พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ปรัชญาทางการเมืองแบบเดิมๆ เมื่อสมัยกว่า 200 ปีที่ผ่านมา แรกเริ่มร่างธรรมนูญของประเทศอันมีวิถีประชาธิปไตยอย่างอเมริกาว่า ปรัชญาหรือความคิดทางการเมืองดังกล่าว หมายถึงการใช้มติมหาชนเป็นใหญ่ หรือก็คือ ประชาธิปไตยนั่นเอง วิถีอเมริกันดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมการเมือง(Political Culture) ของชาวอเมริกันมานาน ยิ่งหากไปดูใน Bill of rights ซึ่งเป็นธรรมนูญหลักและสำคัญว่าด้วยสิทธิของประชาชน จำนวน 10 ข้อ ก็จะเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นว่า รัฐธรรมนูญของอเมริกันวางเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้อย่างไรบ้าง เหมือนดังที่เรารู้กันว่า ธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิในการพูดหรือแสดงออกด้านความเห็นทางการเมือง ,แม้กระทั่งป้องกัน อำนาจรัฐ หรืออำนาจอื่นๆ เข้ามาคุกคามข่มเหงสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองอย่างไรด้วยเช่นกัน หากนี่คือ เจตจำนงของผู้ร่างธรรมนูญแห่งรัฐ ซึ่งก็คือ ประชาชน ที่มีวิถีปรัชญาแห่งการคิดที่ไม่สลับซับซ้อนด้วยเงื่อนปมทางพยัญชนะแต่ประการเลย ฉะนั้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองและวัฒนธรรมอีกหลายๆ ด้านของสังคมอเมริกัน มันถูกกำหนดขึ้นใช้เป็นกรอบในการคิดและการปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ช่วงก่อนหน้าปี 1787 ที่ถือเป็นปีประกาศใช้รัฐธรรมนูญปีแรกเสียด้วยซ้ำเพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่มีบทบัญญัติออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง ถึงแม้สถานการณ์ด้านต่างๆ จะเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของโลก แต่นักประวัติศาสตร์อเมริกันหรือยุโรปหลายคนเชื่อว่า วัฒนธรรมการเมืองอเมริกันยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ,วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ฃฃที่หมายถึงการมี “เจตจำนงของประชาชน”เป็นเป้าหมาย หรือเป็นหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างกันในครั้งแรกยังคงเหมือนเดิม เมื่อมีข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสูงสุด หรือกฎหมายรองใดก็ตาม การตีความกฎหมายย่อมต้องนำต้นเค้าลหักการและสาเหตุของการถือกำเนิดร่างรัฐธรรมนูญมาพิจารณาก่อนอื่นและเหนืออื่นใด ซึ่งย่อมลงใน “เจตจำนง” หรือ “สัญญาประชาคม” นั่นเอง หากมองสถานการณ์ทางการเมืองหรือทางสังคมโดยรวมของระบอบอเมริกันในปัจจุบันแล้ว กล่าวได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมือง หรือทางอุดการณ์ในประเทศยังมีอยู่ แต่ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวสามารถคลี่คลายลงได้ ด้วยหลักเจตจำนงประชาชน ที่ถือเป็นหลักจารีตทางการเมืองของอเมริกัน หลักจารีตนี้ เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ หรือพลเมืองพึงมี หมายถึงลักษณะแห่งหลักการ การให้สิทธิเสรีภาพ อันเป็นจารีตทางการเมืองของอเมริกัน การแบ่ง 3 อำนาจตามหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยของอเมริกา อาศัยหลักการ “เสรีภาพ และความเสมอภาคเบ่งบานเนืองนิตย์” ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ล้วนเป็นผลพวงจากอำนาจของประชาชนทั้งสิ้น หากคนไทยจะแปลกใจกัน ก็คือ อำนาจตุลาการ เป็นผลพวงจากการอำนาจของประชาชน แทนที่จะมาจากทางอื่น เหมือนดังหลายประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศประชาธิปไตย แต่แกนในหลายยอย่างไม่สัมพันธ์อะไรเลย กับอำนาจของประชาชน ต้องไม่ลืมว่า อเมริกันก่อร่างสร้างประเทศกันมาอย่างไร พื้นฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค(ความยุติธรรม) จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับคนอเมริกัน ฐานันดร และระบบศักดินา แทบไม่มีความหมายเอาเลย ประเด็นนี้โยงไปถึงการฝังหัวทางวัฒนธรรมของอเมริกันในยุคต่อยุคหรือรุ่นต่อรุ่นด้วย โดยเฉพาะความเท่าเทียมกันในทางสิทธิของพลเมือง ที่มีความหมายเดียวกับ คำว่า “ความไร้ซึ่งอภิสิทธิ์”ของชนในชาติ อำนาจตุลาการในอเมริกานั้น เป็นผลพวงที่สัมพันธ์กับประชาชนอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก อำนาจในการแต่งตั้งคณะตุลาการ(United States federal judges ) เป็นของประธานาธิบดี (โดยที่ตัวของประธานาธิบดีเองก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน) และรับรองโดยวุฒิสภา(Senate) ที่มาจากระบบเลือกตั้ง ตาม มาตรา 3 (Article III)ของรัฐธรรมนูญ ,ส่วนที่สอง ได้แก่การเลือกตั้งผู้พิพากษาประจำศาลท้องถิ่นโดยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กับ ส่วนที่สาม ได้แก่ การใช้หลักสามัญสำนึก(Common sense)ในการแต่งตั้งคณะลูกขุนเพื่อตัดสินคดีความ โดยที่คณะลูกขุนนี้มาจากประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดฐานะ หน้าที่การงาน ศาลแต่งตั้งมาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาสมทบร่วมกับผู้พิพากษาหลักที่ทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงทางด้านกฎหมายให้กับคณะลูกขุนเท่านั้น น้ำหนัก ของระบบตุลาการอเมริกัน แม้ว่าจะเป็นหนึ่งใน 3 อำนาจหลัก ก็ตาม แต่ก็แสดงถึงความไม่ห่างไกลและสัมพันธ์กับประชาชน นับว่า เป็นการกันทั้งในระดับบนและระดับล่างเลยทีเดียว มีความคาบเกี่ยว และคำนึงถึงการมีส่วนเข้าไปจัดการดูแลของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็นำเอาวิธีการ “การใช้สามัญสำนึกของคนธรรมดา” มาใช้ด้วย ตามหลักที่ว่า “สามัญสำนึกของคนธรรมดาที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยความรู้ วิชาการ ข้อกฎหมาย หรือรู้ในเรื่อง(คดี)นั้นๆเลย เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม” อีกนัยหนึ่งหมายถึง การเชื่อใน “Human Sense” ว่ามีอยู่จริง และสามารถนำมาใช้ได้จริงในกรณีความยุติธรรม นั่นเอง แปลว่า ความรู้ในวิชาการกฎหมายของผั้ดสินไม่สามารถนำมาสู่ ความยุติธรรมได้เสมอไป แต่ความรู้สึกนึกคิด (Sense) หรือสามัญจิต ,การมองแบบซื่อๆ ของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความตะหากที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินด้วยความยุติธรรม ดังนั้น การตีความทางด้านกฎหมายของอเมริกัน ในส่วนของกฎหมายมหาชน เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองๆ ลงไปของอเมริกัน จึงเน้นไปที่อรรถ ยิ่งกว่าพยัญชนะ ซึ่งก็คือ เจตจำนงของการร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ อันเป็นที่รู้และยอมกันในชุมชนประเทศ น้ำหนักของการพิจารณาเพื่อตีความ หรือกรอบของการพิจารณาตีความกฎหมายสูงสุดของอเมริกันจึงไม่อยู่ที่ลายลักษณ์อักษร (แม้ว่ารัฐธรรมนญจะเป็นแบบลายลักษณ์อักษรก็ตาม) หากความคิดเรื่องนี้เลยไปถึงสัญญาประชาคม ที่เป็นหลักการเมื่อคราวแรกร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่แปลกที่ร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นฉบับเดิม เปลี่ยนแปลงแก้ไข เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ในช่วงกาล 200 กว่าปี ความจริง การยอมรับหลักเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ หรือเจตนารมณ์ของคนฝ่ายมาก ก็ย่อมสะท้อนได้ชัดเจน เป็นการแก้ปัญหาในบริบทประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน หากไม่มีหลักการข้อนี้ ความขัดแย้งในสังคมก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด สังคมประเทศจะมีแต่ความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันไปกี่ฉบับก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ การจัดสรรอำนาจให้ 3 ฝ่าย ต้องพอเหมาะพอดีและสมดุล สำคัญสุด คือ เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ เป็นมาตรวัดในทางโลก ไม่มีที่ใด ที่มีความยุติธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการสร้างความเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมมีอยู่จริงก็ช่วยให้คนในประเทศสุขสงบ เพราะสามารถลดปมปัญหาความขัดแย้งได้มากขึ้น คำว่า เจตจำนงของประชาชน ไม่เพียง สะท้อนมาจากผลผลิตรัฐธรรมนูญ หรือหยิบเอาเจตจำนงในส่วนของกฎหมายสูงสุดมาใช้เท่านั้น แต่ในส่วนของกฎหมายชั้นรองลงมา ระบบยุติธรรมหรือระบบตุลาการอเมริกัน ได้นำมาใช้ในการตัดสินคดี เชิงการเมือง คดีเชิงอุดมการณ์ คดีเชิงสังคม คดีเชิงสิทธิมนุษยชน และคดีเชิงวัฒนธรรม อีกด้วย หลายกรณีที่กฎหมายรองอาจไม่มีความหมาย เท่ากับเจตจำนงในรัฐธรรมนูญ ไม่นับรวมหากมีคณะลูกขุน(ที่ไม่รู้กฎหมาย) เข้าร่วม พวกเขาย่อมใช้ Sense ตัดสินคดีความเอาดื้อๆ กรอบความคิดในการตัดสิน ก็คือ เจตจำนงหลักของบุคคลหรือของคณะที่เกี่ยวข้องในคดี เทียบกับของไทย ทำให้นึกถึงภาพเปรียบเปรย(แบบเว่อร์ๆ)แของคำว่า “หัวหมอ” หัวหมอแบบไทยกับ หัวหมอแบบอเมริกัน น่าจะแตกต่างกัน หัวหมอแบบไทย ใช้สไตล์ การเล่นคำตามบทบัญญัติกฎหมาย พูดอีกอย่าง คือ พวกชอบแซะคำ (พยัญชนะ) ส่วนหัวหมอแบบอเมริกัน ชอบแซะใจ แซะอารมณ์ความรู้สึก เชิงปรัชญาหรือหลักการที่สัมพันธ์กับการถือกำเนิดของกฎหมายสูงสุดของประเทศ การมุ่งเอาดีทางตัวอักษร มากกว่าเจตจำนงของประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญหลายฉบับของบางประเทศต้องถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ่อยๆ อย่างเลวที่สุด คือ การฉีกทิ้งโดยการยึดอำนาจ จนเมื่อผลิตใหม่ก็ออกมาในแนวเดิมๆ ขาดความสัมพันธ์กับประชาชน เจ้าของอำนาจที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะคนผลิตกฎหมาย ไม่ได้ยึดถือเจตจำนงของคน หรือของประชาชนส่วนใหญ่ หากมุ่งแสวงหา “คนดีและของดี” ตามจินตนาการของตนเอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับกติกาที่มาจากเจตจำนงและสัญญาประชาคมแบบอเมริกัน