ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ตลอดหลายปีมานี้ รากเหง้าปัญหาหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เรื่องของการ “อำนวยความเป็นธรรม” จากภาครัฐ สู่ภาคประชาชน นำไปสู่การร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ข้าราชการส่วนหนึ่ง ก็พยายามปฏิบัติหน้าที่ด้านการอำนวยความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ จึงเกิดช่องว่างว่า สรุปแล้วความจริงในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร และทุกคนทุกฝ่าย ควรจะหาทางแก้ไข หรือมีข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้เช่นใด มีผลการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย ศิริวิตญ์ ดอกแก้ว สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่สะท้อนภาพรวมเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยการตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาระดับการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4) ศึกษาแนวทางการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้การวิจัยแบบผสม ซึ่งการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรคือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน สังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,061 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ สถิติที่ใช้คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงพหุคูณ ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และผู้นำภาคประชาชน จำนวน 15 คนโดยการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ระดับการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับมาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมได้แก่ นโยบายรัฐบาล การเมือง คุณลักษณะของหน่วยปฏิบัติ การสื่อข้อความ การบังคับใช้กฎหมาย ทัศนคติของผู้ปฏิบัติ เศรษฐกิจและสังคม ส่วนปัญหาของการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการติดตามงาน สำหรับแนวทางในการพัฒนาการอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการนิเทศงานด้านการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่ ผู้นำควรให้ความสำคัญ การสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาเรื่องการอำนวยความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ที่ส่งผลต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างมาก ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำผลการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 ด้าน มานำเสนอโดยละเอียด ดังนี้ เริ่มจาก ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของการแก้ปัญหาการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจนได้ข้อยุติ ผู้วิจัยซึ่งก็คือ ดร.ศิริวิตญ์ ดอกแก้ว นำเสนอว่า ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรและให้อำนาจโยกย้ายตามความเหมาะสมได้ เกิดประสิทธิภาพของการแก้ปัญหาการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจนได้ข้อยุติจำนวนมากตามเจตนารมณ์ของกฎหมายพอสมควรเพราะ และในระดับภูมิภาคนั้น จังหวัด และอำเภอก็มีการดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว เรื่องการควบคุมตรวจสอบ กำกับดูแลให้ข้าราชการในพื้นที่มีการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง และการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมและเป็นธรรมยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในพื้นที่พิเศษซึ่งมีความละเอียดอ่อนทางอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีช่องว่างในการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงมหาดไทยที่มีศูนย์ดำรงธรรมทั้งในระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ส่วนของกระทรวงยุติธรรมยังมีศูนย์ระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับจังหวัด และระดับตำบลด้วย ซึ่งอาจมีความซ้ำซ้อนและขาดการบูรณาการการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สำหรับประเด็นที่ 2 เรื่องปัจจัยด้านความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน ด้านการค้าการลงทุนปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง บางครั้งก็อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ กับร้านค้า หรือกับจุดจอดรถยนต์รับจ้าง ในหลายพื้นที่ยังมีการจ่ายผลประโยชน์กันอยู่บ้าง ถ้าเราให้ความสำคัญกับทุกคน นักลงทุนหรือผู้ประกอบการย่อมมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ต้องสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย การค้าการลงทุนและการตลาดในพื้นที่ได้พอสมควรและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งการลงทุนขนาดใหญ่อาจต้องใช้มาตรการการจูงใจเสริมมากขึ้น การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การให้โอกาสในการพัฒนาอาชีพและรายได้ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง นำมาซึ่งความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนในพื้นที่ได้ การอำนวยความเป็นธรรมให้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนระดับรากหญ้า แต่การอำนวยความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจระดับมหภาคที่มีผลต่อการค้าการลงทุน ยังอยู่ในมือของกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดอยู่อย่างเหนียวแน่นในปัจจุบัน ไว้ตอนต่อไปผู้เขียนจะลงลึกในรายละเอียดถึงปัจจัยด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ปัจจัยด้านการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจนได้ข้อยุติ รวมถึงข้อเสนอแนะที่น่าจะมีประโยชน์ยิ่ง หากผู้ปฏิบัติงานหรือหน่วยงานรัฐ นำไปใช้ทำงานจริงในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง