พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ อดีตสันติกโรภิกขุ หรือ Robert David Larson ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) พูดถึงความเป็นไปในวงการพุทธศาสนาของไทยได้บางตอน ตอนเด็ดๆ อย่างเช่น “เพราะไปให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์เกินไป โดยที่คนมาบวชส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ด้วย ผม (สันติกโร) มั่นใจว่า พระ(ไทย) 95% ถ้าแต่งงานได้ก็ไม่ปฏิเสธ” เขาพูดไว้อย่างนี้ ถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงมากในห้วงเวลานั้น ซึ่งก็แค่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันยังคงร้อนแรงมาแม้จนกระทั่งถึงตอนนี้ ด้วยเหตุที่สถานการณ์ทางด้านพระศาสนาของเราอยู่ในขั้นเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะรู้ตัวกันหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อกระแสความสนใจพระพุทธศาสนาในหมู่ชาวตะวันตก อย่างชาวอเมริกันเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เห็นได้ว่า ทุกวันนี้ ตามร้านหนังสือในอเมริกา มีหนังสือแนวพุทธออกมาวางจำหน่ายมากมาย ศาสตร์ตะวันออกแขนงพุทธศาสน์ กำลังได้รับความสนใจ จากคนอเมริกันหลายกลุ่ม แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นศาสนิกนาพระพุทธนิกายมหายานและสายตันตระยาน ซึ่งสายหลังนี้ คนอเมริกันได้รับอิทธิพลจากองค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางการเมืองของทิเบตที่เดินทางมายังอเมริกา ค่อนข้างบ่อย ดาไลลามะ เข้าพบนักการเมืองและบุคคลสำคัญของอเมริกันหลายครั้งหลายครา ถึงกระทั่งมีสถาบันทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอย่างมหาวิทยาลัยนาโรปะเกิดขึ้น เพื่อเสนอความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่างเป็นวิชาการ โดยเฉพาะศาสนาพุทธนิกายตันตระมานานหลายปี สะท้อนถึงการมีเสรีภาพทางการศึกษา หรือด้านวิชาการที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ ตราบเท่าที่ผู้ที่ต้องการเปิดดำเนินกิจการอยู่ในกฎเกณฑ์แห่งตัวบทกฎหมายการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งกรณีของสถาบันการศึกษาสายทิเบตนั้น “นาโรปะ” นับว่าควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างของนิกายพุทธเถรวาทในแง่ของการเป็นสถาบันที่ให้การศึกษากับผู้ที่สนใจด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมทิเบต โดยที่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทของเรา (ที่มีหลายประเทศเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น จากไทย จากศรีลังกา จากพม่า จากลาวจากเขมร) ยังไม่มีการจัดการงานเผยแผ่พระศาสนาในเชิงลึก หากมุ่งเอาวิธีการแบบฉาบฉวยด้วยการแข่งกันสร้างวัด หรือศาสนสถานแต่เพียงอย่างเดียว มิไยที่จะคำนึงว่า พระสงฆ์ที่อยู่ประจำนั้น จะมีคุณภาพกันมากน้อยเพียงใด ปัญหาดังกล่าวไม่เป็นที่สนใจของชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเท่าใดนัก หากปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม กลุ่มใคร กลุ่มมัน เอาความคิดเสรีแบบไทยๆ เข้าถูข้าง ในส่วนของหน่วยงานของรัฐไทยที่มีหน้าที่สนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ขอบเขตการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พ.ศ. ยังไม่ชัดเจนว่า ว่ามีมากน้อยเพียงใด อย่างน้อย พ.ศ.เองน่าจะศึกษาความเปลี่ยนแปลงของบริบด้านศาสนาของคนอเมริกันดูบ้าง เพราะเวลานี้พระพุทธศาสนาได้รับความนิยมค่อนข้างมากในหมู่คนอเมริกัน กลายเป็นเทรนด์ร่วมสมัย และมีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ แทนที่จะมุ่งเน้นงานเผยแผ่ด้วยการสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานเพียงอย่างเดียว แต่หันมาสร้างสถาบัน เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของสังคมอเมริกันน่าจะจะดีกว่าหรือไม่? พ.ศ. เองที่มีหน้าที่โดยตรงน่าจะ นำเรื่องราวทำนองนี้ไปศึกษา และเสนอต่อรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะทำหรือไม่นั้น ก็ต้องดูกันอีกทีว่ารัฐบาลมีกึ๋นถึงหรือไม่ และเรื่องนี้ก็น่าจะคาบเกี่ยวไปถึงมหาเถรสมาคม (มส.)ที่รับผิดชอบต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ของไทยด้วยเช่นกัน ความสนใจของอเมริกันต่อศาสนาพุทธกันนั้น พวกเขาต้องการนำหลักธรรมและวิธีการปฏิบัติ เช่นข้อปฏิบัติด้านการภาวนามาแก้ปัญหาชีวิต หมายถึงการแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาทางด้านวัตถุได้ด้วย การที่อเมริกันประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา หรือกำลังเป็นไปอยู่นี้ ก็เป็นเหตุให้คนอเมริกันแสวงหาทางออกให้กับชีวิตในรูปแบบที่หลากหลายมากกขึ้น น่าเสียดายที่เราไม่มีกลไกบริหารจัดการพระพุทธศาสนาในต่างแดนเลย หากมุ่งไปในทางการสร้างวัตถุเสียมากกว่า การบ่มเพาะเรื่องการศึกษา แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาสก็กำลังละเลยโอกาสนี้ ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจอาเซียน( ASEAN) เราก็ต่อจิ๊กซอว์ ในเรื่องการศาสนาไม่ได้ ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของอาเซียน ต่างคนต่างทำกันไป เหมือนๆ ที่ผ่านมา สาเหตุของความสนใจศาสนาของอเมริกันส่วนหนึ่งมาจากความทุกข์ทางจิตและพยายามหาทางออก ความสนใจนี้มีผลต่อการจัดการหรือวางสถานภาพของตัวเอง(น่าจะส่วนใหญ่)ของคนอเมริกันในฐานของการเป็นคนธรรมดา หรือเป็นฆราวาส หาใช่ในสถานะของนักบวชไม่ นี่คือกระแสปัจจุบัน มันเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งแม้แต่ในเมืองไทยก็มีกระแสที่ว่านี้นี้ คือ ผู้คนหันมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น ขณะที่จำนวนนักบวช หรือจำนวนพระสงฆ์ลดลงเรื่อยๆ (ในเมืองไทยยังมีปัญหาเรื่องสถานภาพของนักบวชหญิง ทั้งภิกษุณีและแม่ชี ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่จนถึงเวลานี้ หากนักบวชหญิงเหล่านี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อเรียกร้องรับรองสถานภาพทางด้านข้อกฎหมาย เชื่อว่า จำนวนของนักนักบวชหญิงในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมาก แม้จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขดีเลิศเพียงใด จำนวนนักบวชชายก็มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าใจหาย) ปัญหาด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์นั้น พ.ศ.น่าจะที่จะไปลองทำการวิจัยปัญหาที่เกิดขึ้นดูว่า เกิดจากสาเหตุใด และควรแก้ที่จุดไหน อย่างไร เพื่อให้การจัดวางสถานภาพนักบวชประเภทต่างๆ โดยเฉพาะพระภิกษุ อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมกับยุคสมัย ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายคณะสงฆ์เองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการชำระเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการจัดวางสถานภาพที่เกื้อกูลต่อความใส่ใจต่อศาสนธรรมเชิงพุทธของฆราวาส คือ การมุ่งไปที่ความสามารถในการศึกษาและการปฏิบัติธรรม โดยผู้สนใจยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ทำงาน ใช้ชีวิตประจำวันหรือครองเรือนตามปกติ การปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลต่อตนเองและสังคมที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ เวลานี้ในอเมริกา มีชุมชนชาวพุทธอเมริกันอยู่จำนวนไม่น้อย และมีผู้สนใจใฝ่รู้พุทธธรรมจำนวนมาก ปัญหาคือ เราในฐานะเป็นประเทศต้นแบบทางพุทธประเทศหนึ่งจะต้องทำอย่างไร เพื่อส่งผ่านพุทธธรรมให้คนเหล่านี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันในส่วนบุคคล และในระดับสถาบันหรือองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ