะนั้น การปกครองสงฆ์นั้น นอกจากจะมีการผ่อนหนักผ่อนเบา ทางด้านกฎหมาย ทางด้านระมัดระวังหรือระแวงจนเกินไปแล้ว กระผมก็คิดเห็นว่า จะต้องเคร่งครัดและเข้ามงวดทางด้านพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง คือ ความจริงระเบียบอะไรก็ตาม กฏอะไรก็ตามทีที่จะใช้ปกครองสงฆ์นั้น ควรจะตรงกับพระธรรมวินัยทุกข้อ ไม่ควรจะคลาดเคลื่อน หรือไม่ควรว่าจะเป็นการอนุโลม หรืออะไรอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง กระผมคิดว่า เรารักษาพระธรรมวินัยกันไว้ให้เคร่งครัดแล้ววิกฤติต่างๆก็ไม่เกิด เพราะพระธรรมวินัยนั้นเองเป็นเครื่องป้องกันวิกฤติในคณะสงฆ์อยู่แล้ว พระภิกษุในสมัยพุทธกดาลที่ไปก่อเหตุจนพระพุทธเจ้าต้องบัญญัติพระวินัยออกมาแต่ละข้อนั้น เป็นพระภิกษุที่ทำวิกฤติให้เกิดขึ้น ไปทำอะไรจนชาวบ้านยเขาเดือดร้อน เขามาร้องนั่นวิกฤติแล้ว พระพุทธเจ้าก็ออกกฏข้อบังคับเป็นพระวินัย เป็นการแก้วิกฤติตลอดมา ถ้าถึงสมัยนี้เราไม่ยึดพระวินัยแล้ว วิกฤติจะประเดประดังเข้ามา จนเราไม่สามารถจุแก้ด้ พระธรรมวินัยจึงเรียกได้ว่า เป็นของสำคัญเหลือเกินในการที่ป้องกันวิกฤตินั้นเองที่จะเกิดขึ้นแก่พระศาสนา เพราะฉะนั้น ในเรื่องเหล่านี้ คือในเรื่องกระจายอำนาจ ในเรื่องรักษาพระธรรมวินัยเหล่านี้ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสงฆ์ จะเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคระตำบลลงไป ตลอดจนพระที่มีหน้าที่อื่นๆจะต้องอาศัยพระธรรมวินัย คือดูว่า ท่านผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนั้นท่านเป็นอยบ่างไรในพระธรรมวินัย ท่านประพฤติดี ประพฤติชอบ เคร่งครัดดีอยู่หรือ หรือว่าท่านเป็นคนย่อหย่อนเอายังไงก็ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่น่าจะแต่งตั้ง แต่งตั้งพระที่เคร่งครัดพระวินัยไว้เห็นจะดีกว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระผู้ใหญ่เห็นจะต้องสนใจในการตั้งพระหน้าที่ต่างๆ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เป็นต้น ให้มากกว่าแต่ก่อน ไม่ใช่ว่าปล่อยเลยตามเลย ปล่อยตามยถากรรม แล้วก็เกรงใจกัน ไม่อยากจะให้เดือดร้อนกับใคร ถ้าอย่างนั้น วิกฤติเกิด ไม่มีทางแก้ได้ เราก็จะได้เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลออกมา ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติขึ้นได้ เป็นเหตุให้เกิดขึ้นในระหว่างสงฆ์เอง หรือในระหว่างชาวบ้าน ทำสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เรื่องนิกายอีกอย่าง กระผมเรียนมาแล้วเรื่องคณะธรรมยุตกับมหานิกาย ถึงเวลาแล้วหรือยังบที่เราจะลืมเรื่องนี้กันเสียที ไม่จำเป็นต้องไปรวมนิกาย ให้ท่านผู้ใดที่ท่านเคร่งครัดเดือดร้อน ความจริงข้อแตกต่างมันไม่มีอะไรหนักหนาเลย ไม่ต้องไปรวมให้เสียเวลา แต่เราเฉยเสีย เรานิ่งเสีย เราทำงานด้วยกันโดยไม่รังเกียจ ไม่มีอคตินิกาย ถ้าอย่างนี้กระผมคิดว่าจะดีกว่า คิดถึงอนาคต เพราะต่อไปถ้ามันยังมีความรู้สึกว่ามีพระธรรมยุต มีพระมหานิกาย แก่งแย่งแข่งดีกันอยี่แล้ว จะมีคนนอกเดินเข้ามาบอก “เอ๊ะ ผมตั้งนิกายที่ 3 ได้ไหม” ก็ท่านมี 2 นิกายแล้ว มีนิกายที่ 3 จะตั้งนิกายที่ 4 จนในที่สุดไม่รู้ว่าจะทำอะไรกัน การที่อยู่ด้วยกันด้วยความผาสุขระหว่าง 2 นิกายนั้น ก็มีคนพูดว่า ท่านแข่งขันกันในทางทำความดี กระผมสงสัยเสียแล้วครับตรงนี้ ได้ดูกันมาหลายเรื่องแล้ว ก็ขอเรียนกันตรงๆล่ะ ท่านแข่งกันในทางความดี หรือท่านแข่งกันในทางปิดความชั่วของพวกพ้อง พระธรรมยุตต้องอธิกรณ์ขึ้นมา จะต้องเก็บไว้ก่อนไหม จนกว่าพระมหานิกายจะไปพลาดต้องอธิกรณ์เดียวกัน มีพร้อมกันโดยทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ไม่มีใครเสียหน้า นี่เคยเห็นมาแล้ว ไม่ได้มาโกหกมดเท็จพูดเลย ทำอย่างนี้มาหลายทีกันแล้วด้วย นี่แหละครับ วิกฤติล่ะ ทำอย่างนี้แหละ จะลืมกันเสียทีได้ไหมเรื่องนิกาย พระองค์ไหนผิดก็ว่าไปตามผิด ว่าไปตามพระธรรมวินัย ว่าไปตามศีล ตั้งอธิกรณ์ขึ้น พระมหานิกายผิด พระมหานิกายก็ตั้งอธิกรณ์ ไม่ต้องไปห่วงหรอกว่าจะต้องตั้ง ว่าจะต้องผิดพร้อมกัน ไม่ให้เสียหน้า มหานิกายผิด ปาราชิกวันนี้ อีกไม่กี่เดือนพระธรรมยุตก็ปาราชิกเอง ไม่ต้องไปห่วงว่าจะขายหน้าขายตากันหรอก ไม่ต้องไปคอยกันหรอก ไปคอยว่าเราปาราชิกปิดไว้ก่อน เขาปาราชิกเราถึงจะเปิดให้พร้อมๆกัน มันไม่จำเป็นน่ะครับ อันนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ในทางศาสนาพุทธอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในเมืองไทยในทุกวันนี้