นิติศาสตร์รอบตน/ณรงค์ ใจหาญ สิทธิของเด็กแรกเกิดจนถึงสามปีนั้น ควรได้รับโอกาสที่จะดื่มนมแม่ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์และมีผลต่อเด็กในด้านความฉลาด และภูมิคุ้มกันโลก และได้รับความผูกพันระหว่างแม่และลูก และแม่เองก็จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เต้านม มะเร็งรังไข่ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งมาตรการที่หลายๆประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนให้ทารกหรือเด็กได้ดื่มนมแม่นั้น เริ่มด้วยให้โอกาสที่หญิงจะลาเลี้ยงบุตรได้ถึง 30-60 วันโดยได้รับค่าแรง หรือเงินเดือน และแม้ว่าจะต้องโทษประหารชีวิต ก็ให้งดโทษไว้จนกว่าจะเลี้ยงบุตรได้จนครบสามปี หากยังมีชีวิตรอดก็จะยกเว้นโทษประหารชีวิต ให้เปลี่ยนมาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน หรือการรณรงค์ให้แต่ละหน่วยงานจัดให้มีพื้นที่เพื่อให้หญิงที่มีบุตรแรกคลอดได้ให้นมบุตรได้ในที่ทำงาน หรือการมีตู้เย็นเพื่อเก็บนมไว้และให้นมแก่บุตรในเวลาต่อมา มาตรการทั้งหมดนี้เพื่อให้ทารกหรือเด็กที่อายุไม่เกินสามปี ได้รับนมของแม่ซึ่งดีที่สุด และมีคุณค่าทางอาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่บุตรโดยไม่สามารถใช้นมหรืออาหารเสริมที่ผลิตขึ้นมาแทนได้ ดังนั้น การให้ทารกแรกเกิดหรือที่มีอายุไม่เกินสามปีดื่มนมผงนั้นก็จะกระทำเท่าที่จำเป็นอันเนื่องมาจากข้อจำกัดที่เด็กไม่อาจดื่มนมแม่ได้เท่านั้น อย่างไรก็ดี เพราะเหตุจำเป็นหลายประการทั้งในด้านที่มารดาจะต้องทำงานห่างจากที่ทำงาน หรือทัศนคติค่านิยมที่ไม่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอดีต และให้นมวัวหรือนมผงแทน ทำให้มีการผลิตนมผงสำหรับทารก และนมเด้กเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก รวมถึงบริษัทที่ผลิตนมทารกและนมเด็ก รวมถึงอาหารเสริมก็มีการส่งเสริมการตลาดด้วยการประชาสัมพันธ์ การลด แลก แจก แถม การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายของตน ทำให้แม่บางคนที่มีความจำเป็นไม่อาจให้นมลูกได้ตลอดเวลา หันมาใช้นมผงแทนอันก่อให้เกิดผลที่ตามมาซึ่งทำให้เด็กขาดสารอาหารที่ดีและไม่ได้รับเอนไซด์ สารต้านภูมิแพ้ แอนติบอดี้ ฮอร์โมนบางชนิดที่ผ่านทางนมแม่ไป ทำให้สุขภาพของลูกไมดีในระยะต่อมา กรมอนามัย ได้ตระหนักในเรื่องนี้ และได้มีประกาศควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2527 และมีการปรับปรุงต่อมาในปี 2551 แต่ประกาศควบคุมดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับที่เข้มงวด เพราะไม่มีกฎหมายรองรับข้อห้ามดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และมีการละเมิดข้อห้ามเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้ผ่านกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กขึ้นมาเพื่อกำหนดข้อห้ามการโฆษณา และกลไกในการส่งเสริมการขายนมผงเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขาย การตลาดทางตรง ทางอินเทอร์เน็ต การโฆษณา และการใช้พนักงานขายเป็นตัวแทนให้ต้องปฏิบัติตาม และมีมาตรการทางอาญาลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย กฎหมายฉบับนี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 72 ก ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก (อายุไม่เกินสิบสองเดือน) และเด็กเล็ก (อายุเกินสิบสองเดือนจนถึงสามปี) ซึ่งเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ส่ากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่:ซึ่งประเทศไทยให้การรับรอง ( The International Code of Marketing of Breast-milk substitutes) ซึ่งมีการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 34 และครั้งที่ 63 มีมติให้ประเทศต่างๆ นำไปกำหนดเป็นกฎหมายภายในเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลดังกล่าว หลักการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ข้างต้น มีหลักสำคัญเป็นข้อห้ามสี่ประการและควบคุมข้อมูลที่นำเสนอไว้ สองประการ กล่าวคือ 1. ห้ามพนักงานการตลาดติดต่อกับหญิงมีครรภ์ แม่และครอบครัว 2.ห้ามส่งเสริมผลิตภัณฑ์แก่สาธารณชน 3. ห้ามแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์และของขวัญฟรีแก่แม่ 4. ห้ามให้ของขวัญแก่บุคลากรทางการแพทย์ และ 5. ห้ามใช้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ส่วนข้อที่ควบคุมการนำเสนอข้อมูล ได้แก่ 1 สื่อที่นำเสนอ จะต้องไม่มีภาพของทารก และต้องไม่มีข้อความที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ หรือแสดงให้เห็นว่าเมื่อใช้เลี้ยงทารกแล้ว จะมีพัฒนาการที่ดี และ 2. บริษัทต้องติดตามและตรวจสอบว่าได้ดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กฎหมายฉบับนี้ มีคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีกรรมการอื่นอีก และมีอธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 10 โดยกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ และส่งเสริมสนับสนุนการเฝ้าระวังการส่งเสริมการตลาด และให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายนี้ และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในหมวดที่ 3 เพื่อเข้าไปในสถานที่ เพื่อตรวจสอบ การกระทำความผิด เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ยึด อายัดเอกสาร สื่อโฆษณา เรียกให้บุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร ได้ (มาตรา 30-33) ข้อห้ามที่กำหนดไว้ ได้แก่ ห้ามการโฆษณาอาหารสำหรับทารกหรือโฆษณาอาหารสำหรับเด็ก โดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเล็กเล็กในสื่อโฆษณา ที่มี่ลักษณะเชื่อมโยงแล้วทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก (มาตรา 14) และห้ามโฆษณาอาหารเสริมสำหรับทารก (มาตรา 25) ถ้าฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทคลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 34) ส่วนการแสดงสลากอหารสำหรับทารก หรือเด็กเล็กต้องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้ง่าย และฉลากดังกล่าวต้องแตกต่างจากสลากอาหารอบ่างอื่น (มาตรา 15) สลากอาหารเสริมสำหรับทารก ต้องแตกต่างจากอาหารเสริมอื่น (มาตรา 26) หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 35) ถ้าผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก หรือเด็กเล็ก หรือไม่ให้ข้อมูลตามที่กำหนดในมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท (มาตรา 36) หรือให้ข้อมูลแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ หรือมอบสิ่งของให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข โดยมีตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นมหรืออาหารเสริม มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท (มาตรา 37) แต่ถ้าแจกคูปอง หรือให้ส่วนลด ขายพ่วง แลกเปลี่ยนหรือให้ของรางวัล หรือแจกอาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก หรือตัวอย่างอาหารดังกล่าว หรือให้แก่หญิงมีครรภ์ หรือบุคคลในครอบครัว หรือติดต่อหญิงให้คนในครอบครัวเพื่อส่งเสริมการขาย (มาตรา 18) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท (มาตรา 38) หรือเสนอให้ของขวัญ เงินหรือสิ่งจูงใจแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท (มาตรา 39) หรือสนับสนุน การจัดประชุม สัมมนา อบรม เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หญิงมีครรภ์ หญิงมีบุตรที่เป็นทารกหรือเด็กเล็ก (มาตรา 21) ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (มาตรา 40) หรือสาธิตการใช้อาหาร เพื่อประโยชน์ทางการค้า (มาตรา 22) ปรับไม่เกิน สองแสนบาท (มาตรา 41) เป็นต้น และมีความผิดอื่นอีกหลายฐาน โดยสรุป การกำหนดมาตรการควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมและอาหารเสริมนี้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีโทษทางอาญา เพื่อบังคับแก่ผู้ฝ่าฝืน และมีโทษปรับสูง เพราะผู้กระทำผิดจะเป็นผู้จำหน่ายและบริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้า ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ อันจะนำมาซึ่งผลให้ลดการจำหน่ายนมทารกและเด็กเล็กลง และจะใช้ต่อเมื่อกรณีจำเป็นที่เด็กไม่สามารถดื่มนมแม่ได้เท่านั้น จึงเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมของตนเองไปโดยปริยาย และส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของลูกในอนาคต