ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ไม่นานมานี ผู้เขียนมีโอกาสได้ลงไปสัมผัสพื้นที่ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อีกครั้งหนึ่ง ขณะติดตาม อำนวย ฤทธิชัย เกษตรจังหวัดปัตตานี ซึ่งนำคณะกรรมการประกวด “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ” ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้านการประมงระดับประเทศ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการ 9101 ส่งเสริมอาชีพกลุ่มเลี้ยงปูดำในบ่อกระเบื้องเชิงธรรมชาติ ณ หมู่ที่ 2 บ้านบาลาดูวอ ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยมี จุไรรัตน์ แสงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริฯ เป็นหัวหน้าคณะ และ อดุลย์ หมีดเส็น นายอำเภอยะหริ่ง พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการดำเนินงานร่วมให้การต้อนรับคณะฯ บ้านบาลาดูวอ ต.บางปู นั้น เป็นชุมชนที่อยู่ริมฝั่งทะเล ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เมื่อมีโครงการ 9101 เกิดขึ้น ชุมชนแห่งนี้จึงมีแนวคิดจัดทำโครงการเลี้ยงปูดำในบ่อกระเบื้องเชิงธรรมชาติขึ้น ใช้พื้นที่จำนวน 2.5 ไร่ริมฝั่งอ่าวบางปูเป็นสถานที่ตั้งโครงการ เบื้องต้นมีสมาชิกเข้าร่วม 130 ราย การจัดการพื้นที่มีการใช้กระเบื้องซีเมนต์กั้นรอบบริเวณเพื่อป้องกันไม่ให้ปูหลุดออกไป และผ่านการเลี้ยงแบบธรรมชาติ เช่น ใช้สาหร่ายทะเลในพื้นที่เป็นอาหารปู มีการรับซื้อลูกปูหรือปูขนาดเล็กที่ยังไม่โตเต็มที่จากชาวประมงเพื่อมาขุนให้โต จากนั้นจึงจับปูที่ได้ขนาดออกจำหน่าย ผลจากการเลี้ยงรอบแรกสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเข้ากลุ่มกว่า 5 หมื่นบาท มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อปูเล็กอีก 2 หมื่นบาท และในอนาคต จะมีการขยายพื้นที่เพิ่มอีก 3 ไร่อีกด้วย ฮาบิบ เพชรเบ็ญวาฮับ สมาชิกกลุ่มเลี้ยงปูดำเชิงอนุรักษ์ ให้ข้อมูลว่า โดยธรรมชาติของคนในพื้นที่แห่งนี้จะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เรื่องเกี่ยวกับปูดำนั้นจะมีความชำนาญและความรู้ในการเลี้ยงเป็นพิเศษอยู่แล้ว ปกติก่อนหน้านี้การจับปูดำของชาวประมงแถบนี้ คือ จับได้แล้วจะนำไปขายต่อให้พ่อค้าโดยตรง จึงเกรงว่าสักวันหนึ่งปูดำจะหมดไปเนื่องจากไม่มีการขยายพันธุ์ หรือต่างคนต่างจับ ไม่มีการร่วมกันอนุรักษ์ดูแลระยะยาว “พวกเราเลยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเลี้ยงปูให้อยู่ในรูปแบบการอนุรักษ์มากกว่า เพราะจะสร้างรายได้ระยะยาวให้แก่ชุมชน จากเมื่อก่อนแทนที่จะขายปูดำที่จับได้ตัวเล็กๆ กิโลกรัมละ 120 บาท แต่เมื่อชาวบ้านนำมาขายให้กับเรา เราก็จะเพาะเลี้ยงให้ปูนั้นตัวใหญ่ได้ขนาด 2 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ขายได้ราคามากถึงกิโลกรัมละ 350-400 บาท แต่หากเป็นปูตัวเมียที่กำลังมีไข่ เราจะเก็บไว้ขยายพันธุ์และปล่อยกลับสู่ธรรมชาติต่อไป เพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายได้ที่มั่นคง และทำให้อาชีพปูดำอยู่คู่กับชาวบ้านที่นี่ต่อไป” ขณะที่อีกด้านหนึ่ง อดุลย์ หมีดเส็น นายอำเภอยะหริ่ง กล่าวว่า ทางอำเภอยะหริ่งมีนโยบายในการอนุรักษ์และรักษาแนวป่าชายเลนให้คงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งอาชีพ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น และผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สำหรับการเลี้ยงปูดำของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปูดำเชิงอนุรักษ์นี้ เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการต่อยอดโครงการให้เกิดความยั่งยืน นอกจากเกิดรายได้กับชุมชนแล้ว ยังมีการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลูกฝังให้คนในชุมชนรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ให้อยู่คู่ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง อย่างยั่งยืน เสร็จจากการติดตามเรื่องปูดำ ผู้เขียนเลยถือโอกาสที่ยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง นั่งเรือร่วมกับเพื่อนสื่อมวลชนล่องไปท่องเที่ยวในป่าโกงกางบางปูซึ่งกำลังมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยครั้งที่ ศิรวี วาเล๊าะ ดำรงตำแหน่งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี พยายามผลักดันเรื่อง 10 ชุมชนท่องเที่ยวปัตตานีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ประกอบด้วย ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาว ชุมชนท่องเที่ยวจะบังติกอ ชุมชนท่องเที่ยวตันหยงลุโล๊ะ ชุมชนท่องเที่ยวน้ำบ่อ ชุมชนท่องเที่ยวยะหริ่ง ชุมชนท่องเที่ยวแหลมโพธิ์ ชุมชนท่องเที่ยวยะรัง ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม ชุมชนท่องเที่ยวตุยง และชุมชนท่องเที่ยวบางปูแห่งนี้ ทั้งนี้ แต่ละชุมชนมีจุดประสงค์ที่จะใช้กลไกเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่มีสถานท่องเที่ยวที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน มีสถานที่ท่องเที่ยวครบวงจรจากทะเลจรดภูเขา สำหรับ “ชุมชนท่องเที่ยวบางปู” เป็นชุมชนที่มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนเป็นป่าชายเลนที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ กิจกรรมหลักที่สนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น การล่องเรือชมป่าชายเลน ลอดซุ้มอุโมงค์โกงกาง การตกปลาในอ่าวปัตตานี การนั่งเรือชมพระอาทิตย์ และดูนกนานาพันธุ์ รวมถึงจุดเด่นสำคัญประการหนึ่งคือ ธรรมชาติของผู้คนที่ใสซื่อบริสุทธิ์ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนให้ยั่งยืน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักศรัทธาความเชื่อ การนั่งเรือชมวิถีธรรมชาติป่าชายเลน ปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อรอบ สนนราคาเหมาลำประมาณ 600 บาท รอบนี้คนขับเรือตระเวนพาเที่ยวท่องอย่างอิ่มเอมในอารมณ์ เริ่มจากท่าเรือบริเวณไม่ไกลนักจากจุดที่ตั้งของโครงการเลี้ยงปูดำ เรือลำน้อยค่อยๆ ลัดเลาะไปตามลำน้ำสายเล็ก สองฟากโอบอุ้มด้วยพรรณไม้เขียวชอุ่ม บางช่วงได้พบกับชาวบ้านที่กำลังว่างข่ายดักปลาหรือวางลอบดักปูดำในบริเวณป่าชายเลน ทักทายด้วยอัธยาศัยอันดีต่อกัน ถึงช่วงลอดซุ้มอุโมงค์โกงกางที่แผ่กิ่งก้านปกคลุมจนร่มครึ้ม ทิ้งเงาพลิ้วไหวในสายน้ำตัดแสงแดดยามเย็นย่ำดูสวยงามเป็นยิ่ง บางช่วงคนเรือหยุดเรือให้ดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะแล่นผ่านอุโมงค์โกงกางความยาวประมาณ 700-800 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร เรือออกสู่ท้องทะเลอ่าวปัตตานี จุดในของโค้งสันทรายที่โอบกอดทะเลในไว้ด้วยอ่าวโค้งรูปวงรี ปากอ่าวเชื่อมกับอ่าวไทย ด้วยแนวสันทรายของ “แหลมตาชี” หรือ “แหลมโพธิ์” คนขับเรือชี้ไม้ชี้มือให้ดู พร้อมกับเล่าว่า จุดหนึ่งที่เห็นบริเวณทะเลในของอ่าวปัตตานี คือจุดที่มีเรือโบราณจมอยู่ เพราะเวิ้งอ่าวนี้คือจุดจอดเรือสินค้าสมัยโบราณ ก่อนจะพาคณะเราขึ้นไปพักผ่อนบนแคร่ไม้ไผ่ในป่าโกงกาง อันเป็นจุดชมวิวอ่าวปัตตานีที่มีเสน่ห์ยิ่ง นั่งนิ่งๆ มองวิถีการทำประมงพื้นบ้านที่หลากหลาย ทั้งการว่างข่ายดักกุ้งหอยปูปลา การดักปลาด้วยซั้ง หรือการตีน้ำไล่ปลากระบอก “ต้นโกงกางแถบนี้ปลูกมาได้เป็นสิบๆ ปีแล้ว สมัยก่อนมีการให้สัมปทานป่าโกงกาง เพื่อนำไม้โกงกางไปเผาเป็นถ่าน ตอนหลังเขาห้ามตัดแล้ว เพราะกลายเป็นจุดขายในเชิงการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายให้ให้แก่คนในชุมชนได้มาก แล้วยังมีฝูงนกมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กลางคืนก็มีฝูงหิ่งห้อยอีกด้วย” ระหว่างนี้มีนักท่องเที่ยวสาวจากมาเลเซีย 2 คน นั่งเรือท่องเที่ยว คนขับเรือนำมาขึ้นท่าบนจุดพักเช่นกัน จึงได้พูดคุยทราบว่ามาเยี่ยมเยือนเพื่อนแถวนี้ เสร็จจากพักผ่อนเรือ 2 ลำจึงแล่นเคียงคู่กันไป สัมผัสบรรยากาศยามโพล้เพล้ของบางปูขณะหมู่วิหคหลากหลายชนิดบินกันว่อนฟ้า เช่น กระยางขาว นกกาน้ำ เหยี่ยว ฯลฯ บ้างเกาะอยู่รายเรียงตามต้นโกงกางหรือไม้ใหญ่ กระทั่งจบทริปต่างขึ้นฝั่งยังท่าเรือเดิมที่ก้าวขึ้นเรือ ถือเป็นอันครบรอบวงกลมสำหรับการนั่งเรือท่องเที่ยวป่าชายเลนและอุโมงค์โกงกางบางปู ขาดก็แต่การล่องเรือชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนเท่านั้น ปูดำ บางปู โกงกาง และกระแสการท่องเที่ยว ใน “ชุมชนท่องเที่ยวบางปู” ถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่ชายแดนใต้ที่ถูกกล่าวถึงมากเวลานี้ เพราะชาวบ้านในพื้นที่มีการรวมกลุ่มทำบ้านพัก โฮมสเตย์ รองรับกระแสท่องเที่ยว มีการจัดทริปทั้งเที่ยวทั้งกินไว้รองรับนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ สวนทางกับข่าวคราวด้านลบของพื้นที่ อย่างน้อยนักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสพื้นที่ย่อมรู้สึกปลอดภัย เพราะที่นี่... “เสน่ห์บางปู” ถือได้ว่าเป็นการจัดการด้านการท่องเที่ยว “โดยชุมชน” ทำให้ทุกคนต้องช่วยกันบริหารจัดการ ช่วยกันดูแล เพื่อไม่ให้เกิดภาพลบที่จะสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนและชุมชน