ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล การเดินทางไปเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี๊ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้วของคณะนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการได้รับคำเชิญจากประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ที่ได้เชิญกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ EMDCD : EMERGING MARKETS AND DEVELOPING COUNTRIES DIALOGUE กลุ่มประเทศเหล่านี้มีเอกลักษณ์ และมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่ดีกับจีนจำนวน 5 ประเทศ ในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ ได้แก่ หนึ่ง ไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน สอง สหรัฐแม็กซิโก ในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่ม 20 และตัวแทนจากภูมิภาคลาตินอเมริกา สาม สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง สี่ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และห้า สาธารณรัฐกินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา แนวคิดของจีนนั้นนับว่า “ลึกซึ้ง” มากที่มี “วิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์” แนว “อนาคตศาสตร์” ที่มุ่งสู่การสร้างพันธมิตร เสมือนสร้างแนวร่วมแบบสร้างประเทศน้องเล็กรายล้อมพี่ใหญ่แบบทั่วโลก เพื่อเป็นกำแพงป้องกันในการให้ข้อมูลข่าวสารพร้อมส่งเสริมการค้าเสรี และร่วมต่อต้านการผูกขาดตลาดการค้า หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่าเป็น “แนวร่วมทางการปล่อยสินค้าแบบเสรี” โดยไม่มีภาษีศุลกากรร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศทั้ง 5 กับประเทศจีน และในทางกลับกัน อาจจะขยายแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเท่ากับ “ขยายวงให้กว้างมากขึ้น” ในการ “ขยายวงอำนาจ” ของประเทศจีนในการเป็น “ซุปเปอร์พาวเวอร์ทางเศรษฐกิจ” ของประเทศจีนในอนาคต ที่เท่ากับเป็นการขยายวงกว้างและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หรือเป็น “การสร้างและขยายฐานทางเศรษฐกิจสำหรับอนาคต” ซึ่งอเมริกากำลัง “สั่นคลอน!” สรุปแล้ว การเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าประเทศไทยได้รับผลสำเร็จกลับมา “ตุงกระเป๋า” ท่านนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ “ข้อตกลงรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน” ส่วนอีกกรณี ข่าวในเชิงวรรณกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีคุณทักษิณ ชินวัตร (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ที่ทวิตเตอร์วาทะคำพูดของมงแต๊สกีเยอ (MONTESQUIEU) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ที่คุณทักษิณได้ตัดใจความบางตอนไว้ว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งต้องเรียนย้ำว่าเป็นเพียงหนึ่งประโยคที่คุณทักษิณนำมายกเป็นวาทะเท่านั้น แต่ถ้าอ่านวาทะกรรมทั้งหมดนั้นจะเข้าใจกระบวนความทั้งหมดว่า มองแต๊สกีเยอ มิได้หมายความเช่นนั้น โดยการเป็นนักปราชญ์นั้นย่อมมุ่งแต่สร้าง “คุณงามความดี” เมื่อพลิกดูประวัติของ บารอน มงแต็สกีเยอ หรือ ชาร์ลส์ หลุยส์ เดอ เช็กกองตาต์ เป็นขุนนางฝรั่งเศส ถือเป็นหนึ่งในนักปราชญ์ทางการเมืองคนสำคัญของโลก ที่เป็นผู้วางรากฐานการเมืองแนวประชาธิปไตย นอกเหนือจาก โทมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, วอลแตร์ พลาโต อริสโตเติ้ล เป็นต้น มงแต็สกีเยอ เกิดเมื่อปีค.ศ. 1689-1755 ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส บิดาเป็นนายทหารซึ่งเกิดในตระกูลผู้ดี โดยมงแต็สกีเยอ ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัย คาทอลิก แห่งฌุยชี มงแต็สกีเยอได้รับมรดกจากลุงที่เสียชีวิต และยังได้รับบรรดาศักดิ์ บารอง มงแต็สกีเยอ รวมถึงตำแหน่ง เพรซีด็องอามอร์ตีเย ในรัฐสภาเมืองบอร์โดด้วย มงแต็สกีเยอ ประสบความสำเร็จทางด้านวรรณกรรม และด้วยความสนใจด้านปรัชญาการเมือง ทำให้เขามีผลงานหนังสือหลายเล่ม แต่ผลงานชิ้นเอกของมงแต็สกีเยอ ก็คือ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “วิญญาณแห่งกฎหมาย” (The Spirit of Laws) หลังจากใช้เวลาศึกษาค้นคว้ากว่า 20ปี โดยหนังสือเล่มนี้ มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีอิทธิพลต่อสังคมตะวันตก และสหรัฐอเมริกา แนวคิดหลักของหนังสือ ‘วิญญาณแห่งกฎหมาย’ ของมงแต็สกีเยอ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อปี 1748 นั้น เขามีความเห็นว่า กฎหมายที่รัฐบาลแต่ละสังคมบัญญัติขึ้น ต้องสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ และเงื่อนไขทางขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม อีกทั้งเห็นว่า การปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด มงแต็สกีเยอ เห็นว่า อำนาจการปกครอง ควรแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ซึ่งการแบ่งอำนาจในการปกครองดังกล่าว เป็นการสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงอำนาจ จะช่วยไม่ให้ผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองหรือรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการได้ แนวคิดทางการเมืองของมงแต็สกีเยอ ถือเป็นแม่แบบของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ใช้แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ และการคานอำนาจทางการปกครอง ขณะเดียวกัน มงแต็สกีเยอ ยังได้รับการยกย่องอย่างสูงจาก อาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ ในฐานะผู้สนับสนุนเสรีภาพแบบอังกฤษ ทั้งนี้แนวคิดเชิงเสรีภาพและยกย่อง “กระบวนการยุติธรรม” ทางกฎหมายที่ต้อง “ยุติด้วยความถูกต้อง” โดยมิได้มุ่งบอกว่า “เป็นความเลวร้ายของกฎหมายที่ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเลย” นั่นคืออาจเป็นนัยยะที่ถูกนำมาใช้ก็ได้เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ!?! ในช่วงสุดท้าย นายวิษณุกล่าวต่ออีกว่า ต้องอ้างคำพูดอะไรสักอย่าง แต่ตัวเองจะไม่อ้างคำพูดของ “มงแต็สกีเยอ” แต่จะอ้างถึงบทละครของ “วิลเลียม เช็กสเปียร์” นักประพันธ์ชื่อดังระดับโลก ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้นำบทละครเรื่อง “เวนิสวานิช” มาแปลเป็นภาษาไทย โดยตอนหนึ่งมีการกล่าวถึง พ่อค้าเดินทางไปฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้พระเอกในเรื่องชดใช้หนี้เงินกู้ที่ยืมไป โดยพระเอกก็ขอใช้หนี้ด้วยการเฉือนเนื้อตัวเอง 3 ปอนด์ โดยศาลก็บอกว่าสามารถทำได้ แต่พ่อค้าห้ามเฉือนติดเลือดออกมาด้วย ไม่เช่นนั้นจะถือว่ากระทำการเกินกว่าเหตุ สุดท้ายพ่อค้าล้มเลิกความตั้งใจในการฟ้องร้องในที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “กระบวนการยุติธรรม” มีไว้เพื่อให้เกิด “การยุติ” โดยต้องเกิดความน่าเชื่อถือมากที่สุด พึงพอใจมากที่สุด แต่อย่าไปเอาร้อยเปอร์เซ็นต์ นายวิษณุกล่าวในช่วงท้ายว่า ซึ่งมาถึงตรงนี้ก็มีบทกลอนในละคร ที่แปลออกมาอย่างถูกต้องตามบทประพันธ์ของเช็กสเปียร์ว่า “ฉะนั้น ยิว แม้อ้างยุติธรรม จงกำหนดจดจำไว้ด้วยว่า ในกระแสยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ” ซึ่งแปลว่า ยิว เมื่อเอ็งอ้างความยุติธรรมก็ดีแล้ว แต่ช่วยจำไว้ด้วยว่า ในกระแสแห่งความยุติธรรม จะให้เป็นที่พอใจไปเสียหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอก ต้องมีคนได้คนเสียอยู่บ้าง เมื่อตัดสินก็จงยุติ สงบปากสงบคำไว้ อย่าไปทวิตเตอร์กันอีกเลย และขอจบแต่เพียงเท่านี้” เอวัง ด้วยประการล่ะฉะนี้!