สถาพร ศรีสัจจัง ปรากฏการณ์ “รัฐประหาร” ( Coup d'etat ) อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่มากับพัฒนาการระบบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” ของกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกว่า “โลกที่ 3” ( The third world) มาโดยตลอด(ไทยกับเมียนมาก็สังกัดอยู่ในโลกชนิดนี้ ตามคติความเชื่อของชาติมหาอำนาจ) การ “นำเข้า” สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” (แบบตะวันตก) สู่ประเทศโลกที่ 3 ทั้งหลาย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945 แต่นักวิชาการหลายท่านบอกว่าที่สิ้นสุดจริงคือ ค.ศ.1963...) ที่ประเทศเมืองขึ้นของบรรดาประเทศจักรพรรดินิยมตะวันตกทั้งหลายในยามนั้น มักได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม (ทั้งโดยต่อสู้เอา และโดยเจ้าอาณานิคมถูกกดดันจากปัจจัยอื่นๆ) และผู้ที่ “นำเข้า” ระบอบดังกล่าว มาประสิทธิ์ประสาทหรือมา “จัดตั้ง” ให้ส่วนใหญ่ก็คือบรรดาเจ้าอาณานิคมจอมกดขี่ขูดรีดทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง! ประเทศสยามหรือ “Thailand” ( พ.ศ.2482 ชื่อ “สยาม” ถูกเปลี่ยนเป็น “Thailand” หรือ “ประเทศไทย” ในยุคนายกรัฐมนตรีคนที่ชื่อ หลวงพิบูลสงคราม หรือ นายแปลก คีตะสังคะ หรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม 1ใน “ผู้นำ” ของ “คณะราษฎร” ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ.2475 ผู้สร้างยุค “มาลานำไทย” อันยาวนานและเต็มไปด้วยการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจกันเองคนนั้นนั่นแหละ!)นั้น แตกต่างไปจากบรรดาเพื่อนบ้านประเทศในย่านเอเซียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ สปป.ลาว หรือ พม่า ประเด็นที่แตกต่างอย่างสำคัญที่สุดก็คือ “สยาม” ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นหรือ “อาณานิคม” ของประเทศทุนจักรพรรดินิยมตะวันตกชาติไหนเลย ตั้งแต่ยุคสเปน ฮอลันดาหรือดัตช์ จนถึงยุคสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา ในขณะที่ แม้แต่บรรดาประเทศ “ยักษ์ใหญ่” ในเอเซียในยุคนั้น เช่น จีนและอินเดีย ก็ล้วนตกเป็นเมืองขึ้นและ “ถูกรุมกินโต้ะ” โดยจักรวรรดินิยมตะวันตก(โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส) แทบจะทั้งสิ้น ประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียอาคเนย์หรือ “อาเซียน” ในปัจจุบันนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง บางประเทศ เช่น อินโดนีเซียต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกหลายชาติ ตั้งแต่ สเปน จนถึงฮอลันดาหรือดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์(ยาวนานถึงสามร้อยกว่าปี) แถมท้ายสุด ยังเคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติเอเซียด้วยกันอย่างญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่งด้วย ฟิลิปปินส์นั้นก็ไม่เบา กองเรือของจักรวรรดินิยมยุคโบราณอย่างสเปนเข้ายึดครองตั้งแต่ค.ศ.1565 ยาวนานจนถึงปีค.ศ.1898 จากนั้นจึงตกเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา (เจ้าของคำโฆษณา 'เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ'ที่ดีแต่ปาก)จากค.ศ.1898-1946 อีกต่อหนึ่ง มาเลเซีย-สิงคโปร์ และ บรูไน นั้นเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ส่วนเวียดนาม กัมพูชา(เขมร) และ ลาว เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส กล่าวเฉพาะพม่าหรือ “เมียนมา” ในปัจจุบัน (เมืองที่นักประวัติศาสตร์ไทยยุคเก่ายกให้เป็น “อริราชศัตรู” สำคัญของไทย) สูญเสียเอกราชอย่างสิ้นเชิงให้แก่อังกฤษมาตั้งแต่ค.ศ.1885 (ทำสงครามแพ้อังกฤษมา 3 ครั้ง) กล่าวโดยสรุป เมียนมาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมามากว่าศตวรรต ก่อนที่จะถูกญี่ปุ่นยึดในปี ค.ศ.1943 และ ญี่ปุ่นตั้งให้ พลตรีอู้ อองซาน (บิดาของนางออง ซาน ซูจี) ผู้นำขบวนการปลดปล่อยพม่า (ประกาศตั้งขบวนการที่กรุงเทพฯภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่น) ก่อนที่อู้อองซานจะถูกลอบสังหารโดยการกราดยิงพร้อมสมาชิกอีก 6 คน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 พลตรีอู้อองซานเสียชีวิตตอนอายุเพียง 32 ปี โดยไม่ทันได้เห็นเอกราชที่แท้จริง เจ้าอาณานิคม คือ สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษมอบให้ ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 ก่อนหน้าที่อังกฤษจะเข้ายึดครองพม่า (เริ่มจากบางส่วนจนยึดได้ทั้งหมด) เป็นที่ทราบกันดีว่าพม่าก็มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์(บางส่วน) มาคล้ายๆกับราชอาณาจักรสยาม กล่าวคือ มีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมีกษัตริย์เป็น “เจ้าแผ่นดิน” หรือ “เจ้าชีวิต” มีอำนาจเบ็ดเสร็จในราชอาณาจักรของพระองค์ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือ “พม่าเสียเมือง” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็จะเห็นและเข้าใจถึงรายละเอียดว่าระบบกษัตริย์ในช่วงจะ “เสียเมือง” ของพม่านั้นเป็นเช่นใด ! กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือกษัตริย์ในราชวงศ์คองบอง นามพระเจ้าธีบอ หรือ สีป่อ(เพราะมีพระราชมารดาที่เป็นเจ้าหญิงไทใหญ่จากเมืองสีป่อ เมืองไทใหญ่เล็กๆที่ “เจ้าหลวง” ผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือ “เจ้าจ่าแสง” ผู้สร้างตำนานรักลั่นโลกกับ “มหาเทวี” ของพระองค์ คือ อิงเง่ ทราเจ้น หญิงสาวชาวออสเตรียผู้เขียนหนังสือ “ก่อนสิ้นแสงฉาน” อันโด่งดังนั่นไง ใครอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ก็ให้ไปหาอ่านหนังสือชื่อดังว่ากันเอาเอง!) เขียนมาตั้งนาน ยังไม่เห็นเค้าเลยว่าจะโยงเข้ามาเกี่ยวกับเรื่อง “กรณีรัฐประหาร” ระหว่างเมียนมากับไทยได้อย่างไร แต่ก็ลองตามมาดูกันหน่อยเถอะน่า!!!