ปฏิเสธไม่ได้ว่า รากฐานของสังคมไทยดั้งเดิมคือการกสิกรรม แม้เศรษฐกิจสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างทำของรับใช้ทุนข้ามชาติไปแล้ว แต่พลเมืองไทยส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมและมีฐานะยากจน การมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน แต่เกือบทุกรัฐบาลในอดีต มีนโยบายและการปฏิบัติที่ไม่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่กล้าปรับแก้ที่ปัญหาโครงสร้าง การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ , การปรับโครงสร้างการตลาด , การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ให้มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรกกรมที่ผลิตในประเทศอย่างเต็มที่ , การแก้ปัญหาการทำมาหากินของเกษตรกร เช่น เรื่อง น้ำ , เกษตรอินทรีย์ , การถือครองที่ดิน , ลอจิสต์ติค ฯลฯ อันที่จริงปัญหาการทำมาหากินของเกษตรกรไทยนั้น มีผู้รู้นำเสนอไว้ไม่น้อยแล้ว แต่ทว่าฝ่ายกุมอำนาจรัฐกลับไม่ให้การสนับสนุน ปฏิรูปแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบรอบด้าน ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรรายย่อยห้าด้าน ๕ คือเรื่องที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากร หนี้สิน การตลาดและสุขภาวะที่ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่รอด เรื่องที่ดินทำกิน มี 2 ประเด็นย่อย ประเด็นแรกคือเกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน ประเด็นที่สองเกษตรกรที่ยังมีที่ดินจำนวนมากแต่ละปีต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ให้กับสถาบันการเงิน จำนวนเกษตรกรที่สูญเสียที่ทำกินและต้องหาเช่าที่ดินทำการเกษตรจึงเพิ่มขึ้น ปีละไม่น้อยกว่าสี่ห้าหมื่นรายถ้าคิดเฉลี่ยที่ดินเกษตรกรรายละ 20 ไร่ก็จะประมาณ 1 ล้านไร่ต่อปี ยังไม่รวมที่ดินที่เกษตรกรรายย่อยที่ทำนากุ้ง เลี้ยงปลา ปลูกไม้โตเร็ว ที่ต้องขายที่ดินและกิจการให้บริษัทเอกชนการเกษตรขนาดใหญ่และผันตัวเองเป็น แรงงานในฟาร์ม เรื่องการเข้าไม่ ถึงทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะน้ำ ทะเล ป่า และทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลายที่อยู่ในป่า ซึ่งเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงขนาดเล็ก ทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต เกษตรกรชายเขตป่าถูกตัดขาดจากทรัพยากรในป่า ชาวประมงพื้นบ้านถูกเรืออวนรุนอวนลากทำลายแหล่งหากิน พันธุกรรมพื้นเมืองทางการเกษตรถูกทำลายลงด้วยความเข้าใจผิดของนักวิชาการว่า เป็นของด้อยค่าจนเกษตรกรไม่สามารถใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์พื้นเมืองได้อีก แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการเกษตรถูกจัดการด้วยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และควบคุมโดยรัฐทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ที่ดินรอบแหล่งน้ำสาธารณะหลายแห่งถูกบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่กว้านซื้อแล้ว ยึดแหล่งน้ำสาธารณะเป็นของส่วนตัว เรื่องหนี้สิน มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกหนี้สถาบันการเงินในระบบและประเด็นที่สองหนี้นอกระบบ ซึ่งหนี้ทั้งสองระบบเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เริ่มจากหนี้สินเกษตรกรในระบบเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก เพิ่มในอัตราที่สูงกว่าหนี้สินครัวเรือนทั่วไปด้วยวิธีการหมุนหนี้ การกู้หนี้ครั้งแรกเป็นจำนวนไม่มากแต่รายได้จากการเกษตรก็ไม่พอใช้หนี้จึง ต้องกู้หนี้ครั้งที่สองเพื่อเอามาใช้หนี้และดอกเบี้ยหนี้กู้ครั้งแรกและ เหลือส่วนหนึ่งไว้ใช้สอย กู้ครั้งที่สามก็เพื่อใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้ครั้งที่สองและ เหลือส่วนหนึ่งไว้ใช้สอย เมื่อกู้จนยอดหนี้สินชนเพดานทรัพย์ประกันไม่สามารถหมุนเงินกู้ในระบบต่อไป ได้ ก็ต้องดิ้นรนกู้เงินกลุ่มเงินกองทุนในหมู่บ้านมาหมุนต่อ สุดท้ายก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยสูงร้อยละ 5-20 ต่อเดือนมาผ่อนใช้หนี้ในระบบ                  เรื่องตลาด ตลาดเป็นของพ่อค้าแต่การลงทุนและความเสี่ยงเป็นของเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดราคาตลาด ราคาผลผลิตการเกษตรจึงไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน ขึ้นๆลงๆตามอำนาจซื้อของพ่อค้าขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ ไม่เคยลดลง                   เรื่องสุข ภาวะ เคยนำเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายอาชีพเกษตรกรแม่น้ำปราจีนบุรีมาตรวจวัดสารเคมี ในเลือดพบว่าเกษตรกรร้อยละ 70 มีสารเคมีในเลือดในระดับเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การพูดคุยกับเครือข่ายเกษตรกรอื่นทั่วประเทศก็มีสถานการณ์เช่นเดียวกัน การช่วยเหลือเกษตรอย่างเป็นระบบจะต้องแก้ปัญหาการทำมาหากินในทุกห่วงโซ่ มิใช่ว่ามาแก้ตรงห่วงโซส่วนปลายสุดเช่นราคาข้าวเปลือก เป็นต้น