ทองแถม นาถจำนง ในยุค 4.0 ทำไมคนไทยยังบูชา พญานาค , บน (ใช้เส้นสายใต้โต๊ะหรือคอรัปชัน)เทวดา , เชื่อคนทรงเจ้าเข้าผี , ห้อยพระเครื่องเพื่อป้องกันร่างกาย “ยิงฟันไม่เข้า” (ส่วนจิตใจจะชั่วร้ายเพียงใด ไม่เกี่ยว) ฯลฯ ตอบแบบอ้างวิชามานุษยวิทยาว่า นั่นเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมไทยที่นับถือศาสนาผีมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่นั่นก็สี่พันปีมาแล้ว...มนุษย์ต้องนับถือผี เพราะมนุษย์โบราณอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่ได้ สังคมยังไม่มีการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยและสิทธิของปัจเจกชน มนุษย์โบราณป้องกันรักษาตัวเองจากภัยทั้งธรรมชาติและภัยจากบุคคลอื่น ๆ ไม่ได้ มนุษย์จึงต้องแสวงหาความคุ้มครองจากสิ่งที่เชื่อว่า “เหนือ” ธรรมชาติ ตามการวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ภาวะดังกล่าวข้างต้น ควรจะค่อย ๆ ลดทอน เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ แต่สังคมไทยคงจะวิวัฒนาการช้า ๆ ความเชื่อดึกดำบรรพ์จึงยังคงดำรงอยู่อย่างหนาแน่น (ไม่เชื่อก็ไปที่คำชะโนด) ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยวิจารณืเรื่องนี้ไว้ว่า “น่าประหลาดหรือไม่ที่ในประเทสไทย ซึ่งกำลังมีการพัฒนาในทางเศรษฐกิจตามหลักวิทยาศาสตร์นี้ ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และของขลังต่าง ๆ ตลอดจนความเชื่อถือในโชคชาตาซึ่งอาจรู้ล่วงหน้าได้ และถ้าไม่ดีก้อาจปักเป่าให้กลายเป็นดีได้นั้น กำลังมีมากขึ้นทุกที มีทีท่าว่าจะขยายตัออกไกว้างไกลกว่าในปัจจุบันนี้อีกมาก การพัฒนานั้นทำให้เกิดความเจริญในทางวัตถุอย่างไม่มีปัญหาละหักเกณฑ์ตลอดจนเหตุผลที่จะต้องนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศก็จะต้องเป็นหลักเกณฑ์และเหตุผลในทางวัตถุอย่างไม่มีปัญหาเช่นเดียวกันเรียกกันดดยทั่วไปว่าการใช้เหคุผลในทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราจะดูตัวบุคคลที่ต้องใช้เหตุผลในทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศนี้แล้ว เราก้อาจจะพบคนต่าง ๆ ต่อไปนี้เป็นจำนวนไม่น้อยคือ วิศวกร ที่พกเครื่องรางเป็นพวงใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อถือลุ่มหลงในการทรงเจ้าเข้าผี นักเศรษฐศาสตร์ ที่เชื่อดวง และผู้มีอำนาจวาสนาซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีหลวงพ่อแก่ ๆ ที่อยู่ตามวัดบ้านนอกไว้เป็นที่ปรึกษา ความจริงความคิดที่ใช้เหตุผลและมีหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นความคิดที่มาจากตะวันตกโดยแท้ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นหลังจากที่ฝรั่งได้เลิกเชื่อถืความงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของขลังต่าง ๆ ฝรั่งเรียกว่า Post Renaissance Thought ฝรั่งในปัจจุบันได้ใช้ความคิดแบบนี้ในกิจกรรมทุกอย่าง และในการค้นคว้าทุกอย่าง...........” เรื่องนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า ๕” วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๖ ซึ่งในช่วงนั้น มหาวิทยาลัยในอเมริกาเกิดปรากฏการณ์ว่า นักศึกษากลับนิยมเรียนวิชาเกี่ยวกับไสยศาสตร์กันมาก ทำไมเยาวชนอเมริกันยุคนั้น หันไปสนใจไสยศาสตร์ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช มีคำอธิบายต่อไปว่า “มีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อเมริกาอีกคนหนึ่งให้เหตุผลไว้น่าฟังว่า ในสังคมมนุษย์ทุกวันนี้ บุคคลมีความรู้สึกว่าคนไม่มีอำนจที่จะควบคุมโชคชาตาของตนเองอีกต่อไป การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของขลังต่าง ๆ ตลอดจนการเชื่อในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ทำให้คนรู้สึกว่า ตนสามารถจะควบคุมชาตาของตนเองต่อไปได้ด้วยสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์ทธิ์ของขลังตลอดจนโหราศาสตร์จึงมีมากยิ่งขั้นในสังคมปัจจุบัน หันกลับมาดูเมืองไทยเราแล้วก็น่าคิดว่า เหตุที่คนไทยหันไปนับถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของขลัง ตลอดจนโชคชาตาราศีกันมาก ก็น่าจะเป็นเหตุเดียวกัน เพราะคนจำนวนมากในเมืองไทยเราทุกวันนี้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ตนเองไม่สามารถจะควบคุมชีวิตหรือโชคชาตาของตนเองได้จึงต้องหันเข้าหาสิ่งศักดิ์ทธิ์ของขลัง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวและให้กำลังใจ ในอันที่จะดำรงชีวิตต่อไปในสังคมอันยุ่งยากสับสนนี้ได้” ข้าพเจ้าคนนึงล่ะ ที่ยอมรับว่า ไม่สามารถจะป้องกันรักษาความปลอดภัยในชีวิตของข้าพเจ้าและครอบครัวได้อย่างมั่นใจ เพราะอุบัติเหตุและอาชญากรรมเกิดได้ง่าย และเกิดมากมายเหลือเกิน ข้าพเจ้าคนนึงล่ะ ที่ยอมรับว่า ไม่สามารถจะกำหนดการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้ยกฐานะเป็นคนร่ำรวยได้ ข้าพเจ้าคนนึงล่ะ ที่ยอมรับว่า “อำนาจนอกระบบ” ในสังคมไทยมีสูง และก่ออันตรายแก่ปัจเจกชนได้มาก ข้าพเจ้า “กำลังจะ” ยอมรับว่า ไม่มีหนทางปฏิรูปสังคมไทยได้ตามอุดมคติ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แต่มองว่ามันเป็น “ตถตา” ...เป็นเช่นนั้นเอง