เสือตัวที่ 6 สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ ย่อมมีธรรมชาติแบบเดียวกันอยู่ไม่กี่อย่าง หากแต่ประการสำคัญคือการต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป และการขยายเผ่าพันธุ์ ซึ่งนั่นจึงเป็นที่มาของการต้องเสพอาหารเพื่อความอยู่รอด และการขยายเผ่าพันธุ์ออกไปให้มากที่สุดไม่ว่าจะโดยวิธีการใด แม้กระทั่งการพัฒนาตัวเองเพื่อการดำรงอยู่และการขยายพวกพ้องเผ่าพันธุ์ของตน ซึ่งสิ่งมีชีวิตทุกอย่างไม่เว้นแม้กระทั่งไวรัสชนิดใดๆ รวมทั้งไวรัสชนิดใหม่ที่มนุษย์เรียกมันว่า ไวรัสโคโรนา 2019 ที่ต้องมีธรรมชาติในการดำรงชีวิตและขยายเดผ่าพันธุ์ออกไปให้ได้โดยการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของมัน ธรรมชาติในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ประการใด เพราะมันเป็นธรรมชาติของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ มิฉะนั้น มันจะสูญพันธุ์ในที่สุด และไวรัส COVID-19 ที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อการต่อสู้กับยาปฏิชีวนะของมนุษย์โลก จึงเป็นธรรมชาติที่มนุษย์เรียกมันว่า การกลายพันธุ์ ที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่ามนุษย์จะคิดค้นวัคซีนในการปกป้องชีวิตจากการคุกคามของไวรัสตัวนี้ในรูปแบบใด หากแต่เมื่อใดที่ไวรัสตัวนี้ได้เรียนรู้ศัตรูตัวใหม่นี้อย่างถ่องแท้แล้ว มันจะพัฒนาศักยภาพการต่อสู้ของตัวมันเองเพื่อเอาชนะความพยายามของศัตรูของมันให้ได้อย่างไม่สิ้นสุด และในวันนี้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นความท้าทายความสามารถของมนุษย์ที่จะเฝ้าระวังและเรียนรู้ศักยภาพของไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ได้รวดเร็วแค่ไหน โดยเมื่อกลางเดือน ก.พ.64 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ปกติไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่การกลายพันธุ์ในมนุษย์บางคนหรือในสัตว์ อาจจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ที่เร็วกว่าการกลายพันธุ์ปกติ และการระบาดในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกอาจจะทำให้มีการคัดเลือกสายพันธุ์เฉพาะถิ่นขึ้นอันเป็นธรรมชาติของไวรัส นอกจากนั้น ปัจจุบันมีการรายงานสายพันธุ์ที่พบและต้องเฝ้าระวังทั่วโลก โดยมีคำแนะนำว่าจะต้องเฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ที่อาจจะมีปัญหา คือ ไม่ใช่ไวรัสที่ปกติ แต่เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ ประกอบด้วย 1. สายพันธุ์ B.1.1.7(GR,G) ประเทศที่พบครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน 2563 ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษ มีการกระจายไปในประเทศอเมริกา และประเทศอื่นๆในยุโรปแล้ว โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษ อยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น อีกทั้ง ในห้องทดลอง พบว่าไวรัสมีประสิทธิภาพในการแบ่งตัวดีขึ้น เพราะฉะนั้น ไวรัสในโพรงจมูกก็จะมาก ติดเชื้อง่าย นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหลักฐานจากรพ.อังกฤษหลายแห่งเห็นว่าสายพันธุ์นี้สัมพันธ์กับอัตราการป่วยและเสียชีวิตมากกว่าเดิมเล็กน้อย 2.สายพันธุ์B.1.351(GH,G) ประเทศที่พบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทำให้ไวรัสจับตัวเซลล์ได้ดีขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น อาจจะสามารถหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนลดลง เพราะเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยใช้สายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งมีหลายประเทศมีการทดสอบวัคซีน พบว่าประสิทธิภาพวัคซีนลดลงเมื่อมีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ ซึ่งปัจจุบันพบสายพันธุ์นี้ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาใต้ 3.สายพันธุ์P.1(GR) ประเทศที่พบครั้งแรกคือประเทศบราซิล เมื่อธันวาคม 2563 โดยพบว่าพลาสมาหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสเหล่านี้ได้น้อยลงจริงๆ เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเหล่านี้ ขณะที่ทั่วโลกเฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ที่กำลังกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ของมันเองและกำลังเป็นปัญหาให้กับมวลมนุษยชาติทั่วโลก เพราะเป็นไวรัสกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไวรัสพันธุ์ใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโลกมาก่อนหน้านี้ และนี่คือธรรมชาติของทุกชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการดำรงชีวิตและบรรลุเจตนารมณ์ของกลุ่มตนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า มีผู้ป่วยไทยรายแรกเดินทางกลับจากแทนซาเนีย พบติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และความน่ากลัวของสายพันธุ์แอฟริกาใต้นี้ คือ มีผลต่อการตอบสนองของวัคซีนได้ลดลง แต่ไม่ใช่ประสิทธิภาพของวัคซีนจะป้องกันไม่ได้เลย ยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ต้องมีการพัฒนาวัคซีนปรับปรุงวัคซีนทุกๆ 1 -2 ปี ลักษณะเดียวกับการทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เคยมีมา และประเทศที่สนใจต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษคือ แอฟริกาใต้ อังกฤษ และบราซิล เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้คนไทยมีโอกาสติดเชื้อที่กลายพันธุ์หลุดรอดเข้ามาแพร่เชื้อกลายพันธุ์นี้ ซึ่งจะมีผลต่อการใช้วัคซีนในอนาคตอย่างแน่นอน การยับยั้งการแพร่เชื้อจากคนสู่คนนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดการกลายพันธุ์เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยากจะควบคุมได้ เหล่านี้คือสิ่งยืนยันว่า สิ่งมีชีวิตต้องการการอยู่รอดดำรงเผ่าพันธุ์ แม้ว่าจะต้องต่อสู้ด้วยวิธีการใดๆ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีโอกาสมากขึ้นในการอยู่รอดและเดินหน้าดำรงเผ่าพันธุ์ของพวกมันต่อไป ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์เอง ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ปรับตัวเองให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมในขณะนั้นๆ ใหม่เพื่อความอยู่รอดของชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และธรรมชาติในการกลายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไวรัส COVID-19 นั้น ก็สามารถเทียบเคียงให้เห็นในแง่ของมิติความมั่นคงรูปแบบเดิมจากการต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มคนเห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ที่กำลังเรียนรู้สภาวการณ์ในปัจจุบันจนแน่ใจแล้วว่า การต่อสู้ในรูปแบบเดิมอย่างที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปี กำลังถูกฝ่ายตรงข้าม(ฝ่ายรัฐ) ปรับตัวและค้นพบวิธีการหรือแนวทางที่จะจำกัดการต่อสู้ของขบวนการของพวกเขาได้อย่างเป็นผล นักคิดในขบวนการแห่งนี้ จึงต้องมีการปรับตัว พัฒนาศักยภาพการต่อสู้ของกลุ่มตนเพื่อการดำรงอยู่และขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไปให้ได้อย่างทรงพลังต่อไป และการต่อสู้ของคนในขบวนการที่ดำเนินมาหลายสิบปี คงจะไม่สูญพันธุ์สยบยอมไปง่ายๆ หากแต่พวกเขากำลังปรับตัว กลายพันธุ์เพื่อแสวงหาแนวทาง วิธีการต่อสู้กับรัฐอย่างใหม่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด สถานการณ์ความรุนแรงด้วยอาวุธแบบเดิมที่ดูจะเบาบางลง จึงไม่อาจวางใจได้ว่า ชัยชนะของรัฐใกล้มาถึงแล้ว เพราะห้วงเวลานี้ เป็นห้วงเวลาของการกลายพันธุ์และฟักตัวเพื่อการเข้าต่อสู้กับรัฐในรูปแบบใหม่ที่เป็นโอกาสใหม่สำหรับพวกเขา ซึ่งหากรัฐโดยฝ่ายความมั่นคงไม่ตระหนักในการเฝ้าระวัง ค้นหาการกลายพันธุ์ของคนในขบวนการเหล่านี้ ย่อมเป็นมหันตภัยที่ใหญ่และรุนแรงกว่าการต่อสู้ในครั้งก่อน