สถาพร ศรีสัจจัง “...(10) มท 2.8/11 เรื่องเกิดอหิวาตกโรคที่เมืองตรัง (12-25 ส.ค. รศ.129) ...ได้เกิดโรคระบาดขึ้น นั่นคืออหิวาตะกะโรค (ใช้คำเดิมตามเอกสารจดหมายเหตุ) โดยได้พบในพื้นที่3 ตำบล นั่นคือ ตำบลนางาม ตำบลควรขัน อำเภอบางรัก และ ตำบลนางน้อยในอำเภอเมือง และได้ลุกลามมายังตำบลท่าจีน ตำบลละเมาะ และโคกยูงด้วย ซึ่งพบคนตายด้วยโรคนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ถึง วันที่ 25 สิงหาคม รศ.129 จำนวน 31 คน แต่คนเจ็บยังมีอีกมาก จึงได้สั่งให้หมอจันทร์ไปรักษาและจัดการป้องกันโรคนี้...” .................... “(12-25 ส.ค. รศ.129)...โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการ มณฑลภูเก็ต ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าเมืองต่างๆ ในการให้ความรู้แก่ราษฎร บังคับให้ราษฎร เอาใบหนาดหรือขนเป็ดขนไก่ มาสุมไฟที่ไต้ถุนทุกเช้าเย็น เมื่อโรคนี้หมดแล้วจึงให้เลิก การรักษาเบื้องต้น ให้เอาเหล้าบรั่นหนึ่งขวด ใส่การบูรหนัก 1 เหรียญ พอปวดท้องให้กินทันที กินคราวละถ้วยเชรี สักสามสี่คราว แล้วนัดยานัตถุ์แดงของจีน นัดจนกระจาม แล้วให้เอาเกลือหยาบขั้วให้ร้อน ประคบตามมือตามตีน ไม่ให้ตะคริวจับ..." ...................... ข้อความที่ยกมาเปิดเรื่อง คัดบางตอนมาจากเพจเฟซบุ๊คของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯตรัง ที่โพสต์เป็นบทความเพื่อพูดถึงเรื่อง “โรคระบาด” ไว้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 ที่จริงเรื่องเกี่ยวกับโรคระบาดในประเทศไทยนั้น เคยเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ อย่างน้อยในช่วงที่มีหลักฐานจารบันทึกไว้ ก็มีมาแต่ยุคอยุธยา ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ โรคระบาดสำคัญๆที่ปรากฏตามหลักฐานดังกล่าวอย่างน้อยมี 3-4 โรคสำคัญด้วยกัน ได้แก่ กาฬโรค อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ และไข้หวัดใหญ่(เหมือนCovid-19 นั่นแหละ)! ช่วงคาบเกี่ยวกับการตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น มีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นในยุโรปครั้งสำคัญ เป็นกาฬโรค(Plague) ที่มีพาหะคือหนู คนตายจะมีผิวดำคล้ำ เพราะเชื้อโรคเข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนัง จึงเรียกการตายจากกาฬโรคครั้งใหญ่นี้ว่า “Black death” และอาจจะเพราะเช่นนี้เอง เมื่อโรคนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทยจึงเรียกว่า “กาฬโรค” หรือ “โรคดำ” นั่นไง! ครั้งนั้นมีคนตายกันมาก กล่าวกันว่าความตายของผู้คนโดยเฉพาะในอังกฤษครั้งนั้น ถึงกับมีผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมหลายเรื่องทีเดียว ฟังว่า เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาของชาวอังกฤษที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ใครอยากรู้ลึกรู้จริงเรื่องนี้ก็คงต้องลองไปหาเอกสารหาหนังสือศึกษากันเอาเองก็แล้วกัน! ในช่วงใกล้ๆกันนั่นแหละที่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า มีกาฬโรคระบาดขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย บันทึกเมืองนครฯเรียกโรคนี้ว่า “ไข้ยมบน” ครั้งนั้นฟังว่ามีการทำพิธีสวดสะเดาะเคราะห์เมืองกันครั้งใหญ่ ครั้งนี้แหละที่มีการทำ “เงินนโม” ขึ้นหว่านโปรยในเขตเมืองเพื่อแก้เคล็ดด้วย! ที่จริงเรื่องเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศไทยนี้มีผู้ศึกษวิจัยและเขียนเป็นหนังสือหนังหาไว้ไม่น้อย เฉพาะของไทย เท่าพอนึกได้ก็เช่น “อ่านเรื่องอ่านโรค” ตอน2 : “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการจัดการโรคระบาดในสังคมไทย”/ “หมอบลัดเลย์กับสังคมไทย : เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ “เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย” โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม/หรืองานบางชิ้นของ จิราภรณ์ การะเกตุ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น แต่ที่ร่วมยุคร่วมสมัยที่สุดก็ต้อง “Covid-19” ที่กำลังสะเทือนโลกสะเทือนไทย(โดยเฉพาะนายกฯลุงตู่?) อยู่วันนี้นั่นแหละ ที่จริงโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า “โควิด-19” ก็เป็นเพียง “ไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์” ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง การกลายพันธุ์ครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นครั้งที่ 7 หรือครั้ง 8 เข้าไปแล้ว! ที่สำคัญก็คือการมาถึงของโควิด-19 ได้พิสูจน์อะไรหลายอย่างทีเดียว อย่างหนึ่งก็คือการพิสูจน์ว่า “คน” ที่อยู่ใน “ระบบ” ไหนที่สามารถ “จัดการ” กับ “การรุกราน” ของเจ้าโรคร้ายนี้ได้ดีกว่ากัน? เช่น ทำไมประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นแหล่งก่อเกิดเจ้าโรคนี้แท้ๆแต่กลับ “คุม” โรคได้อย่างอยู่หมัด มีคนติดเชื้อน้อย/ตายน้อย เมื่อเทียบกับประเทศเสรี(บริโภค)นิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะคือสหรัฐอเมริกาผู้ยิ่งใหญ่/ ยุโรปที่แสนจะอหังการ์/บราซิลที่มีผู้นำ “กร่าง” ไม่เคยเห็นโควิด-19 อยู่ในสายตา ฯลฯ แล้วในอาเซียนละ? เวียดนามและลาวที่เป็นสังคมนิยมเป็นอย่างไรบ้าง?ประเทศเสรีนิยมอย่าง อินโดนีเซีย/ฟิลิปปินส์/มาเลเซีย ฯลฯละเป็นอย่างไร? แล้วไทยแลนด์ ที่เคยชูคอว่าทำได้เยี่ยมละ ตอนนี้กำลังอยู่ในสภาพเช่นบรรดาท่านผู้นำจาก 3 พรรคการเมืองยังสบายดีกันอยู่หรือเปล่า? ยังขบเขี้ยวเคี้ยวฟันหันเข้าหาสามัคคีกันเพื่อถกหาทางแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างชื่นมื่นเหมือนเมื่อครั้งเพิ่งลงสัตยาบันตั้งรัฐบาลกันหรือเปล่า? เอ๊ะแต่ทำไมกลิ่นอายการยุบสภาฯจึงโชยมาจนได้กลิ่นตุ่ยๆ หรือจะเป็นจริงอย่างที่นักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของสื่อบางสำนักเขาว่ากัน? ลองช่วยวิเคราะห์กันหน่อยซิว่า “โควิด-19” เที่ยว 3 นี้ น่าจะ “เล่น” ใครแรงสุด?!!!