สถาพร ศรีสัจจัง การเชื่อมโยง (The Connecting) หรือ “ศิลปะแห่งการเชื่อมโยง” (The art of connection) กลายเป็นคำสำคัญ(Keyword) ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มนักคิด (The Thinker) หรือในกลุ่มปัญญาชน (The Interlectual) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในวงการการศึกษาสมัยใหม่ ถือกันว่า “การเชื่อมโยง” นั้น เป็น “กระบวนการ” (Processing) สำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนรู้ (The learning procession) ทั้งของผู้วางระบบ ผู้สอน และ ผู้เรียน ที่จริง “การเชื่อมโยง” เป็น “วิธีวิทยา” (Methodology) ของบรรดานักคิดในสายสกุล “องค์รวม” (Holistic) มานานแล้ว นักคิดในสายสกุลนี้สถาปนาคติที่ว่า “ผองสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว ปรากฏการณ์หนึ่งของสิ่งธรรมชาติหนึ่ง จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์และส่งผลสะเทือนต่ออีกสิ่งหนึ่งหรือต่อสรรพสิ่งเสมอ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่มนุษย์สามารถมีศักยภาพสังเกตรับรู้ได้และไม่สามารถสังเกตรับรู้” การคิดประดิษฐ์วลีสวยๆ เช่น “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ก็ล้วนมาจากคติความคิดเช่นนี้เอง “การเชื่อมโยง” เป็น “เทคนิค” (Technic) แห่งการ “เชื่อมร้อย” เป็นดัง “ข้อต่อ” ของการผูกโยงภาพย่อยๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดเป็น “ภาพเต็ม” หรือ “ภาพองค์รวม” ของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นให้ประจักษ์ชัด เช่น ถ้าเราต้องการจะเข้าใจหรือ “ประจักษ์ชัด” ว่า “น้ำ” มีองค์ประกอบหรือมีที่มาที่ไปอย่างไร? เราก็จำต้องแยกแยะองค์ประกอบออกมาเรียนรู้ให้เห็นว่า มันเกิดจากกระบวนการเชื่อมโยงของออกซิเจน 2 ส่วนกับไฮโดรเจน 1 ส่วน ภายใต้เงื่อนไขภววิสัยที่เหมาะสมหนึ่ง(เช่นอุณหภูมิในขณะที่สิ่งนั้นก่อเกิด) ด้วยกระบวนทัศน์เช่นนี้เอง ที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์(Scientist)หรือคนที่มี “กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์สังคม”(Social scientific Paradign)รับรู้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งได้อย่างลุ่มลึกแจ่มชัดอย่าง “เป็นเหตุเป็นผล” ( “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” หรือ “สิ่งทั้งหลายมีเกิดขึ้นเพราะการอิงอาศัยกัน” ตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท”/หรือหลัก “อิทัปปัจจยตา” ในพระพุทธศาสนา) นี่คือ “เครื่องมือ” (Tool) สำคัญที่ “นักยุทธศาสตร์” (Strategist) หรือนักพยากรณ์สังคมใช้เพื่อการ “วิเคราะห์” (Analysis) หรือ “สังเคราะห์” (Synthesis) เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อหยั่งลงไปให้ลึกถึง “เหตุปัจจัย” ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์นั้นๆ ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เมื่อรู้เหตุชัดแจ้ง จึงจะสามารถ “วางแผน” เพื่อตั้งรับ/ “เพื่อแก้ปัญหา”/หรือ “เพื่อรุกโต้ตอบ” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ข้อสรุปสุดท้ายที่นักวิเคราะห์สังคมมือฉมังทั้งหลายต้องรู้ ก็คือ เมื่อมี “เครื่องมือ” ในการวิเคราะห์ที่เป็น “วิทยาศาสตร์”เรียบร้อยแล้ว และผู้ใช้มีความชัดเจนพอในการใช้พอควรแล้ว ตัวชี้ขาดว่า “การวิเคราะห์” หรือ “การสังเคราะห์” ครั้งนั้นๆจะ “แม่น” และ “ไม่พลาด” แค่ไหนนั้น จะตกอยู่ที่ “ข้อมูล” (Data) หรือ “ข้อเท็จจริง” (Fact)ในการนำมาประกอบเป็น “กระบวนการเชื่อมโยง” ว่ามีความเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพหรือไม่อย่างไร ! เช่นถ้าต้องการรู้ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ “โทนี่ วูดซั่ม” (Tony Woodsome) คือใคร? มาจากไหน? มีความสำคัญเชิงคุณภาพในแง่ความเป็น “Keyman” ในประเด็น “ความขัดแย้งทางสังคม” ในสังคมไทยวันนี้อย่างไร? และ มีแนวโน้มเกี่ยวกับคนคนนี้ในแง่ เป้าประสงค์,ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี,องค์กรขับเคลื่อน,กลุ่มคนที่เป็นมือเป็นตีนหลักๆ,กลุ่มร่วมผลประโยชน์,กลุ่มมวลชนที่เชื่อถือศรัทธาอย่างมั่นคง ฯลฯอย่างไร?ฯลฯ ก็ต้องมี “ข้อเท็จจริง” ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้นี้อย่างรอบด้านลุ่มลึกจริงๆ จึงจะสามารถ “วิเคราะห์” และ “สังเคราะห์”เรื่องดังกล่าวนี้ได้แบบ “แม่นยำจับวาง”! เช่น ต้องรู้ประวัติชีวิตส่วนตัวอย่างละเอียด (จนสามารถวิเคราะห์สันดาน นิสัย รสนิยม ข้อเด่น ข้อด้อยในตัวตน ฯลฯ)ว่า สืบเชื้อสายมาจากใครอย่างไร(ทำไม “ตระกูล” ของพ่อ “ทักษิณ” ต้องย้ายจากจันทบุรีไปตั้งรกรากที่เชียงใหม่ ที่เมืองสันกำแพง ต้นตระกูลของทักษิณเริ่มทำอะไร ก่อร่างสร้างตัวมาอย่างไร นายเลิศ ชินวัตร พ่อของ “ทักษิณ” สร้างตัวจนได้เป็น.และ ส.ส.เชียงใหม่มาได้อย่างไร? นายเลิศ เอาทักษิณมาเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตอย่างไร? และทำไม? นายเลิศเอา “ทักษิณ” มาฝากเป็น “นายตำรวจติดตามรัฐมนตรี” นายปรีดา พัฒนถาบุตร(ส.ส.เชียงใหม่รุ่นเดียวกับนายเลิศ) ได้อย่างไร? เพราะอะไร? นายปรีดา พัฒนถาบุตร มีส่วน “สร้าง” ทักษิณในทางการเมืองอย่างไร? ผู้วิเคราะห์ อาจจะต้องรู้ไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนที่สัมพันธ์กับ “ทักษิณ” ในเบื้องต้นในการ “สร้างตัว” ของเขาอย่างละเอียดด้วย เช่น คุณปรีดาฯ ที่ช่วย “สร้าง” และ “ส่งเสริม” ทักษิณเป็นใครในเชียงใหม่? สัมพันธ์ กับ ตระกูลก๊กใหญ่อย่างตระกูลของเจ้า “ขุนศึกเม็งราย” (สายราชสำนักเชียงตุง) และตระกูล ณ เชียงใหม่ ได้อย่างไร?/ “ทักษิณ” แต่งงานกับภรรยาที่ชื่อ “พจมาน ณ ป้อมเพชร” ได้อย่างไร? /ตระกูล “ณ ป้อมเพชร” เกี่ยวข้องกับ “ปรีดี พนมยงค์” อย่างไร? ฯลฯ และรายละเอียดจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ถึง “โทนี่ วูดซั่ม” ละ? มีรายละเอียดความเป็นมาอย่างไรบ้าง? การจะรู้ “ข้อเท็จจริง” ที่มีปริมาณกว้างขวาง และ ลึกล้ำเช่นนี้ได้อย่างสมบูรณ์ มีความจำเป็นต้องมี “ระบบสืบค้น”อย่างเป็นระบบ มีทีมทำงานที่หลากหลายความชำนาญการ นั่นคือต้องมี “วอร์รูม”! “วอร์รูม” อย่างที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เคยกวาดต้อนเอาบรรดา “นักคิด นักเคลื่อนไหว นักปฏิวัติ และ คโนแครต” ที่เป็นผลิตผลของ “เหตุการณ์เดือนตุลาฯ” (2516+2519) คนสำคัญๆไปกองไว้เพื่อเป็น “สมอง” ในการคิดวางแผน คิดนโยบาย และการ “รุก-รบ” ในเรื่องต่างๆทั้งหลายนั่นแหละ! (ปัจจุบันยังดำรงอยู่หรือเปล่า? ถ้ายังดำรงอยู่ในรูปแบบใด?) ถามจริงๆเถอะ! ท่านนายกฯลุงตู่ที่รัก! ท่านพอจะมีบุคลากรคุณภาพในการวิเคราะห์ “ความเชื่อมโยง” ของเรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มี “คุณภาพ” อย่างที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ในอดีต หรือ “พี่โทนี่” ในปัจจุบันสมัย มีอยู่บ้างหรือเปล่า? ถ้ามี ทำไมการจัดการ และ การวางแผนแก้ปัญหาเรื่อง “โควิด-19” ตั้งแต่ “ต้นจน(จะ)ไม่จบ” จึงมั่วซั่วได้ถึงขนาดนี้?!!!!