สถาพร ศรีสัจจัง “ประชาชนเลือกถูกเสมอ” คือวาทกรรมสำคัญที่สุดบทหนึ่งของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำคนสำคัญของจีนใหม่ ผู้สามารถนำพาพรรคคอมมิวนิสต์จีนลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐปฏิกิริยาจีนเก่า จนสามารถปลดปล่อยประชามหาชนหลายร้อยล้านคน และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนยุคใหม่ขึ้นได้สำเร็จ อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการทำให้ประเทศจีนที่เคยอ่อนแอ ที่เป็น “หมู” ให้ชาติตะวันตกรุมทึ้งเถือจนแทบจะหมดตัว ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่งอย่างที่เห็นๆอยู่ในปัจจุบัน คติธรรมสำคัญที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ก็คือ “ประชาชนคือทุกสิ่งทุกอย่าง!” ด้วยความสามารถของผู้นำในชั้นหลังของจีนใหม่ ที่สามารถสืบสานและรักษาอุดมการณ์ “เพื่อประชาชน” ต่อจากประธานเหมาเอาไว้ได้อย่างมี “จังหวะก้าว” และอย่าง “สมสมัย” (โดยเฉพาะเติ้ง เสี่ยว ผิง ในยุคหลังประธานเหมา และ สี จิ้น ผิง ในยุคปัจจุบัน) น่าจะคือปัจจัยสำคัญในการนำพาประชาชนและสังคมจีนใหม่ก้าวสู่สังคมยุคนี้ได้อย่างสง่างาม วาทกรรม “ประชาชนเลือกถูกเสมอ” ของท่านประธานเหมามีความหมายและ “นัย” ที่แท้จริงอย่างไร? และ สังคมอื่นหรือชาติอื่นสามารถรับวาทกรรมดังกล่าวมาเป็น “คีย์ เวิร์ด” (Key word) ในการนำพาประเทศของตนให้ก้าวสู่การพัฒนาที่แท้จริงได้หรือเปล่า? นี่น่าจะเป็นคำถามสำคัญ ที่บรรดาชนชั้นนำทางการเมืองของไทย (อย่างเช่นนายกฯลุงตู่คนนั้น) น่าจะได้นำมาใคร่ครวญและไตร่ตรองให้มากเข้าไว้! ไม่ใช่ไปตามเขาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ แต่น่าจะได้นำมาไตร่ตรองเพื่อการปรับใช้ในการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศ กล่าวสำหรับสังคมไทยเรา ที่มี “อัตลักษณ์” หรือ “การดำรงอยู่ของความขัดแย้งภายใน” ที่มีลักษณะจำเพาะของตัวเอง การเลือกรูปแบบหรือระบบการปกครองที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ไม่ใช่ประธานาธิบดี) มาอย่างยาวนานเกือบจะ 90 ปีเต็ม (จาก 2475) เข้าแล้วนั้น วาทกรรม “ประชาชนเลือกถูกเสมอ” น่าจะเป็น “ม็อตโต้” สำคัญที่บรรดา “ท่านผู้นำ” น่าจะต้องสำเหนียกให้มากเข้าไว้ (โดยเฉพาะท่านที่อยากเป็น “รัฐบุรุษ”!) แต่สังคมไทยเรานี่แหละ ที่ผู้มีการศึกษาและชนชั้นนำทั้งหลายมักมีทรรศนะทางสังคม การเมืองลึกๆว่า “ประชาชนนั้นอ่อนแอ โง่เขลาไร้ปัญญา และคุ้นชินกับการอยู่ใต้อำนาจผู้อื่น” โดยเฉพาะในสำนึกจริงๆของบรรดาท่านนักการเมือง(โดยเฉพาะนักเลือกตั้ง)ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย(ที่ปัจจุบันดูเหมือนเกียรติจริงๆในสายตาของประชาชนจะลดน้อยร่อยหรอลงทุกทีๆแล้ว) คำว่า “ประชาชน” ของประธานเหมานั้นเป็นนามธรรม หมายถึงมหาชนคนส่วนใหญ่ ที่เป็นชนชั้นผู้ผลิตที่แท้จริงของสังคม คำว่า “เลือกถูกเสมอ” นั้นหมายถึงการเลือกผลประโยชน์ (เช่นการเลือกผู้นำหรือพรรคการเมือง) ซึ่งประธานเหมาอธิบายว่าเป็นสิ่ง “สัมพัทธ์” (Relative) คือจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของ “พื้นที่” และ “เวลา” ตัวอย่างเช่น ประชาชนเขารู้ว่าเพื่อจะขับไล่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ออกไปจากอำนาจ พวกเขายินดีเลือกผู้นำที่มาจากการรัฐประหารอย่างเช่น “บิ้กตู่” หรือ พลเอกประยุทธ์น่าจะดีกว่า(เฉพาะในบริบทสังคมตอนนั้น) หรือ ประชาชนคนปักษ์ใต้ในห้วงเวลาหนึ่งก่อนหน้านี้ เลือกนักการเมืองที่ต้องมาจากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น(ปัจจุบันเริ่มไม่ใช่อีกแล้ว) ฯลฯ เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องอย่างสำคัญกับระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ของไทยเรา เพราะระบอบดังกล่าวต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ปกครองประเทศ (ส่วนกลาง) มีความเชื่อมั่นใน “ประชาชน” อย่างสูงสุด นั่นคือต้องมีการ “กระจายอำนาจ” ไปสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจให้ได้เป็น “ผู้สถาปนา” อย่างแท้จริงให้มากที่สุด ความเข้มแข็งของระบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อ มีการกระจายอำนาจ (อำนาจในการตัดสินใจและการปกครองตัวเอง)อย่างแท้จริงเท่านั้น การกระจายอำนาจที่ว่า ก็คือการกระจายสิทธิและหน้าที่ไปสู่ “หน่วยย่อย” ที่สุดของสังคมเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ชนชั้นปกครองในส่วนกลางต้องล้มล้างสำนึกที่ว่า “ประชาชนนั้นอ่อนแอ โง่เขลาไร้ปัญญา และคุ้นชินกับการอยู่ใต้อำนาจผู้อื่น” ดังนั้นจึงมักคิดอยู่เสมอว่า ถ้าให้ “ประชาชน” เลือกเอง พวกเขาจะถูกหลอก พวกเขาจะเลือกขยะ เลือกพวกมาเฟีย เลือกผู้มีอิทธิพล เลือกกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่น ฯลฯ ลองกระจายอำนาจไปให้จริงสักช่วงยาวๆดูเถอะ ท้ายสุดแล้ว “ประชาชน” จะเป็นผู้ “กวาดขยะ” พวกนั้นทิ้งไปเอง พวกเขาจะสรุปบทเรียนได้ด้วยตัวเอง และ “เนื้อแท้” ของประชาธิปไตยก็จะค่อยๆปรากฏให้เห็น เชื่อเถอะ ท้ายที่สุดแล้ว “ประชาชนจะเลือกถูกเสมอ” เหมือนกับที่ประธานเหมา เจ๋อ ตุง ว่าไว้จริงๆ!!!!