ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ “อาจจะเป็นเสียงน้อยนิดหรือเพียงเศษเสี้ยวของทรายในด้านการเรียกร้องสันติภาพ แต่ก็ให้ได้ทำ เพราะไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่ามันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย เพื่อนๆ ที่อยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนก็อยากเห็นสามจังหวัดร่มเย็นเป็นสุข” นี่คือเสียงจาก เกริ่น เขียนชื่น ช่างภาพอิสระ นักกิจกรรมทางสังคม ผู้ใช้เวลา 67 วัน แล่นเรือใบกอและชื่อ “ญีวอ ยัง ซามอ : หัวใจเดียวกัน” จาก “บางนรา-นราธิวาส” พื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย สู่ใจกลางมหานคร เลียบเลาะชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย ผจญคลื่นลมเผชิญแดดรวมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยไปขึ้นเทียบท่าที่ท่าเรือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากความตั้งใจเพื่อเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระบรมมหาราชวัง แล้ว เรือใบกอและ ญีวอ ยัง ซามอ ยังเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมเรียกร้อง “สันติภาพ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง เกริ่น เขียนชื่น มีความผูกพันเป็นอย่างมาก ในบันทึกชีวิตของ “เกริ่น เขียนชื่น” เขาบันทึกไว้ในตอนที่มีชื่อว่า “ญีวอ ยัง ซามอ...” ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ที่ผมได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เวลา 10 ปีที่ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่จำนวนทั้งหมด 49 ครั้ง ที่นี่เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 3 ของผม รองลงมาจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในจำนวนกว่า 20 ปีที่ผมปีนเขาลูกนี้มาทั้งหมด 71 ครั้ง หรือจะว่าไปแล้วก็คือบ้านหลังที่ 2 อะไรที่ดลบันดาลให้ผมเดินทางเข้าออกในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง ก้าวแรกอาจไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร มากมายสำหรับผม ผมก้าวเข้ามาเพื่อจะถ่ายภาพพระนั่งบิณฑบาตบนรถยนต์หุ้มเกราะของทหาร และในจำนวน 10 ปีที่ผมได้เดินทางเข้าออกไปทั่วทุกพื้นที่ ภาพพระบิณฑบาตบนรถยนต์หุ้มเกาะก็ยังไม่สามารถถ่ายได้ คงจะเป็นช่วงเวลาต้นๆ ของเหตุการณ์ที่ร้อนแรงทำให้มีภาพเช่นนี้ แต่ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว หลังการเดินทางด้วยสันติวิธี หรือการเดินสันติปัตตานีในปี พ.ศ.2553 ทำให้ผมต้องเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผมไม่ใช่นักสันติวิธี ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานของราชการ ไม่ใช่ NGO แต่มีสถานภาพเป็นเพียงพลเรือนคนหนึ่งที่อยากจะเข้ามาถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ผมเที่ยวตะลอนไปตามสถานที่ต่างๆ บางพื้นที่ไปซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายสิบครั้ง เพื่อให้สถานที่เหล่านี้เปิดมุมมองในโลกแห่งความสวยงาม ในโลกแห่งความสงบสุข มิใช่เป็นพื้นที่สีแดง ที่มีแต่การยิง การระเบิด การเข่นฆ่ากัน ผมถ่ายทอดออกมาทุกๆ ภาพในด้านบวก ด้านลบของเหตุการณ์หรือความรุนแรงผมจะพยายามไม่เข้าไปอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวเลย แม้ผมเคยพบเหตุการณ์วางระเบิด 15 จุด ทั่วเมืองปัตตานี คืนนั้นผมนอนอยู่ในโรงแรม CS ซึ่งเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของจังหวัดปัตตานี โรงแรมแห่งนี้เคยโดนระเบิดมาแล้ว ในคืนนั้นที่ระเบิดกันทั้งเมืองปัตตานี ไฟฟ้าดับหมดแม้นแต่ในโรงแรมก็ยังดับ บนฟากฟ้ามีเสียงเฮลิคอปเตอร์บินว่อน แต่ดูเหมือนจะไม่ปรากฏภาพที่อยู่บนฟากฟ้าเนื่องจากกลัวถูกลอบยิง ผู้คนที่เข้ามาพักอาศัยในโรงแรมต่างพากันหวาดกลัว ในบริเวณลอบบี้ของโรงแรมชั้นล่างคือที่ผู้คนรวมตัวกันมาอยู่ ไฟฟ้าดับ ในโรงแรมไม่มีไฟฟ้าสำรองจ่ายไฟให้กับผู้พักอาศัยทุกห้อง ทุกห้องมืดและร้อน แต่ไม่สู้กับความร้อนแรงภายในตัวเมืองที่เวลาขณะนั้นวุ่นวายสับสนกันไปหมด ในที่สุด เมื่อเดินทางมาถึงจุดๆ หนึ่ง เดินทางเข้ามาเพื่อสานสันติภาพทางด้านภาพถ่าย ถึงเวลานี้ 10 ปีพอดี ผมอยากจะสร้างฝันสันติภาพเล็กๆ น้อยๆ แม้รู้ว่าคงปลุกกระแสสันติภาพได้ไม่มากนัก แต่ก็อยากจะทำ “ญีวอยังสามอ” คือชื่อเรือกอและของผม เป็นเรือกอและชนิดเล็กที่สุดในสามจังหวัดที่มีคนขึ้นไปนั่งได้ ผมสั่งต่อขึ้นมาเองที่ปัตตานี เรือลำนี้เป็นภาษามลายู แปลไทยว่า “หัวใจเดียวกัน” ผมจะติดใบเรือแทนเครื่องยนต์ โดยอาศัยแรงลมขับเคลื่อนเรือใบกอและลำน้อยของผม มีต้นทางในการล่องที่สะพานคอยร้อยปี เกาะยาวตากใบ จังหวัดนราธิวาส หรือเป็นชายแดนที่ติดกับประเทศมาเลเซียแล้ว ผมจะล่องเรือใบไปตามอ่าวไทย ปลายทางอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา เรือใบผมคงไปไม่ถึงหรืออาจจะล่มอยู่กลางทาง ถ้าไม่ได้แรงขับเคลื่อนจากน้ำใจของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยู่ริมชายหาดอันยาวแสนไกล... ในที่สุด “ความฝัน” ของผู้ชายคนหนึ่งก็ประสบความสำเร็จ พร้อมกับทีมงานเบื้องหลังในนาม “เฌอบูโด” และใครมากมายอีกหลายคน ที่ช่วยกันประสาน ดูแล ช่วยเหลือ เพื่อพยุงความฝันของชายคนหนึ่งให้เป็นจริง วันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคมนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถไปสัมผัสเรือใบกอและ “ญีวอ ยัง ซามอ” ฟังเรื่องเล่าจาก เกริ่น เขียนชื่น พร้อมทีมงานเบื้องหลัง รวมถึงชมชื่นกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายได้ในงาน Freedom Festival 2017 เทศกาลดนตรีและศิลปะเพื่อเสรีภาพ ณ ช่างชุ่ย กทม. โดย มูลนิธิฟรีดิช เนามัน ในประเทศไทย นิตยสาร happening และช่างชุ่ย ในงานจะประกอบไปด้วยการแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ นิทรรศการศิลปะ และการประกวดแต่งเพลง ทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อถึงเรื่อง “เสรีภาพ” ให้ผู้ร่วมงานได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิ์และเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ซึ่งในปีนี้มีการจัดเป็นเทศกาล 2 ครั้ง ครั้งแรกที่เกาะยาว จังหวัดนราธิวาส ในเดือนกรกฎาคม และที่โครงการช่างชุ่ย กรุงเทพฯ โดยการจัดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 กับเทศกาลครั้งแรกของปี Freedom Festival 2017 ที่เกาะยาว ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของเรือใบกอและ ญีวอ ยัง ซามอ ก่อนจะเดินทางเลียบเลาะชายฝั่งมาจนถึงกรุงเทพฯ แวะจอดตามชุมชนต่างๆ และแสดงงานศิลปะภาพถ่ายตามรายทาง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ทั้งเรือใบกอและ และภาพถ่าย จะถูกนำมาจัดแสดงในเทศกาล Freedom Festival 2017 พร้อมเรื่องเล่ารายทางอีกมากมาย ถือเป็นการส่งสารและความปรารถนาดีจากลุ่มแม่น้ำบางนารามาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ภายในงานยังประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น การประกวดแต่งเพลง “เสรีภาพ เสรีเพลง” โดยมีการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปแต่งเพลงที่มีโจทย์เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพ (กำหนดโจทย์โดย มูลนิธิฟรีดิช เนามัน ในประเทศไทย) แล้วให้ส่งเข้ามาให้คณะกรรมการตัดสิน การแสดงดนตรีและศิลปะเพื่อเสรีภาพครั้งนี้ นอกจากมีการเชิญศิลปินที่เคยแต่งบทเพลงเพื่อเสรีภาพมาร่วมแสดงดนตรี ยังมีการเชิญวงดนตรีพื้นถิ่น “เปอร์มูดาอัสรี” จากชายแดนใต้มาร่วมด้วย รวมถึงการอ่านบทกวีของ ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ชาวนราธิวาส มีการฉายภาพยนตร์ที่คัดสรรโดย Documentary Club ได้แก่เรื่อง Life Animated และ I am Not Your Negro รวมทั้งนิทรรศการศิลปะอีกมากมาย มีการทอล์คโชว์โดยนักพูดรุ่นใหม่ไฟแรงที่จะมาพูดเรื่องสิทธิและเสรีภาพในมุมมองของตัวเอง อาทิ A Katanyu หมอเอิ้น พิยะดา และ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ตัวแทนเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ “การเดินทางกับเรือกอและ ญีวอยังซามอ ทำให้ผมก้าวข้ามความกลัว และค้นพบสิ่งใหม่ๆ” ถ้อยคำของ มุกตา นาลี นักกิจกรรมสร้างสรรค์กลุ่มเฌอบูโด หนึ่งในทีมงานที่ร่วมพยุงความฝันของ “เกริ่น เขียนชื่น” และผู้คนอีกมากมาย เสมือนกำลังบอกเล่านัยสำคัญที่ผูกพันไปถึงคำ สิทธิ เสรีภาพ ศิลปะ ชีวิต และสันติภาพ กับปรากฏการณ์ของ Freedom Festival 2017 และเรื่องราวรายทางของเรือใบกอและ ญีวอ ยัง ซามอ