ทองแถม นาถจำนง ข้าพเจ้านอนป่วย เขียนหนังสือไม่ได้อยู่หนึ่งสัปดาห์ จะว่าแย่ มันก็แย่ เพราะมันเป็น โรคา พยาธิ ชรา มรณะ แต่จะว่าดีก็ได้เหมือนกัน คือไม่ต้องคิดเรื่องความรับผิดชอบการงานใด ๆ อันเรื่องความรับผิดชอบการงานของข้าพเจ้า ส่วนใหญ่มันก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวกิน-อยู่ -หลับนอน แต่มันเป็นเรื่องที่โยงใยกับโลกกับสังคม จึงเป็นภาระทางสมองให้ขบคิดกังวล พอป่วย ถูกบังคับให้หยุดคิดอยู่หลายวัน ใจมันก็สบายขึ้น ครั้นต้องกลับมาสู่ภาวะการงานเหมือนเดิม ก็เลยเกิดอาการ “กลัวโลก” ขึ้นมา เหมือนกับที่อาจารย์หม่อมเคยบ่นว่า “กลัวโลก” ท่านเล่าไว้ในคอลัมน์ “สยามรับ หน้า 5” ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2512 ว่า “ผมเกิดกลัวโลก ทำไมจึงเป็นไปได้อย่างนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อแรกเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล หมอบอกให้นอนนิ่ง ๆ ไม่ให้ลงจากเตียงเด้กขาด ผู้รู้สึกเดือดร้อน นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างที่หมอสั่งได้อย่างไร แต่ในที่สุดก็ต้องทำ เพราะหมอให้นางพยาบาลมานั่งคุมอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จะกระดิกกระเดี้ยอะไรมากก็ค้อนให้ ผมกลัวก็เลยทำตามหมอสั่งอยู่หลายวัน อาการก้ดีขึ้นเรื่อย ๆ หมอเห็นอาการดีแล้วก็บอกให้ลงจากเตียงได้ และให้เดินอยู่ในห้องเป็นการออกกำลังดูบ้าง เพื่อจะสอบว่า หัวใจมันทนได้แค่ไหน ผมกลับไม่อยากลงจากเตียง อยากนอนอุตุอยู่อย่างนั้นทั้งกลางวันกลางคืน สบายดี แต่พยาบาลก็บอกให้ลงจากเตียงบ้างตามหมอสั่ง อาการก็ยิ่งดีกระปรี้กระเปร่าขึ้น ตอนนี้หมอบอกว่า อยากออกนอกโรงพยาบาลไปเที่ยวข้างนอก หรือไปหาอะไรกินตามร้านข้างนอกบ้างก็ได้ แต่ให้กลับมาโรงพยาบาล และให้นอนที่โรงพยาบาล เพราะจะต้องพตรวจอาการกันต่อไปอีกเรื่อย ๆ ผทก็ลองออกไปหนหนึ่งแล้วก็กลับมาโรงพยาบาล ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่กล้าออกไปอีก เพราะเมื่อตอนที่ออกไปจากโรงพยาบาลเพียงครู่เดียวนั้น โลกภานอกดูวุ่นวาย ฉุกเฉินและอึกทึกครึกโครม น่าตระหนกตกใจเสียนี่กระไร รู้สึกหวาดหวั่นไปหมด ต่อมาหมอก็มาตรวจอีก แล้วบอกว่าอาการดีขึ้นมาแล้ว อีกหกเจ็ดวันจะให้กลับบ้าน พักผ่อนกินยาที่บ้าน อีกสี่ซ้าห้าวันก็จะหายเป็นปกติ ทำการงานได้ต่อไป ผมก็ทำหน้าชื่นแสดงอาการดีใจให้หมอดู แต่ในใจจริงนั้นผมไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากออกไปสู่โลกภายนอกที่วุ่นวาย ผมกลัว กลัวจริง ๆ การอยู่ในโรงพยาบาลนี้มีความสุข มีความสงบ อบอุ่น และปลอดภัย เหมือนอยู่ในท้องแม่ ไม่มีภาระที่จะต้องห่วงไยเกี่ยวกับตัวเอง เพราะภาระเหล่านั้นตกไปเป็นของแพทย์และพยาบาลทั้งสิ้น เป้นอีกภพหนึ่งแตกต่างจากโลกภายนอก เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องออกจากภพนี้ไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีแต่ความดิ้นรน มีแต่ปัญหาที่จะต้องขบคิด มีแต่งานการหนักที่รออยู่ แม้แต่จะกินเมื่อไร นอนเมื่อไร อาบน้ำเมื่อไร ก็ต้องคิดเอาเอง ไม่มีใครมาคิดให้ ผมก็เกิดความหวาดหวั่นและกลัวไปหมด ขณะนี้มีแต่ความทุกข์ กลัวหมอจะไล่ออกจากโรงพยาบาล ที่ว่าเกิดเป็นทุกข์นั้นเป็นของอย่างนี้เอง เพราะผมไม่อยากเกิดจากภพปัจจุบันไปสู่ภพใหม่ คือภพของคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในโลกนอกโรงพยาบาล แต่ขณะเดียวกันก็รู้ตัวอีกว่า หากว่าหมอมาบอกว่าเจ็บคราวนี้ไม่มีทางหาย ไม่มีวันจะได้กลับบ้าน หรือกลับไปสู่โลกภายนอกอีก ผมก็คงเป็นทุกข์แย่ไปเหมือนกัน เพราะกลัวตาย ที่ว่าการตายเป็นทุกข์ก็คงอย่างนั้น” ครับ ถึงแม้จะกลัวโลก เบื่อโลก อย่างไร เมื่อสังขารกลับมาแข็งแรงอีก มันก็จำเป้นต้องเปลี่ยน “ภพ” คือกลับออกมาทำงาน เรื่องข้างต้นนี้ อ่านเอาสนุก ๆ ก็ได้ จะอ่านเป็นปริศนาธรรมอธิบายเรื่อง “ชาติ” เรื่อง “ภพ” ของจิตก็เข้าใจง่ายดีนะครับ เสน่ห์ในงานเขียนของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็อยู่ตรงนี้ คือใคร ๆ ก็อ่านสนุก เพลิดเพลิน ส่นจะได้อะไรเจริญสติปัญญาเพียงใดนั้น ก็ขึ้นกับตัวผู้อ่านเอง วันที่เขียนเรื่องนี้ เป็นวันแรกที่ข้าพเจ้ากลับออกจาก “ภพ” คนนอนป่วย มาสู้ “ภพ” แห่งการทำมาหากินเขียนหนังสือเลี้ยงชีพ ทันทีที่เคลื่อน “ภพ” ปลิโพธก็เข้ามาเกาะจิตข้าพเจ้าทันที !