สถาพร ศรีสัจจัง การที่คนไทย และ สังคมไทยพัฒนาฝ่าฟันมาจนกระทั่งสามารถก่อตัวขึ้นเป็น “รัฐชาติ” สมัยใหม่ได้อย่างที่เห็นในปัจจุบันนั้น ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่เป็น “คุณูปการ” มากมายหลายประการด้วยกัน ทั้งโดยเหตุอัตวิสัย คือโดยคุณภาพของ “คน” และ เหตุภววิสัย คือสิ่งแวดล้อมอื่นใดที่เอื้อให้ เฉพาะในเรื่องของ “คน” อันเป็นตัวขี้ขาดการเปลี่ยนแปลง คือการพัฒนาทางสังคมให้ขับเคลื่อนไปในทางใดทางหนึ่งนั้น ถ้าจะตอบแบบ “นักปฏิวัติ” (แบบกลไก) ก็ต้องตอบว่า ก็มีแต่ประชามหาชนผู้ใช้แรงงาน ผู้ลงแรงทำการผลิตนั่นแหละ คือตัวคุณูปการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนดังกล่าว เพราะนั่นคือ “เงื่อนเหตุอัตวิสัย” ที่แท้จริงของสังคม! แต่ไม่ว่าปราชญ์สกุลไหน ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ในองคาพยพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นมี “องค์ประกอบ” และ “ตัวแปร” มากมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องดังกล่าวอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่เป็นองค์ประกอบชั้นล่างของสังคม ได้แก่ระบบเศรษฐกิจหรือระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต กับองค์ประกอบส่วนบนของสังคม ที่โดยทั่วไปมักมีลักษณะเป็นนามธรรมที่รวมเรียกว่า “วัฒนธรรม” ทั้งหลายทั้งปวงนั่น ก็ได้แก่ ระบบการปกครอง กฎหมาย ระบบความเชื่อความศรัทธา ศาสนา ประเพณีและจารีต ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น องคาพยพทั้ง 2 ส่วนที่ประกอบขึ้นเป็น “สังคม” หนึ่งๆนี้ ต่าง “กำหนด” และ ผลักดันซึ่งกันและกัน พูดให้ง่ายและเห็นชัดขึ้นก็คือ สังคมหนึ่งก็เหมือนคนๆหนึ่ง กล่าวคือ มีองค์ประกอบทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและส่วนที่เป็นจิตวิญญาณ อะไร? คือจิตวิญญาณที่หลอมรวมขึ้นจนกลายเป็น “ราก” หรือ “อัตลักษณ์” (Identity)ของสังคมไทย? เครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณด้านคติความเชื่อของสังคมไทยที่เปลี่ยนผ่านจากระบบ “ผี” แต่เดิม ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งอารยธรรมตะวันออกด้วยกัน โดยเฉพาะจาก “ชมพูทวีป” หรืออินเดียในปัจจุบัน รากของสังคมไทยปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนอิทธิพลของศาสนาฮินดู(พราหมณ์)และศาสนาพุทธ(โดยเฉพาะหินยาน) อย่างน้อย เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ เราก็สืบสาวไปได้ไกลกว่ายุคสุโขทัยคือเมื่อกว่า 700 ปีก่อน ว่า พราหมณ์ และ พุทธได้รับการสถาปนาลงแล้วในแผ่นพื้นสุวรรณภูมิแห่งนี้ เฉพาะส่วนของศาสนาพุทธนั้น เราพบว่าพื้นที่ถิ่นนี้ได้ก่อเกิด “พุทธสาวก”ในระดับ “อริยะสงฆ์” ผู้เรืองบารมี และทรงคุณูปการต่อสังคมขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย! กระทั่งถึงปัจจุบันในยุค “รัฐชาติทุนนิยม” อย่างที่เห็นๆ ถ้าตั้งคำถามว่า อริยสงฆ์รูปใดในประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยโดยทั่วไปในปัจจุบันยังรับรู้ถึงเกียรติคุณบารมีอย่างกว้างขวางที่สุดบ้าง? ยืนหนึ่งที่มิอาจข้ามได้ ย่อมต้องคือ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” รูปนั้น!! “หลวงพ่อทวด” คือใคร? นี่ย่อมเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจสาธุชน โดยเฉพาะบรรดา “ชาวพุทธ” ที่เป็นชาวบ้านทั่วไปแบบเราๆ ไม่ใช่ “เกจิพระ” (ที่นักค้าขายพระชอบตั้งฉายาให้แก่กันเพื่อทำให้การ “ปั่นราคา” พระเครื่อง ดูมีความน่าเชื่อถือสูงสุด) ในสังคมไทยปัจจุบัน อาจจะเพื่อขจัดปัญหาและเพื่อตอบคำถามแก่สาธุชนผู้ใคร่รู้ในเรื่องดังกล่าว จึงทำให้หนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อค่อนข้างยาว(ตามแบบของนักวิชาการ?)คือ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด : จากวัดพะโคะถึงวัดช้างให้” ปรากฏขึ้น ปรากฏขึ้นจากการจัดพิมพ์เผยแพร่โดย “มูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” (ปราชญ์ชาวปักษ์ใต้ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่เกาะยอเมืองสงขลา และ นักวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เชื่อมั่นว่า วัฒนธรรมพื้นบ้านคือ “ราก” ที่สำคัญยิ่งในการใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาประเทศ) หลังปกหนังสือเล่มนี้มีคำโปรยระบุความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “...นี่นับเป็นเอกสารทางวิชาการที่อาจกล่าวได้ว่า “สมบูรณ์ที่สุด” เกี่ยวกับ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด “อริยสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ชาวใต้ผู้เปี่ยมบุญญาบารมีและทรงคุณูปการ เท่าที่มีปรากฏในปัจจุบัน ผู้ศรัทธาพึงมีไว้ในครอบครองเพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อเสริมพุทธิปัญญาแห่งตน...” มูลนิธิท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ฯระบุ “คุณค่า” ของหนังสือไว้ถึงขนาดนี้ ก็คงมีความจำเป็นที่จะต้องตามเข้าไปดูให้ประจักษ์เสียหน่อยแล้วกระมังละว่า ที่ว่าดีนะ ดีอย่างไร?!!!