พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ความตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติจากปัญหาโลกร้อนในอเมริกามีสูงขึ้น นับแต่เมื่อคราวปี 2007 ที่นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดี (สมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แม้ว่าจะมีบางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งก็คือสมาชิกของพรรครีพับลิกันบางคน ไม่ค่อยเชื่อในเรื่องนี้มากนักก็ตาม แต่คิดว่าปีต่อๆ มาหลังจากนั้น คนในจำนวนที่ไม่ค่อยเชื่อเหล่านี้น่าจะเปลี่ยนความคิดไปบ้างแล้ว เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมายบนโลกแห่งนี้ เชื่อกันว่ามีสาเหตุปัญหาโลกร้อนนั่นเอง มีสัญญาณเตือนหลายประการที่นักวิทยาศาสตร์กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาศึกษาค้นคว้าถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสภาวะด้านต่างๆ ของโลก เช่น สภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่มีสาเหตุอยู่ 2 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงจากสภาพธรรมชาติของโลก หรือโลกกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ อันได้แก่ มลพิษจากการปล่อยสารเคมีสู่อากาศจำนวนมาก หลายปีต่อเนื่องที่มีการประชุมเกี่ยวสภาพอากาศของโลก โดยเฉพาะการพยายามหยุดยั้งหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อกันว่า เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ ทฤษฎีการละลายของธารน้ำน้ำแข็งขั้วโลก ที่เชื่อกันว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมโลก จนอาจทำให้มีเมืองบางเมืองในโลกที่ตั้งอยู่ริมทะเลหายไปจึงเกิดขึ้น แม้เรื่องนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันมากในบรรดานักวิทยาศาสตร์ นักการเมืองและประชาชนอเมริกัน รวมถึงคนทั่วโลกก็ตาม ในอเมริกา แม้ว่าเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ แต่ก่อนหน้านี้ก็มีอเมริกันจำนวนไม่น้อยวิพากษ์ถกเถียงกันถึงวันสิ้นสุดของโลก แม้จะไม่ถึงขั้นสถานการณ์ที่เรียกว่า ตื่นข่าว เหมือนกับการตื่นข่าวประเภทนี้ในบางประเทศ หากจะสังเกตเห็นได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะพบว่า แสงแดดในทุกวันนี้ ร้อนแบบแสบร้อนต่อผิวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะเขตประเทศที่อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร เสมือนว่าชั้นบรรยากาศของโลกถูกทำลายไปมาก ตัวอย่างของเหตุที่ว่านี้ ถูกนำไปพิจารณาในการประชุมคณะทำงานรัฐบาลนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกหรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) โดยที่การประชุมดังกล่าวนี้ได้เสนอรายงานฉบับสมบูรณ์แบบ จากการศึกษาและวิจัยโดยรวมทั้งหมดอย่างละเอียดเมื่อปี 2014 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการเสนอรายงานเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนทั้งหมด จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพราะในช่วงที่ผ่านมามีความเห็นแย้งกันในบรรดานักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศด้วยกันเอง เช่น ประเด็นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลก ที่เชื่อกันว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น จนกระทบกับเมืองสำคัญๆ ริมฝั่งทะเลหลายเมือง รวมถึงกรุงเทพ เองก็เป็นหนึ่ง ในจำนวนหลายเมืองนั้นที่คาดกันว่าจะหายไปจากแผนที่โลก ดังตัวอย่างรายงานของ Detlef Stammer นักสมุทรศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่ให้ข้อมูลใหม่ว่า ความจริงแล้วน้ำทะเลไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก เพียงแต่ระดับน้ำทะเลจะปรับตัวเปลี่ยนสมดุลใหม่ คือ ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นและลดลงบางจุด ขณะที่ธารน้ำแข็งบางแห่งจะละลาย บางแห่งจะเพิ่มขึ้น เช่น ระดับน้ำในมหาสมุทรอินเดีย จะลดลงต่ำกว่าระดับเฉลี่ย ขณะที่ระดับน้ำรอบๆ ไอซแลนด์ จะเพิ่มสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย Stammer เป็นผู้อำนวยการของศูนย์การศึกษาด้านสมุทรศาสตร์และสภาวะอากาศ ของมหาวิทยาลัย Hamburg เขาเป็นคนแรกๆได้ชี้ให้เห็นว่า ระดับน้ำทะเลมีการปรับระดับด้วยการเทเอียงเหมือนการเล่นไม้กระดานหก ระดับน้ำไม่ได้เพิ่มจำนวนมากอย่างที่คาดกันส่วนใหญ่ Claus Böning ซึ่งเป็นนักสมุทรศาสตร์ชาวเยอรมันเช่นกัน บอกว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ขึ้นกับปรากฎการณ์เอลนิโน่ เช่น การเพิ่มขึ้นของะดับน้ำทะเล 15 เซนติเมตร ระหว่างปี 19996 ถึงปี 2000 ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตร หรือเขตร้อน เป็นเรื่องที่ต้องระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ นอกเหนือไปจากการที่นักสมุทรศาสตร์ผู้นี้ยังบอกว่า ระดับน้ำในบริเวณขั้วโลกด้านเหนืออาจลดลงด้วยซ้ำ สวนทางกับระดับน้ำทางด้านขั้วโลกใต้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม Claus Böning ระบุว่า การอ่อนตัวของกระแสน้ำราวๆ 25 เปอร์เซนต์ในมหาสมุทรแอตแลนติกทางด้านเหนือ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก(ภาวะเรือนกระจก) อาจทำให้ระดับน้ำทะเลของทะเลหนือเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร นับเป็นเรื่องที่ควรระวัง ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกนั้นคาดกันว่า จะเป็นภาวะที่อยู่ในช่วงของการที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แนวโน้มความรุนแรงของพายุต่างๆ จะแรงขึ้น เนื่องจากสภาวะของอากาศโลกอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลต่อเนื่องกับกำลังการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทร ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศตะวันตกได้มีมาตรการในการป้องกันปัญหาการเพิ่มของระดับน้ำทะเลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล ออกกฎหมายห้ามการขุดน้ำบาดาลที่เป็นสาเหตุทำให้แผ่นดินทรุดตัว ถึงแม้ตอนนี้ไม่มีใครแน่ใจว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในอเมริกา ตอนนี้หลายรัฐได้ออกกฎหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐอริโซน่า รัฐคอนเนกติกัต เป็นต้น นอกเหนือไปการพยายามป้องกันการท่วมของระดับระดับน้ำทะเลในรัฐที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรอย่างเช่น รัฐลุยส์เซียน่า รัฐมิสซิสซิปปี้ แม้กระทั่งรัฐเนวาดาก็มีความตื่นตัวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในเขตทะเลทรายโมฮาเว่ ผมไม่แน่ใจว่าเมืองไทยของเราเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้กันมากน้อยขนาดไหน ภายหลังจากที่เกิดน้ำท่วมบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางเมื่อปี 2554 โดยเฉพาะพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพและจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง พื้นที่นี้ ยังไม่มีการแผนการป้องกันเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทั้งจากสภาวะเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่มีสาเหตุมาจากด้านอื่นๆ ขณะที่กรุงเทพเองยังมีปัญหาการทรุดตัวของดินอีกด้วย ทำให้น้ำทะเลอ่าวไทยจ่อคอหอยกรุงเทพลึกเข้าไปเรื่อยๆ แม้ภาครัฐหรือฝ่ายบริหารของรัฐไทยตื่นตัวในเรื่องการจัดการบริหารปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ยังไม่ได้บูรณาการหน่วยงานด้านน้ำหรือผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเข้าด้วยกันเข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ไม่รวมถึงหน่วยงาน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ หน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา หน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเตือนภัยพิบัติ เป็นต้น ที่ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ เรามีเพียงหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเป็นส่วนใหญ่ ขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพแห่งความรู้ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง จะพูดไปไยถึงการกำหนดโซนนิ่งภัยพิบัติและการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบองค์รวม เช่นเดียวกับภาคส่วนการเมืองของไทย ที่ยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เรายังไม่มีหน่วยงานเฉพาะด้านภัยพิบัติโดยตรง หน่วยงานที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง หาทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด รวมถึงการกำหนดงบประมาณอย่างสอดคล้อง ในระยะสั้นและระยะยาว