สถาพร ศรีสัจจัง ถ้าจะนำหลักการวิเคราะห์สังคมแบบ “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” (Dialectical Materialism) และ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (Historical Materialism) ของคาร์ล มาร์กซ์ “บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์” มาใช้วิเคราะห์สังคมไทยและสังคมพม่าหรือเมียนมา เพื่อพิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยทางประวัติศาสตร์ ที่ส่งผลถึงปัจจุบันของทั้ง 2 สังคม ก็จะพบว่า พม่าและไทย มีทั้งส่วนร่วมและส่วนต่างที่ฉกรรจ์อยู่หลายเรื่องหลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะเหตุปัจจัยทางประวัติศาสตร์ในยุคใกล้ อันได้แก่พัฒนาการทางสังคมของทั้ง 2 ประเทศในช่วง 200 ปี หรือ 2 ศตวรรษที่เพิ่งพ้นผ่าน ที่มีผลต่อ “คุณภาพภายใน” หรือ “อัตวิสัย” ของแต่ละสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้! ใครที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ย่อมรู้ว่าในห้วงเวลาก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กษัตริย์ 2 พระองค์ คือพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอหรือสีป้อของพม่า กับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4) กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5) ของไทย ล้วนต้องผ่านการเผชิญกับการรุกเข้ามา “ล่าเมืองขึ้น” ของมหาอำนาจชาติจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศสมาคล้ายๆกัน! เราจะไม่ลงในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เอาเป็นว่า ใครที่สนใจจะลงลึก เพียงพิมพ์ “คีย์ เวิร์ด” ที่เกี่ยวข้อง แล้ว “คลิก” ถาม “อาจารย์กู๋” ข้อความต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งที่เป็น “ตัวบท” (Text) และ บทความเชิงวิเคราะห์ (Critical Article) ก็จะปรากฏพรั่งพรูขึ้นมาให้เลือกอ่านเลือกศึกษาเรียนรู้ได้อย่างมากมาย แต่ประเด็นที่น่าสนใจควรพูดถึงก็คือ กระบวนการตั้งรับเพื่อการดำรงอยู่ของประเทศ และ “วิเทโศบาย” ของทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทย ต่อการเข้ามารุกรานของชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกเหล่านั้นต่างหาก! หลักฐานประวัติศาสตร์บอกเราว่า พระมหากษัตริย์ไทยเริ่มตระหนักถึง “ภัย” จากการรุกรานของชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกมาตั้งแต่ยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 3 พระองค์ถึงขนาด “ตรา” เป็นพระราชดำรัสเตือนไว้ในทำนองว่า ต่อไปภัยสงครามจากทางเมียนมา-ญวน คงไม่มีแล้ว แต่จะต้องระวังชาติตะวันตกไว้ให้จงดี ครั้นถึงยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 พระองค์จึงมีการ “ปรับปรน” โดยการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของชาติตะวันตก (อย่างแยกแก่นทิ้งกาก) และ ดำเนินพระวิเทโศบายต่อชาติตะวันตก(โดยเฉพาะอังกฤษ)ในเชิงรุกอย่างชาญฉลาดนานัปการ โดยการเรียนรู้จากพระราชบิดา ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ “สืบสานและต่อยอด” พระวิเทโศบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง และเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากการเสด็จยุโรปถึงสองครั้งสองครา รวมทั้งผลักดันส่งเสริมให้บรรดาพระราชโอรส เจ้านายต่างๆ และบุตรหลานราษฎรที่มีความสามารถโดดเด่น ให้ได้รับทุนไปศึกษาศิลปวิทยาการสมัยใหม่จากชาติยุโรป ทั้งด้านการทหารและด้านประยุกต์วิทยาทั้งหลายทั้งปวง ขณะที่ประวัติศาสตร์พม่าบอกเราในหลายส่วนว่า แม้พระเจ้ามินดง(ช่วงเวลาเดียวกับรัชสมัยล้นเกล้ารัชการที่ 4 ของไทย) จะทรงปรีชาสามารถอย่างไร แต่ก็ต้านอังกฤษไม่อยู่ เริ่มต้องเสียดินแดนบางส่วนให้อังกฤษตั้งแต่รัชสมัยของพระองค์ และประเทศพม่าก็ต้องกลายเป็นแผ่นดินที่ถูกยึดครองอย่างเต็มรูปโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษในรัชสมัยของพระเจ้าธีบอหรือสีป้อ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระองค์ (อังกฤษปกครองพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2367 จนถึง พ.ศ.2491) ในเรื่องนี้ หากใครเคยได้อ่านบันทึกของเพระเจ้าธีบอหรือสีป้อ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า ที่ถูกเนรเทศให้ไปประทับอยู่ที่เมืองรัตนบุรีของอินเดีย (สมัยอังกฤษปกครองอินเดีย) ที่ทรงกล่าวถึงล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ของไทย (ทั้ง 2 พระองค์อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน) ที่ได้รับการต้อนรับจากอังกฤษ(ให้ทรงประทับในพระราชวังบัคกิ้งแฮมในฐานะพระราชอาคันตุกะ)และชาติต่างๆในยุโรปอย่างสมพระเกียรติ ขณะที่พระองค์ซึ่งเป็นหลานเหลนของพระเจ้าอลองพญาผู้ยิ่งใหญ่ กลับต้องไปพำนักอยู่ “บนมูลวัวควาย” ฯลฯ แล้วก็คงจะนึกภาพออก ว่า เฉพาะพื้นฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันใกล้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับ “องค์คุณ” ของสถาบันกษัตริย์เพียงเรื่องเดียว ก็แสดง “เหตุปัจจัย” ให้เห็นได้ชัดเพียงใดเกี่ยวกับ “ความแตกต่าง” ในด้าน “คุณสมบัติภายใน” ของทั้ง 2 สังคม อย่างมี “นัยสำคัญ”! อย่าว่าแต่ ยังมี “เหตุปัจจัย” ใหญ่น้อยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ส่งผลให้การ “รัฐประหาร” (ครั้งสำคัญๆ) ของ 2 ประเทศนี้มี “ผลสะเทือนทางสังคม” ที่แตกต่างกันอย่างแทบจะโดยสิ้นเชิง!!!