ทองแถม นาถจำนง ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กชั้นประถม อ่านหนังสือพุทธประวัติ เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสุกรแล้วประชวร จนดับขันธปรินิพพาน ข้าพเจ้าก็ต้องเชื่ออย่างนั้น จนเป็นหนุ่มเหน้าถึงมารู้ว่า “สูกรมทวะ” ที่พระพุทธเจ้าเสวยนั้น คือเห็ดชนิดหนึ่ง มิใช่เนื้อหมู แล้วก็จนโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มสนใจการปรุงอาหารฝรั่ง จึงรู้จักชื่อและเรื่องราวของเห็ดชนิดนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าปัจจุบันนี้ ตำราเรียนพุทธประวัติ ยังเขียนว่าพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหมูแล้วประชวรดับขันธปรินิพพานอย่างเดิมหรือเปล่า ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าเรื่องสูกรมทวะไว้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 ในบทความสารคดีเรื่อง “บุกภูเขาทอง” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ข้าพเจ้าจะคัดมาเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับสูกรมทวะ “เมื่อพูดถึงวิธีแปลบาลีแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับพุทธประวัติอยู่อีกปัญหาหนึ่ง คือในพระบาลีนั้น ปรากฏว่าพระพุทธองค์ได้เสวยอาหารบิณฑบาตอันประกอบด้วยสิงหนึ่งที่พระบาลีเรียกว่า “สูกรมทว” และสิ่งนั้นเป็นพิษ ทำให้พระพุทธองค์ถึงกับต้องดับขันธ์ปรินิพพาน และก็คำว่า “สูกรมทว” นั้น ถ้าจะแปลเป็นไทยตรงตัว ก็แปลว่า “หมูเห็ด” ดั่งนี้พุทธมามกะที่บริโภคเนื้อสัตว์ จึงแปลว่า อาหารที่เป็นพิษนั้นคือเนื้อหมูซึ่งได้กินเห็ดเข้าไป เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ ในข้อนี้พุทธมามกะซึ่งไม่บริโภคเนื้อสัตว์พาหันเป็นเดือดเป็นแค้น และค้านเสียงแข็งว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าไม่เสวยเนื้อสัตว์ จะเสวยเนื้อหมูเข้าไปได้อย่างไร คำว่า “สูกรมทว” นั้น ถ้าจะแปลให้ถูกจะต้องแปลว่า “เห็ดซึ่งใช้เลี้ยงหมู” จึงจะใช้ได้...... จนผู้เขียนเรื่องนี้ได้ไปเมืองฝรั่งเศส วันหนึ่งไปเที่ยวที่บ้านนอก เห็นกระทาชายนายหึ่งเดินถือเสียมและให้หมูจูงมา ลักษณะที่ให้หมูจูงนั้นคือหมูใส่ปลอกคอแบบสุนัข มีเชือกร้อยหมูนั้นเดินหน้าใช้จมูกสูดดมกลิ่นไปตามดิน ชายนั้นก็ถือหางเชือกเดินตาม สุดแล้วแต่หมูจะนำไป ครั้นได้เห็นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับอดไม่ได้ต้องเข้าไปถามว่า เล่นอะไรกัน ชายคนนั้นบังเอิญเป็นคนช่างคุย แกก็เล่าให้ฟังว่าแกจะไปขุดเห็ด เห็ดนั้นภาษาอังกฤษเรียกว่า “ทรัฟเฟิล” มีลักษณะเป็นลูกกลมอย่างใหญ่เพียงฟองไข่เป็ด ขึ้นแต่ใต้ดินไม่โผล่ขึ้นมาบนดินเลย ถ้าจะพูดไปแล้วก็เปรียบได้กับ “ดินถนัน” ของนางละเวง ฝรั่งถือว่าเป็นอาหารวิเศษนัก ซื้อขายกันในราคาแพงลิบลิ่ว และจะหาซื้อรับประทานได้ก็เฉพาะตามภัตตาคารชั้นสูงจริง ๆ เห็ดชนิดนี้คนมีทางรู้ว่าขึ้นตรงไหน แต่หมูนั้นจมูกไว สามารถสูดกลิ่นทราบได้ว่าเห็ดขึ้นตรงไหน หมูก็จะเริ่มขุดที่นั่น คนที่ไปด้วยก็จะขุดต่อเพื่อนำเห็ดนั้นไปขายอีกทีหนึ่ง ถ้าเห็ดชนิดนั้นขึ้นในภาคพื้นยุโรป ก็น่าจะขึ้นทางภาคเหนือของอินเดียเช่นกัน และถ้าฝรั่งยังเห็นเป็นของวิเศษ แขกในสมัยโน้นก็อาจเห็นเป็นของวิเศษสมควรใส่บาตรพระพุทธเจ้าได้บ้างละกระมัง เมื่อฟังตาฝรั่งเศสคนนั้นแกคุยคำว่า “สูกรมทว” ก็เสียวแผลบขึ้นมาในหัวใจ เข้าขั้น “อัญญาสิ...” ทีเดียว แต่อีตาคนนั้นเห็นจะไม่รู้ตัวว่า แกมาปลุกให้ตื่นขึ้นได้แล้ว ถ้าจะแปล “สูกรมทว” ว่าเห็ดที่หมูชอบกิน หรือเห็ดที่ต้องใช้หมูเป็นอุปกรณ์ในการขุด แปลเป็นภาษาฝรั่ง ‘ทรัฟเฟิล’ ดั่งนี้ จะน่าฟังกว่าหรือไม่เพียงใด ก็สุดแล้วแต่ท่านนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายทั้งปวง จะพิจารณาเอาเถิด” (เรื่อง “บุกภูเขาทอง” 22 พฤศจิกายน 2491 จากหนังสือ “คึกฤทธิ์ว่า” หน้า 65-68 )