ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีมานี้ มีอยู่หลายชั้นหลายมุมมอง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจาก “กลุ่มผู้เห็นต่าง” ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ภาคประชาชนกันเองก็มีปัญหาทับซ้อนหลากหลายประการ โดยเฉพาะกับความเป็น “มุสลิม” ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ต่างตกเป็นเหยื่อในจำนวนไม่น้อยกว่าคนพุทธ เป็นตัวชี้วัดแสนเศร้าว่าภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อได้ทั้งนั้น อีกประการหนึ่ง ในความเป็น “ปัจเจกบุคคล” ต่างก็มีโลกส่วนตัว มีกลุ่มมีพวกพ้อง มีวิธีคิดที่แตกต่าง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งได้ง่ายหากไม่เท่าทัน สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความเข้าใจ การเปิดใจกว้าง การให้อภัย ที่สำคัญคือ ความรักความเมตตาที่พึ่งมีต่อกันในฐานะ “เพื่อนมนุษย์” เพื่อก่อให้เห็นภาพบางปัญหาให้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างงานเขียน 2 ชิ้นของผู้เข้าร่วมอบรมค่าย 3 ศิลป์ รุ่น 2 เมื่อวันที่ 28-30 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเทคนิคการเขียน การถ่ายภาพ และการทำสารคดีสั้น เพื่อการสื่อสารและเพิ่มศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม ดำเนินงานโดย “กลุ่มหัวใจเดียวกัน” หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) งานเขียนสารคดีชีวิตชิ้นแรก โดย จุฑารัตน์ ใบระหมาน ชื่อเรื่องว่า “มุสลิมด้วยกัน แต่มองไม่ใช่มุสลิมด้วยกัน” สะท้อนปัญหาการมองมุสลิมต่างถิ่นในมุมต่าง แต่สุดท้ายอาศัยเวลาและการพูดคุย เรื่องราวจึงจบลงด้วยความรักและความเข้าใจ เธอเล่าว่า ข้าพเจ้านับถือศาสนาอิสลามมาโดยกำเนิด แม้ว่าแม่ของย่าทวดจะเป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ตาม เราอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง เป็นเมืองวัฒนธรรมไทยแท้แต่โบราณ ชุมชนปากพนัง มีมุสลิมราว 40 ครัวเรือนที่แวดล้อมด้วยชาวไทยพุทธกว่าร้อยครัวเรือน ปี 2529 ครอบครัวข้าพเจ้าย้ายมาตั้งรกรากที่ชุมชนอาเนาะรู เมืองปัตตานี ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนมุสลิมที่นี่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากถิ่นเดิมที่จากมา ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด การแต่งกาย มุมมองความคิด วิถีชีวิตประจำวัน เราต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมดเพื่อให้อยู่ได้ในชุมชนแห่งนี้ เพราะถูกปฏิเสธความเป็นมุสลิมของเรา มีการรวมตัวกันของชนมุสลิมนครอย่างเข้มแข็ง ให้สมกับคำประโยคที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ความขัดแย้งกับชุมชนมุสลิมเดิมมีมาเรื่อยๆ ไม่ถึงกับใช้ความรุนแรง แต่สั่งสมความรู้สึกทางอารมณ์ และจิตใจในด้านลบ ข้าพเจ้ามักตั้งคำถามกับตัวเองเสมอกับเรื่องราวเหล่านี้ “ซีแย” กะนะบอกขณะข้าพเจ้ากำลังละหมาด (ซีแย = คนไทยพุทธ, สยาม) “เราไม่ใช่ซีแยน่ะ บรรพบุรุษเรามุสลิมแท้ๆ เพียงแต่เราพูดมลายูแบบกะนะไม่ได้” ข้าพเจ้าตอบ “กะนะกลับเอาอัลกุรอานที่บ้าน เราก็จะไปเอาของเรามา แล้วไปเจอกันที่มัสยิด ไปอ่านอัลกุรอานพร้อมกันว่า เราเปล่งเสียงคำอ่านเหมือนกันไหม” ข้าพเจ้าบอก เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยคำกล่าว “มาอัฟ” ของกะนะ มาอัฟ ที่แปลว่า “ขอโทษ” แต่ความไม่เข้าใจของเพื่อนบ้านมุสลิมในพื้นที่ลักษณะนี้ก็ยังมีบ่อยครั้งตลอดช่วง 3 ปีต่อมา เราไม่ใช่มุสลิมด้วยกันหรือ เราอ่านอัลกุรอานเล่มเดียวกันหรือไม่ เรามีพระเจ้าองค์เดียวกันใช่หรือไม่ “เรา” รอคอยเวลาที่เข้าจะเห็นเราเป็นมุสลิมเหมือนเขา “เรา” เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง เข้าใจ เข้าถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชนมุสลิมท้องถิ่น เวลาผ่านไป การยอมรับชนมุสลิมนครฯ ปรากฏประจักษ์ชัด การยอมรับในตัวตน การเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะการชุมชนและกิจกรรมที่จัด การช่วยเหลือเกื้อกูล การพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน และการสร้างงานสร้างรายได้ของคนในชุมชนที่เกิดจากคนมุสลิมนครฯ และสิ่งสำคัญ วัฒนธรรมการแต่งกายที่ชัดเจน เป็นมุสลิมด้วยกัน คำถามต่างๆ คลี่คลายเป็นคำตอบด้วย “กาลเวลา” พิสูจน์การเป็นมุสลิมให้มุสลิมด้วยกันเห็น “I SEE YOU ข้าพเจ้าเป็นมุสลิม” ต้นฉบับอีกชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องสั้น “เรื่องเล่าจากสวนยาง” โดย Nawaf Leesahad บอกเล่าบรรยากาศพื้นถิ่นและความสะเทือนใจ เขาเริ่มต้นเรื่องว่า ต้นยางพาราและมะพร้าวยืนต้นรายเรียงเป็นแถวหลายสิบกิโลเมตร ตระหง่านตลอดเส้นทางสายบุรี-ปานาเระ ไอดินโชยกลิ่นหลังสิ้นสุดฝนเม็ดสุดท้าย ใบไม้ร่วงโรยปิดทับไม่เหลือช่องว่างให้ผืนดินได้เสนอหน้า ยามสายลมพัดผ่าน ความหนาวซ่านแผ่ทุกอณูหัวใจ สัมผัสได้ถึงการจากไปเพื่อรองรับการเกิดใหม่อีกครั้ง ไม่ต่างจากใบยางอ่อนที่จะผลิให้เห็นในอีกไม่ช้า ความรู้สึก “สงบ” ดั่งต้องมนตรา คล้ายกับว่าได้ไปสู่อีกมิติที่ไกลออกไป ช่างเป็นมิติที่ต่างราวฟ้ากับเหวกับสิ่งที่ทีวีฉายภาพฉากความรุนแรงระหว่าง “คนกับคน” ที่มีความเชื่อ – อุดมการณ์ - แนวคิด ที่แตกต่างจากตน นำมาสู่การเข่นฆ่านองเลือด ณ ปลายดินแดนด้ามขวาน... จิตใต้สำนึกปลุกอาแดตื่นจากห้วงภวังค์ความฝัน เมื่อครั้งถึงเวลาเช้าตรู่ตีสามของทุกวัน ความยากแค้นลำเค็ญเร่งเร้าให้เขาต้องดิ้นรนตัวเองตั้งแต่เด็ก เขารู้จักความหิวโหยจึงรู้คุณค่าของการมีกิน อาแดออกจากบ้านซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองสู่ชนบทราวสิบห้ากิโลเมตร ความห่างไกลไม่ได้ทำให้เขาหวาดกลัว แม้ความมืดมิดก็มิอาจทำให้ไหวหวั่นต่อสถานการณ์ความไม่สงบ นี่ไม่เป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวัน “การกรีดยาง” ยังคงดำรงอยู่ทุกวี่วัน ทุกรุ่งสางเมื่อเดินทางถึงสวนยาง พลางความทรงจำเมื่อสองปีที่แล้วก็พรั่งพรูออกมา... ขณะที่เขากำลังศึกษาอยู่ในระดับป.ตรี ชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย เป็นการเตรียมตัวสู่แม่พิมพ์ของชาติ เขารักการสอนภาษาไทยและรักเด็กๆ ในชุมชนไม่แพ้กัน แม้จะมีสำเนียง “ทองแดง” เป็นเอกลักษณ์ มันอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ใครต่อใครดูถูก แต่เขาไม่เคยใส่ใจ การดูแคลนไม่ทำให้เขาหวั่นไหวแม้แต่น้อย เป้าหมายของเขายิ่งใหญ่กว่าการจมปลักกับคำโง่ๆ ของพวกงี่เง่าเหล่านั้น วันนั้นเขาเคร่งเครียดอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบปลายภาคในช่วงเที่ยงวันซึ่งฟ้ามัวฝน อากาศกำลังสบายพลันความร้อนก็แทรกเข้ามาพร้อมเสียงมือถือที่ดังขึ้น “อัสสลามมูอาลัยกุม...อาแดรีบกลับบ้านมานะ” “เกิดอะไรขึ้น คอลานา” คู่สนทนา เงียบเสียงสักครู่ ก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “อาเยาะกับมามาโดนระเบิด” เหมือนหายใจไม่ทั่วท้อง ใจของเขาเต้นรัว ใบหน้าซีดเซียว เข่าทรุดไร้เรี่ยวแรง กว่าจะตั้งตัวได้ก็ล่วงผ่านเกือบชั่วโมง ระหว่างเดินทางกลับก็เฝ้าภาวนาไม่ให้มีใครบาดเจ็บร้ายแรง ไม่ให้ใครเป็นอะไร ขออย่าให้ใครจากไปด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้เลยและเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ทว่าภาวนาของเขาไม่เป็นผล....น้ำตาเพียงสิ่งเดียวที่ยังอยู่เคียงข้างเขา ไม่มีอีกแล้วลมหายใจของอาเยาะและมามา เนิ่นนานแค่ไหนที่เขาต้องทนกับความเจ็บปวด เหยื่อของความบิดเบี้ยวทางความคิดคือคนในครอบครัวที่ยากจะทำใจรับได้ถึงการสูญเสียนี้ ความถูกผิดเป็นเพียงมายาคติ อุดมการณ์ห่าเหวกับผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเงื่อน โดยมีเลือดเป็นอาหารอันโอชะของคนบางกลุ่มสร้างความขัดแย้ง รอยแผลเป็นกลางหัวใจที่มิอาจรักษาได้ เพื่อขายแนวคิดสันติภาพท่ามกลางซากศพของผู้บริสุทธิ์ Nawaf Leesahad จบเรื่องเล่าของตนด้วยการตั้งคำถามมากมาย ต่อความล้มเหลว ความผิดหวัง และความเศร้าเสียใจ โดยเฉพาะกับภาพฝันที่ต้องการเป็นครูภาษาไทย โดยทิ้งท้ายภาพชวนหดหู่แต่ก็อวลด้วยความหวังว่า “ใกล้ยางผลัดใบอีกรอบ น้ำยางลดน้อยลงทุกวันๆ อีกไม่นานรายได้จากส่วนนี้ก็คงหายไป อาแดยังคงเฝ้ารอฤดูกรีดยาง ช่วงนี้รายได้จากเงินเดือนครูยังคงอยู่ รอยยิ้มของเด็กน้อยในรั้วโรงเรียนสร้างความสุขให้อาแด ไม่ต่างจากต้นยางโอบกอดเขาไว้จากความขัดแย้งและความรุนแรงกรุ่นในดินแดนแห่งนี้...” นี่คืออีก 2 เรื่องราวที่กลั่นผ่านตัวหนังสือ จากผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ชายแดนใต้