ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นับเป็นเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” หลังจากผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องการขับเคลื่อนโมเดลใหม่ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านบทบาทของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดังที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.)  ซึ่งรับผิดชอบภารกิจที่ 7 ของ คปต. คือ งานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี กับ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกันขับเคลื่อน การนำพลังภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นกลไกเคลื่อนงานสร้างสันติภาพจึงต้องถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ โมเดลใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานระดับนโยบายรัฐ โดยหลังจากการเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ งบประมาณรวม 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีองค์กรภาคประชาสังคมเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากถึง 488 องค์กร 492 โครงการ ซึ่งอาจนับเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของใครหลายคน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่าขั้นตอนจากนี้ต่อไป คือ การตรวจความถูกต้องของเอกสาร และกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ 15 คน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ กอ.รมน.ภาค 4 ศอ.บต. คปต.ส่วนหน้า ศชต.เดิม และภาคประชาสังคม อนุมัติงบประมาณให้แต่ละองค์กรที่ได้รับเลือก เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นได้ลงพื้นที่ ทำกิจกรรมตามวัตถุประสงค์เป้าหมายให้เป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลคาดหวังให้เกิดการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม เพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ในหลากมิติและการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนงานรวม 10 ประเด็น คือ 1) การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2) การอำนวยความยุติธรรมและเยียวยา 3) การสร้างความเข้าใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน 4) การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 5) การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิตประชาชน 6) งานขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 60-61 7) การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี 8) งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 9) งานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และ 10) งานพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคม “งบประมาณ 50 ล้านบาท เราจะอุดหนุนใน 3 ลักษณะให้กับโครงการขนาดเล็ก ประมาณ 500,000 – 600,000 แสนบาท โครงการขนาดกลาง 800,000 บาท และโครงการขนาดใหญ่ไม่เกิน 1,200,000 บาท เราคาดหวังไม่น้อยกว่า 80 องค์กรภาคประชาสังคมที่จะเข้ามาร่วมทำงานตรงนี้โดยโครงการดังกล่าวทำให้เราเห็นถึงการมีส่วนรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยมีประเด็นมองกันคนละมุมที่รัฐบอกว่าพัฒนาแต่ชาวบ้านบอกว่า ยังไม่พัฒนา ที่รัฐบอกว่าเข้าใจ แต่ชาวบ้านมองว่ายังไม่เข้าใจ เราคาดหวัง การขับเคลื่อนโครงการตรงนี้จะสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึง และสร้างความรู้สึกเป็นธรรม เข้าถึงความเสมอภาคและเข้าถึงงบประมาณของภาครัฐ ที่สำคัญคือ เข้ามามีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วย” นายไกรศรกล่าว นอกจากนี้ กล่าวได้ว่า งานขับเคลื่อนภาคประชาสังคมยังถือเป็นงานด้านสร้างความเข้าใจ 1 ใน 3 โรดแมป คือด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนางานของผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ ด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะต้องบรรลุผลสำเร็จและเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า สามารถสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ให้เข้าใจนโยบายของรัฐมากขึ้น และเข้ามามีส่วนรวมมากขึ้น โดยงานสำคัญที่ต้องการ นอกจากชาวบ้านเข้าใจ มีส่วนร่วมแล้วนั้น หัวใจสำคัญคือ สนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วย สิ่งที่น่าจับตามอง ณ เวลานี้ คือ การขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในส่วนความรับผิดชอบของ ศอ.บต. มี 2 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจัดทำแผนพัฒนาชุมชน ที่สอดรับกับแผนของท้องถิ่น แผนยุทธศาสตร์จังหวัด และแผนพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยศอ.บต.สนับสนุนงบประมาณหมู่บ้านละ 4 แสนบาท รวมงบประมาณทั้งหมด 23 ล้านบาทเศษ ดำเนินการใน 40 หมู่บ้านนำร่อง และ 2.โครงการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมมีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งริเริ่มโดย พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ตัวเลของค์กรที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมเป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนว่า โครงการฯ นี้ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ เพราะรัฐอยู่ในบทบาทแค่ผู้สนับสนุน ขณะที่องค์กรประชาสังคมคือผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยตนเอง คำกล่าวของ พล.อ.อุดมชัย ต่อที่ประชุมเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “อีก 5 ปี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่” จึงเป็นเป้าหมายที่รอการพิสูจน์ สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามกัน คงเป็นดังเช่นที่เคยบอกเล่าให้ฟังไปแล้วว่า ก็คือ ความต่อเนื่องของแนวทางนี้จะมีโรดแมปให้เดินกันไปจนถึงเป้าหมายหรือไม่ แน่นอนว่า การริเริ่มโครงการในลักษณะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ผู้ริเริ่มอย่าง พล.อ.อุดมชัย และคนขับเคลื่อนอย่าง นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ก็ต้องทำงานหนัก และถือเป็นเดิมพันที่จะต้องให้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้เปลี่ยนกันทั้งโครงสร้างการทำงานของระบบราชการ เช่นเดียวกับองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ตนเองด้วยเช่นกันว่า เมื่อเกิด “ปรากฏการณ์” เช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า พวกเขาคือพลังการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง หาใช้กลุ่มบุคคลหรือกลุ่มก้อนใด ที่ลงมือทำงานเพียงเพื่อ “สร้างภาพ” หรือ “แสวงหาผลประโยชน์” จากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่