สถาพร ศรีสัจจัง จำไม่ได้แล้วว่าจะเป็นที่ไหน และเมื่อไหร่ จะด้วยวิธีพูดหรือวิธีเขียนกันแน่ แต่จำได้ชัดแจ่มแจ๋วแน่นนอนว่า ท่านอาจารย์ธีรยุทธ บุญบี อาจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของฉายา “เสื้อกั้กตัวเก่า” “คู่ปรับทางความคิด” คนสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย “ทักษิณฯผู้นิราศ” และอดีตนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยผู้สอบได้ที่ 1 ระดับ ม.ศ.5 หรือ “มอ.แปด” แผนกวิทยาศาสตร์ ของประเทศไทย (ใช้ข้อสอบชุดเดียวที่ออกโดยคณะกรรมการฯของกระทรวงศึกษาธิการสอบนักเรียนทั้งประเทศ) ประจำปีพ.ศ. 2511 ที่เรียกกันว่า “รุ่นข้อสอบรั่ว” หรือ “รุ่นสอบ 2 ครั้ง” เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “การเมืองไทย” ไว้เรื่องหนึ่งอย่างน่าสนใจ มีเนื้อหาทำนองว่า               เมืองไทยนี้แปลก เรามีคนที่เป็น “นักเล่น” การเมืองมากมาย ทั้งที่เป็นตัวผู้กำกับ ตัวนักแสดง ตัวนักวิจารณ์ ตัวเล่นแทน(นอมินี) ตัวนักวิชาการทางรัฐศาสตร์(นักทฤษฏีตามที่เรียนและจำมา) และอีกหลายหลากมาก “ตัว” ฯลฯ แต่เราแทบไม่มี “นักคิด” ที่มีความแหลมคมทางพุทธิปัญญาและมีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะนำเสนออย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับ “ระบบ” หรือ “แนวคิด” ที่ดีที่ถูกต้องแท้จริง เพื่อปรับใช้กับสังคมไทยหรือ “สังคมคน” ว่าควรจะเป็นแบบไหน อย่างไร?                อดีตผู้นำนักศึกษาคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง(ถ้าสังคมไทยพอจะมีอยู่บ้าง) ผู้ทำให้โลกรู้จักสิ่งที่้เรียกว่า “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย “อย่างกว้างขวางในยุค” คืนวันสุกดิบ “ก่อนเกิดเหตุครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคือ “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” เล็กน้อย โดยการเป็นผู้นำก่อบทบาทในฐานะ “เลขาธิการ” ขององค์กรดังกล่าว นำรณรงค์ให้นักเรียนนักศึกษาประชาชนค่อยๆ “ตื่น” ขึ้นจากอาการหลับใหลด้วยมนต์สะกดของปิศาจตัวที่ชื่อ “เผด็จการ”                จนท้ายสุดนำก่อขบวนสร้าง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เชิญชวนผู้คนที่ “พอมีชื่ิอสียง” จากอาชีพต่างๆรวม 100 คนร่วมลงชื่อ” บัญชีหางว่าวเป็น “หัวหอก” ให้รัฐบาลที่สังคมไทยหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” เรียกว่าเผด็จการกลุ่ม “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” รีบเร่งจัดร่างรัฐธรรมนูญถาวรในการปกครองประเทศเสียที จนนำไปสู่การถูกจับกุมและเกิด “การลุกขึ้นสู้ใหญ่” ที่่เรียกว่าเหตุการณ์” 14 ตุลาฯ (2516)” ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้สนใจศึกษาทางสังคมว่าเป็นเหตุการณ์ที่ช่วย “ทำลายทำนบ” อนุรักษ์นิยมซึ่งปิดกั้นความเจริญและ “สิทธิเสรีภาพ” ของสังคมไทยมาอย่างยาวนานครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ                 ผู้นำนักศึกษาในวันนั้น คนนั้น ที่ชื่อธีรยุทธ บุญมี บอกชัดว่าผู้กล้านำเสนอ “แนวคิด” ทางการเมืองในฐานะ “นักคิด”อย่าง “เป็นระบบ” ของสังคมไทยที่เคยมีๆเพียงคนเดียว คือพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาชื่อ พุทธทาส ภิกขุ (เงื่อม อินฺทปัญโญ)แห่งวัดธารน้ำไหล หรือสวนโมกขพลารามแห่งเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเสนอว่า ระบบการเมืองที่จะสามารถ “นำพา”และแก้ไข “วิกฤติ” สังคมไทยและสังคม “คน” ทั้งโลกได้ คือระบบที่เรียกว่า “ธัมมิกสังคมนิยม”!                พุทธมาส ภิกขุ ได้บรรยายถึงแนวคิดของระบบ “ธัมมิกสังคมนิยม” ที่ท่านเชื่ิอว่าเป็นระบบทางการเมืองที่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองของโลกได้อย่างแท้จริงไว้อย่างละเอียดในบทเทศนาเรื่องนี้ ตั้งแต่หลัง “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” ปีพ.ศ.2516 มาแล้ว ที่มีการจัดพิมพ์แนวคิดของท่านเรื่องนี้เป็นหนังสือเล่มเผยแพร่ จนถึงปัจจุบันมีการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต่างๆมาแล้วรวมเป็นสิบๆครั้ง ผู้ที่สนใจ “แนวคิดทางการเมืองเรื่องเดียวที่นำเสนอโดยนักคิดไทย” ตามที่ิอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เคยระบุความสำคัญไว้  จึงสามารถเสาะหามาศึกษาได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก                 ในประเด็นเกี่ยวกับ “วิกฤติสังคมไทย” เช่นเดียวกัน ท่านพุทธได้ชี้ให้เห็นไว้ในหลายแหล่งที่ ในหลายบทเทศนา ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ถ้ามีการจัดการศึกษาอย่างถูกต้อง คือจัดได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของคนและสังคม โดยยึดการเรียนรู้เรื่องความรู้ทางโลกหรือวิชาชีพควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชชาศีลธรรม โดยให้เน้นที่การปฏิบัติจริง คนก็จะมีคุณภาพขึ้น เพราะเป็นคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม                  ท่านชี้ว่าคำ “ศึกษา” เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งก็คือคำ “สิกขา” ในภาษาบาลี คำสิกขาในภาษาบาลี มีความหมายถึง การประพฤติปฏิบัติ หรือการกระทำเพื่อการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง และรวมหมายถึง “ความรู้” ด้วย ความรุู้และการปฏิบัติจึงต้องไปด้วยกันโดยมีความมุ่งหมายอยู่ที่การดับทุกข์(ใครหรือที่ไม่เป็น “มิจฉาทิฎฐิ” แล้วต้องการ “ความทุกข์”?) ดังนั้นการศึกษาจึงต้องมีเป้าอยู่ที่การฝึกคนให้มีปัญญา เพราะเมื่อเกิด “ปัญญา” แล้ว “ความรู้” ก็จะตามมา                   สังคมที่อุดมคนมีปัญญา มีความรู้ และมีศีลธรรม จะเต็มไปด้วยสันติภาพ เพราะมีความเมตตาและความรักเป็นพื้นฐาน สังคมนั้นก็จะพ้นจากวิกฤติ เพราะจิตใจคนไม่วิกฤติ                   ท่านพุทธทาสยังชี้ว่า หลักการ “ทศพิธราชธรรม” คือ “ธรรมะ 10 ประการของพระราชา” ที่สังคมไทยรู้จักกันมานมนานแล้วนั่นแหละคือแนวทางในการปกครอง คือแนวทางที่ผู้ปกครองจะต้อง “บำเพ็ญ” ให้บรรลุ เพื่อนำสังคมไปสู่ “ธัมมิกสังคมนิยม” ให้ได้                    ไม่รู้ว่า “นายกฯลุงตู่” ของเราฟังเรื่องนี้แล้วจะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง อาเมน!!