แสงไทย เค้าภูไทย วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นประเด็นการเมืองในด้านความไม่โปร่งใส หลังจากมีการเลื่อนกำหนดฉีดให้แก่ประชาชน ด้วยเหตุการกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง นิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชน พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่ามีการเล่นเกมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่มีปัญหาที่สุดคือกทม.ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ราวปลายปีนี้ หรือจนกว่าการระบาดของโควิด-19 จะสร่างซา นี่คือเหตุผลที่ 33.74% ของคำตอบที่เป็นส่วนใหญ่ของประชากรสำรวจมีความเห็นว่าการเมืองมีส่วนในการบริหารวัคซีน จากหัวข้อสำรวจ “การจัดสรรวัคซีนป้องกัน COVID-19” สำรวจระหว่างวันที่ 7 – 9 มิถุนายน 2564 ขณะนี้ มีการนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้คนไทย 2 แบรนด์ คือซิโนแวคของบริษัทเอกชนจีนกับแอสตราเซเนกา (AZ)ของอังกฤษซึ่งผลิตในเกาหลีใต้ ส่วน AZ ที่ผลิตในประเทศไทยโดยสยามไบโอไซแอนซ์นั้น มีการส่งมอบให้รัฐบาลไทยแล้ว 1.8 ล้านโดส แต่ยังไม่มีการนำออกมาให้ประชาชนรับการฉีด ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง ด้วยเหตุผลเดียวกันกับครั้งแรกที่กำหนดส่งมอบ 21 พฤษภาคม คือยังตรวจสอบไม่เสร็จ อีกแบรนด์หนึ่งที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทะลวงกำแพงผูกขาดนำเข้ามาคือ ซีโนฟาร์ม จะเปิดให้รับบริการฉีดได้ 25 มิ.ย นี้ ปัญหาการกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการเลื่อนกำหนดวันฉีดออกไปจนประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ประชาชนมองว่า เพื่อบังคับทางอ้อมให้คนไทยรับวัคซีนซิโนแวคให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งนี้เพราะคนไทยมีความชื่อมั่นในวัคซีน AZ ที่โรงงานพระราชทานจากล้นเกล้าฯ ร.9 ด้วยทุนทรัพย์จากทรัพย์สินส่วนพระมาหากษัตริย์ถึง 4,800 ล้านบาทมากกว่าซิโนแวค หากเทกันไปรับวัคซีน AZ กันหมด ซิโนแวคก็จะเหลือบานเบอะ เพราะมีการนำเข้ามาแล้ว 16 ล้านโดส หากฉีดได้หมด ก็จะมีการนำเข้ามาอีกในจำนวนเท่ากันเพื่อฉีดเข็มที่สอง แต่ถ้าฉีดได้ไม่ถึง ส่วนที่เหลือก็จะต้องทิ้งไปเมื่อหมดอายุ การชะลอนำ AZ ออกฉีดในสายตาของประชาชน มองกันแบบนี้ อันที่จริงเรื่องโรงงานยาพระราชทานนี้ก็ยังมีเงื่อนงำอีกมาก ตามพระราชปณิธานของพระองค์นั้น ก็เพื่อให้โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตยาเพื่อให้การแพทย์และเภสัชกรรมไทยมีทางเลือกในการใช้ยารักษาคนไข้มากขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้การผูกขาดของบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้ยาหลากหลายขึ้น ราคายาถูกลง เพราะเมื่อมีคู่แข่ง บริษัทยาฝรั่งก็ย่อมจะต้องทำราคาที่สามารถแข่งขันกับยาไทยได้ แต่กว่าโรงงานแห่งนี้จะผลิตยาออกมาสมพระราชดำริก็กินเวลาแสนนาน เพราะตลาดยา ผลิตภัณฑ์ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆนั้น มูลค่าปีหนึ่งๆเป็นหมื่นๆล้านบาท ผู้แทนยาหรือเซลส์ขายยาจึงต้องแข่งขันกันนำเสนอยาต่อผู้มีอำนาจพิจารณาหรือสั่งซื้อ ตามโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง จึงมีกลุ่มสาวๆสวยๆที่เรียกว่า “ดีเทลยา” ไปป้วนเปี้ยนดักรอเข้าพบแพทย์หรือเภสัชกรที่มีอำนาจในการสั่งซื้อยาอยู่ทั่วไป ดีเทลยาบางคนถึงกับเอาตัวเข้าแลกเพื่อให้สามารถขายยาของบริษัทที่ตนเป็นตัวแทนได้ ตลาดยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในหน่วยหน่วยราชการเป็นแบบนี้ จะเป็นแบบเดียวกันกับที่องค์การเภสัชกรรมฯจัดซื้อวัคซีนหรือไม่ก็ไม่รู้ ?