ณรงค์ ใจหาญ ในการดำเนินคดีอาญา เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว จะมีการควบคุมตัวที่สถานีตำรวจไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่นำตัวผู้ต้องหามาถึงสถานีตำรวจ ถ้าพ้นเวลาดังกล่าวหากมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ต้องไปขอฝากขังต่อศาล เมื่อมีการฟ้องคดีแล้วและดำเนินกระบวนพิจารณาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลมีอำนาจขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาได้หากมีความจำเป็นที่จะต้องขังไว้ เช่น เห็นว่า จะหลบหนี จะก่อเหตุร้ายหรือจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ความจำเป็นในการควบคุมตัวของตำรวจ หรือการขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณานั้น เพราะต้องการเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้เพื่อมารับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา ในชั้นสอบสวน การถามคำให้การ หรือเพื่อรับฟังคำฟ้องและรับฟังกระบวนพิจารณาคดี อันจะทำให้สามารถทราบว่าตนถูกกล่าวหาว่าอย่างไร และสามารถต่อสู้หรือยกข้อเท็จจริงที่จะทำให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ ในทางตรงกันข้ามการที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นความเสี่ยงที่คนบริสุทธิ์แต่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะต้องถูกจำกัดเสรีภาพ และเมื่อผลของการพิจารณาและพิพากษาของศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่ได้กระทำความผิด การที่ถูกควบคุมไปก็จะเป็นการที่ทำให้ผู้นั้นได้รับความเสียหาย จากการที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา และเป็นการจำกัดการดำเนินชีวิตหรือการทำงานระหว่างที่ถูกขังได้ ดังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมีมาตรการผ่อนคลายในการขัง โดยการให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีหลักประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ เพื่อให้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตปกติ และเมื่อพนักงานสอบสวนหรือศาลต้องการให้มาร่วมในการดำเนินคดีจึงจะเรียกตัวมา ด้วยเหตุนี้ การปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนและการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นหลัก และหากเห็นว่าจะหลบหนี จึงจะควบคุมตัวไว้ หรือปล่อยชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขบางประการที่จะป้องกันมิให้หลบหนี เช่น ห้ามออกนอกประเทศ หรือห้ามออกนอกบริเวณที่กำหนดโดยมีเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic monitoring) เป็นต้น แต่ถ้าพนักงานสอบสวนหรือศาลนัดให้มาที่สถานีตำรวจหรือศาลแล้ว หากผิดนัดไม่มาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญาการปล่อยชั่วคราว จึงต้องมีการบังคับค่าปรับตามสัญญาประกันตัวในฐานผิดสัญญาประกันตัว และถ้าไม่มีการใช้เงินค่าปรับตามสัญญาประกัน ก็จะมีการบังคับชำระค่าปรับจากหลักประกันที่วางไว้หรือจากทรัพย์สินอื่นของผู้ขอประกัน การหลบหนีไม่มาตามนัดของพนักงานสอบสวนหรือศาลของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวไปนั้น ถือเป็นการผิดสัญญาประกัน ผู้ประกันตัว ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาประกัน หากไม่ชำระ พนักงานสอบสวน หรือศาลที่เป็นผู้อนุมัติให้ปล่อยชั่วคราวมีสิทธิบังคับค่าปรับตามสัญญาประกัน เพียงแต่ การบังคับตามสัญญาประกันของพนักงานสอบสวนต้องฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับตามสัญญา ส่วนการผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลที่ให้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสามารถบังคับค่าปรับได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องบังคับเป็นอีกคดีหนึ่ง ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๙ ประเด็นต่อไปคือ การที่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาตามที่เรียกนี้ จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้ตัวมา เพราะเป้าหมายของการดำเนินคดีอาญา คือ การมีตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยเพื่อร่วมในการดำเนินคดี และหากไม่ได้ตัวมาฟ้อง อาจทำให้คดีขาดอายุความได้ หรือถ้ามีตัวมาฟ้องแล้ว แต่มีการหลบหนีไปในระหว่างการพิจารณา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณากำหนดให้กระทำต่อหน้าจำเลย ศาลจะดำเนินการสืบพยานไม่ได้ ให้ต้องเลื่อนคดีต่อไป คดีอาญาจึงเกิดความล่าช้า และไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ เกิดปัญหาคดีค้างพิจารณา ตัวผู้เสียหายก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม หากเป็นคดีที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยกระทำความผิด ซึ่งผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ หรือการสั่งคำขอให้ริบทรัพย์อันเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ได้ฟ้องนั้น การจะได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีประกันนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ (๔) ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ในขณะเดียวกัน หากเป็นผู้ประกัน ที่ได้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี สามารถติดตามตัวผู้ที่หลบหนี และจับเองได้ หรือขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหรือจำเลยที่หลบหนีได้ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๑๗ ซึ่งหมายความว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี จะต้องถูกผู้ประกัน หรือพนักงานสอบสวนจับเพื่อส่งพนักงานสอบสวนหรือศาลที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น นอกจากนี้เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลเพื่อให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีจากการปล่อยชั่วคราวของศาล จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนที่รู้เบาะแสว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีอยู่ที่ใด และแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจทราบและจับกุม ก็จะได้เงินสินบนนำจับ ส่วนเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้จับจะได้เงินรางวัลตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ อย่างไรก็ดี ในความผิดบางประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๔ ตอนที่ ๙๙ ก ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ มาตรา ๓๒ กำหนดว่า ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยซึ่งหลบหนีไปในระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีไปในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายได้กำหนดมาตรการในการติดตามตัวเพิ่มขึ้นโดยให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ติดตามหรือจับกุมจำเลยที่หลบหนีได้ นอกเหนือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และนายประกัน อันเป็นการเพิ่มผู้ที่จะติดตามจับกุมผู้หลบหนีมากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการได้ตัวจำเลยมาสู่กระบวนพิจารณาของศาล และในวรรคสองของมาตรา ๓๒ ยังกำหนดว่า ความผิดฐานไม่มาตามที่เรียก ตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งนั้น จะไม่ระงับไป เพราะเหตุที่คดีของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้นมีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้องกำหนดให้ศาลมีอำนาจมอบหมายให้ ซึ่งหมายความว่า การหลบหนี สัญญาประกันกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดขึ้นมาอีกฐานหนึ่ง และไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีหรือยุติคดีของจำเลยในคดีเดิม มาตรการเพิ่มเติมความผิดฐานหลบหนีประกัน และเพิ่มมาตรการให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวนี้ จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อติดตามตัวผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิภาพ ผลอีกประการในการหลบหนี คือ การที่ไม่นับเวลาหลบหนีไว้ในอายุความ ซึ่งกำหนดไว้ในความผิดบางฐาน เช่นความผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบ ความผิดฐานค้ามนุษย์ และความผิดในวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกระบวนพิจารณาดังกล่าวให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่อยู่ในชั้นพิจารณาเพราะจำเลยหลบหนีการพิจารณา จึงสามารถสืบพยานลับหลังจำเลยได้ และเมื่อพิจารณาเสร็จ แม้จำเลยจะหลบหนีก็ยังพิพากษาลับหลังจำเลยได้ แต่มาตรการในการสืบพยานลับหลังจำเลย ยังจำกัดในบางฐานความผิดเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นความผิดที่ต้องการปราบปรามอย่างจริงจัง และกระบวนพิจารณาให้ศาลในระบบไต่สวนซึ่งศาลมีบทบาทในการค้นหาความจริงและคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีโดยไม่ถือเป็นฝ่ายอยู่แล้ว โดยสรุป การหลบหนีการปล่อยชั่วคราว มีผลให้ต้องชำระเบี้ยปรับตามสัญญาประกัน ผู้ต้องหาและจำเลยที่หลบหนี จะต้องถูกติดตามจับกุม โดย เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือผู้ที่ประกันตัว หรือในบางคดี เจ้าหน้าที่ที่ศาลมอบหมายจับกุม ส่วนผลทางกฎหมายอื่นๆ ที่ตามมา คือ จำเลยไม่มีโอกาสฟังการพิจารณา อายุความไม่ขาด ในระหว่างหลบหนี ซึ่งหมายความว่า ต้องหลบหนีตลอดไป ไม่มีโอกาสพ้นจากการถูกดำเนินคดีหากเป็นคดีสำคัญ เช่น คดีทุจริต และคดีค้ามนุษย์เป็นต้น