ทองแถม นาถจำนง เคยสังเกตกันหรือไม่ว่า หน้าหมวกของทหารบกและทหารอากาศมีตราอุณาโลม ส่วนของทหารเรือไม่มี แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่า “อุณาโลม” ซึ่งในสมัยโบราณใช้กันในด้านศาสนา ทำไมมาเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ และทำไมทหารเรือไม่ใช้ คำตอบสำหรับปัญหาข้อแรก ข้าพเจ้าพบคำอธิบายแล้ว ส่วนปัญหาข้อที่สอง ยังหาคำตอบไม่ได้ครับ ท่านใดทราบก็ขอให้เผยแพร่เป็นวิทยาทานด้วย ก่อนจะตอบว่าทำไมตราอุณาโลมมาเป็นเครื่องหมายกองทัพ มาดูข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตราอุณาโลมกันก่อนครับ “อุณาโลม" ตามรูปศัพท์แปลว่า ขนระหว่างคิ้ว หรือเครื่องหมายระหว่างคิ้วพระพุทธรูป หรือเครื่องหมายอย่างรูปหน้าหมวกทหาร อุณาโลม (ป.) หรืออูรณา (ส.) คือพระโลมา (ขน) ระหว่างพระขนง (คิ้ว) ในพระสุตตันตะปิฏก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร กล่าวว่าพระอุณาโลมเป็นลักษณะมหาบุรุษ 1 ใน 32 ประการ กล่าวคือ บังเกิด ณ ระหว่างพระขนง มีสีขาวอ่อน เปรียบด้วยนุ่น (อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา โหติ โอทาตา มุทุตูลสนฺนิภา) ในงานศิลปกรรมมักแสดงเป็นจุดวงกลม ใช้กันทั้งฮินดูและพุทธ อุณาโลมปรากฏ ตั้งแต่ศิลปะอินเดีย สมัยที่ 2 ในพระพุทธรูปทุกสกุลศิลปะ อุณาโลมจะเปล่งรังสีให้ความรู้และความสว่างแก่โลก จึงเป็นเครื่องหมายของการตรัสรู้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงใช้ตราอุณาโลมเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ นี่เป็นต้นเค้าสำคัญทำให้ตราอุณาโลมมาอยู่ในตรากองทัพไทย ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าว่า “ตราหน้าหมวกทหารบกไทยนั้นปรากฏว่าเป็นรูปอุณาโลม รูปอุณาโลมนี้ในเมืองไทยเราเคยถือว่เป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เห็นแตกต่างจากรูปไม้กางเขนอันเป็นตราของพระเยซูศาสดาของศาสนาคริสเตียน สภากาชาดเมื่อแรกตั้งในเมืองไทยนั้น มิได้ใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างในปัจจุบันเลย ชะรอยคนในสมัยนั้นจะรังเกียจไม้กางเขน จึงยักย้ายทำเครื่องหมายเป็นรูปอุณาโลมสีแดง และเรียกว่า สภาอุณาโลมแดง ภายหลังจึงมาเปลี่ยนทั้งชื่อและเครื่องหมายเป็น สภากาชาด เพื่อให้เข้ากับองค์การกาชาดสากลได้ บางทีท่านผู้คิดเครื่องหมายอุณาโลมสำหรับติดหน้าหมวกทหารไทไยนั้นก็ได้คำนึงถึงพระพุทธคุณเป็นที่ตั้ง จึงได้กำหนดให้ใช้เครื่องหมายของพระพุทธเจ้าติดหน้าหมวกทหารไทยทั่วไป แต่ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับอุณาโลมของทหารไทยอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังไว้ จึงขอบันทึกไว้ในที่นี้มิให้สูญ เมื่อรัชกาลที่ 1 ตอนที่ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าปดุงยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทยเป็นหลายทางนั้น ไดมีการระดมพลใหญ่และชุมนุมทหารเป็นจำนวนมากอยู่ในกรุงเทพ ขณะนั้นทหารทั้งปวงต่างใช้เครื่องรางผ้าประเจียดของขลังจากต่างอาจารย์กัน ต่างฝ่ายต่างก็ว่าอาจารย์ของตนดี มีการท้าทายให้ฝ่ายอื่นมาทดลองของดีของขลังกันอยู่เสมอ เกิดบาดเจ็บล้มตายกันบ่อย ๆ ในที่สุดก็เกิดแตกแยกสามัคคีกัน มีเหตุวิวาทกันไปทั้งกองทัพ เพราะถืออาจารย์ต่างกัน และใช้ผ้าประเจียดเสื้อยันตร์และเครื่องรางจากหลายอาจารย์ด้วยกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ได้ตกลงเป็นแน่นอนที่จะยกทัพหลวงไปรับพม่าทางไทรโยค และรบเอาแพ้ชนะให้เด็ดขาดกันไป ณ ที่นั้น ทั้งสองพระองค์จำต้องวางพระบรมราโชบายให้เกิดความสามัคคีขึ้นในกองทัพไทยเสียก่อน มิฉะนั้นจะเอาชัยชนะแก่ข้าศึกมิได้ จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ทหารในกองทัพหลวงทั้งปวงเอาเครื่องรางของแต่ละคนมารวมไว้ ณ ที่เดียวกัน ห้ามมิใช้นำไปใช้ต่อไป ขณะนั้นก็ให้ทำผ้าประเจียดมียันตร์อุณาโลมขึ้นเป็นจำนวนมาก และทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯไปยังพระอุโบสถวัดชนะสงครา ทรงบริกรรมปลุกเศกผ้าประเจียดทั้งปวงนั้นอยู่จนรุ่ง แล้วจึงโปรดให้แจกกจ่ายผ้าประเจียดนั้นให้ทหารทุกคนโพกศรีษะเสมอเหมือนกันมิได้จำกัดว่านายหรือพล ความสามัคคีก็เกิดขึ้น เพราะทหารทั้งกองทัพมีของคุ้มกันตัวอย่างเดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน มิได้ต่างคนต่างอาจารย์ดั่งแต่ก่อน ครั้งนั้นไทยรบชนะข้าศึกอย่างเด็ดขาด เป็นศึกครั้งสุดท้ายที่ทำกับพม่า พม่าแตกทัพไปครั้งนั้นแล้วก็มิได้มารบกวนไทยอีกเลย คนไทยมีสันติสุขได้สร้างเนื้อสร้างตัวต่อมาอีกเป็นเวลาช้านาน ท่านผู้ใหญ่ที่ท่านเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง ท่านเป็นนายทหารสมัยรัชกาลที่ 5ได้อยู่ในที่ประชุมกระทรวงกลาโหมกำหนดเครื่องแบบทหารไทย รู้เรื่องอย่างใกล้ชิด ท่านเล่าว่าประวัติเรื่องนี้ได้มีคนพูดขึ้นในที่ประชุม เป็นเหตุหนึ่งที่ทหารไทยใช้อุณาโลมติดหน้าหมวกต่อมา” (จากหนังสือ “ฝรั่งศักดินา” บทที่ 15)