สถาพร ศรีสัจจัง ในแง่รัฐวิทยาหรือ “รัฐศาสตร์” ซึ่งเป็น “ศาสตร์” ที่เกิดจากเหตุปัจจัยด้าน “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” ซึ่งเป็นโครงสร้างมูลฐาน (Base structure) หรือโครงสร้างชั้นล่างของสังคม ตามเงื่อนเหตุของ “พื้นที่และเวลา” ทั้งของโลกและ ของ “ชุมชน” หรือของสังคมนั้นๆ “กรณีพม่า” ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมร่วมสมัย ของ “รัฐชาติ” เรื่องหนึ่งที่โลกกำลังให้ความสนใจ(เพราะอาจส่งผลถึงชุมชนหรือ “ชาติ” ของพวกเขาในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งด้านบวกและลบ) จึงมี “นักวิเคราะห์” สถานการณ์ ทั้งที่เป็น “นักวิชาการด้านนั้นและที่ไม่ใช่” ให้ความสนใจ “วิเคราะห์” กันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนมากเหล่านั้น,มีชิ้นงานที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษอยู่ชิ้นหนึ่ง ชื่อ “วิเคราะห์รัฐประหารเสนาธิปัตย์บนเส้นทางประวัติศาสตร์” ของ ผศ.ดร.ตุลยภาค ปรีชารัชช แห่ง สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่แน่ใจว่า “ศัพท์บัญญัติ” คือคำ “รัฐเสนาธิปัตย์” นั้นเป็นคำที่ราชบัณฑิตยสภากำหนดขึ้นให้ใช้ หรือ เป็นคำที่ท่านใดบัญญัติขึ้น แต่เมื่อได้ยินคำนี้แล้ว คนที่อยู่ในวงการวรรณกรรมจำนวนหนึ่งน่าจะประหวัดคิดถึงหนังสือ “เสนาสาร” ซึ่งเป็นนิตยสารเก่าแก่ฉบับหนึ่งของไทย ดูเหมือนหน่วยงานที่เป็นเจ้าของหนังสือ คือสำนักเลขานุการกองทัพบกนั่นแหละ ถ้าจำผิดก็ต้องขออภัย ที่จำได้ก็คือ ในอดีต(บางช่วง?) นิตยสารฉบับนี้มีงานวรรณกรรมดีๆทั้งที่เขียนโดยนักเขียนไทยและเรื่องที่แปลมาตีพิมพ์ร่วมกับข่าวคราวเรื่องราวทางการทหารอยู่ด้วยอย่างน่าสนใจ ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้าง รู้ข่าวเพียงว่ายังคงมีการจัดทำเผยแพร่อยู่ ยังไม่ล้มหายตายจากไปตามยุคสมัย “ดิจิทัล” เหมือนกับนิตยสารอื่นในวงการเล่มอื่นๆ ที่สำคัญดูเหมือนจะมีหนังสือของกองทัพบกที่ออกโดย “โรงเรียนเสนาธิการทหารบก” อีกเล่ม ที่ตั้งชื่อตรงๆ (แบบส่อเจตนาน่ากลัว?)ว่า “เสนาธิปัตย์” ออกมาเผยแพร่ “เรื่องราวและวิธีคิดแบบทหาร” มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้วเช่นกัน (ฟังว่าหนังสือเก่าชื่อปกนี้เป็นที่ต้องการในวงการคนเล่นหนังสือเก่าไม่น้อย) บทความของอาจารย์ ดร.ตุลยภาค ได้ชี้สรุปให้เห็นว่า สังคมพม่านั้นเป็นรัฐแบบ “เสนาธิปัตย์” คือเป็นรัฐที่ปกครองโดยทหาร โดยท่านสาธยายให้เห็นถึงพัฒนาการของ “รัฐชาติ” พม่า ว่ามีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับทหารมาอย่างไร เพื่อชี้ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ “รัฐประหาร” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในประเทศเมียนมาหรือพม่านั้น เป็นปรากฏการณ์รูปธรรมของรัฐแบบ “เสนาธิปัตย์” สำหรับคำ “รัฐเสนาธิปัตย์” นั้น อาจารย์ ดร.ตุลยภาค ได้หยิบยืมความเห็นนักวิชาการฝรั่งบางคนมานิยามให้ผู้อ่านบทความได้รู้ได้เข้าใจตรงกัน พร้อมอธิบายเพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า : “รัฐเสนาธิปัตย์” หรือ “Praetorian State” หมายถึง รัฐที่มีการเมืองการปกครองที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกองทัพซึ่งมีสภาพเงื่อนไขทางการเมืองที่มักเปิดทางให้ทหารกลายเป็นองค์อธิปัตย์ในการครองรัฐ...คำว่า “Praetorian” เป็นคำคุณศัพท์ที่มาจากคำ “Praetor” อันเป็นชื่อตำแหน่งของคณะผู้ปกครองโรมันโบราณ ส่วนหนึ่งสื่อถึง “Praetorian Guard” ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำในกองทัพจักรวรรดิโรมันที่ทำหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยให้แก่องค์จักรพรรดิ และ คณะผู้ปกครองโรม คราใดที่เกิดความปั่นป่วนจลาจล กองกำลังพรีทอเรียน มักเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐ และจัดระเบียบบ้านเมือง ในวรรณกรรมด้านรัฐศาสตร์การทหาร “ลัทธิเสนาธิปัตย์นิยม” (Praetorianism)จึงให้ความสำคัญต่อพลังกองทัพในการ แทรกแซงการเมืองและควบคุมปกครองรัฐ โดยนำมาเทียบเคียงกับกองทหารพรีทอเรียนที่ ทรงบทบาทในฐานะองครักษ์ผู้ค้ำจุนโรม..." แล้วอาจารย์ ดร.ตุลยภาคก็บอกเป้าหมายในการเขียนบทวิเคราะห์ครั้งนี้ว่า : “ ...ผู้เขียนนำเรื่องเส้นทางบังคับประวัติศาสตร์มาผสมกับเรื่องมาตรวัดเสนาธิปัตย์ เพื่อพิเคราะห์ดูว่า ในการเมืองรัฐประหารแต่ละครั้ง ทหารพม่ามีลักษณะการยึดอำนาจและแสดงพลังเสนาธิปัตย์ออกมาอย่างไร แล้วมรดกประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารแต่ละครั้งได้ทับถมต่อยอดจนทำให้กองทัพพม่ากลายเป็นสถาบันการเมืองที่แข็งแกร่งมั่นคงได้อย่างไร จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจคือการย้อนกลับไปดูจุดกำเนิดกองทัพพม่าและการแทรกแซงการเมืองของทหารพม่า จนสามารถยึดอำนาจรัฐได้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1958” จากนั้น อาจารย์ก็ “ร่ายยาว” ถึงจุดก่อเกิด “กองทัพพม่า” ตั้งแต่การเกิดกองกำลังรักชาติ “กลุ่มตรีทศมิตร” หรือ “ขบวนการสามสิบสหาย” ของ “อู ออง ซาน” บิดาของนาง ออง ซาน ซูจี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่ง อู ออง ซาน ถูกลอบสังหาร อู นุขึ้นครองอำนาจในปี 1958 จนถึงการรัฐประหาร และ การเข้ากุมอำนาจในพม่าอย่างเบ็ดเสร็จของ นายพลเนวิน(คนละคนกับ “เนวิน” เจ้าของสนามแข่งรถที่บุรีรัมย์) ในปี ค.ศ. 1962 การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของขบวนนักศึกษและพระสงฆ์ในปีค..1988 และ การกวาดล้างของนายพล ซอ หม่อง การก่อรัฐประหารอีกรอบของนายพล ซอ หม่อง เพื่อตัดวงจรประชาธิปไตยนี่เอง ที่นักรัฐศาสตร์เชื่อว่าเป็นการต่ออายุให้องค์เสนาธิปัตย์ทางการเมือง และอาจารย์ ดร.ตุลยภาค ก็สรุปบทความของตัวเองลงว่า : “...รัฐประหารของพลเอก มิน อ่อง หล่าย คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการตกตะกอนทับถมของมรดกการเมืองแบบเสนาธิปัตย์ ที่ถูกกำหนดโดยเส้นทางบังคับทางประวัติศาสตร์ พลังทางประวัติศาสตร์ทับถม จนเกิดพันธนาการที่ตอกย้ำยึดโยงให้กองทัพกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่ง อย่างน้อยการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็สะท้อนความแข็งแกร่งของกองทัพในเชิงวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์” นี่แหละคือการ “วิเคราะห์” ที่ “มีหลักมีการและมีข้อมูลอย่างเพียงพอ” ของ “นักวิชาการ” ที่แท้จริง ไม่ใช่การใช้จินตนาการ หรือ “มโน” เอาเพื่อการ “โหน” สถานการณ์สากลให้มารับใช้ประโยชน์ตนของบางใครหรือบางกลุ่ม ใครที่อยากอ่านบทความเรื่องนี้แบบเต็มๆ ก็ขอเชิญไปเสาะหาได้จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2524 (อันนี้ต้องให้ “เครดิต” เขา!) นั้นเทอญ!!!