ทองแถม นาถจำนง ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของคนไทยยุคต่าง ๆ ที่กรมศิลปากรพิมพ์ หลักฐานที่ใช้วิเคราะห์ว่าคนไทยโบราณแต่งกายกันอย่างไร ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้งานศิลปะโบราณ เช่น ลายปูนปั้น, รูปสลักหิน, ภาพจิตรกรรม, เนื้อความในวรรณคดี เป็นต้น การแต่งกายที่ปรากฏหลักฐานเหล่านั้น แบ่งได้เป็น ของชนชั้นสูง ของราษฎรสามัญ และยังอาจแบ่งตามอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ได้อีก การศึกษาเรื่องน่าสนใจมาก แต่รู้สึกว่ามีผู้รู้สนใจศึกษากันน้อย ส่วนใหญ่จะไปค้นคว้าเรื่องลายผ้ากันมาก อาจเป็นเพราะว่า ลายผ้ามีแหล่งค้นคว้าได้มากได้ง่ายกว่าภาพการแต่งกายโดยองค์รวมของคนโบราณ การแต่งกายของผู้คนในยุคทวารวดีพบกระจัดกระจายอยู่ แต่ที่พบมากคือเครื่องแต่งองค์ทรงเครื่องของเทพเจ้า กษัตริย์ในสมัยโน้นอาจจะแต่งกายอย่างเดียวกับเทพเจ้า แต่ไพร่สามัญชนเขาแต่งกายกันอย่างไร ยังสรุปชัดเจนไม่ได้ หลักฐานโบราณคดีด้านการแต่งกายที่ชัดเจน (เพราะขนาดใหญ่โต) ยุคถัดคือคือภาพจำหลักศิลา กองทัพสยามบนระเบียงของนครวัดที่ระเบียงปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งได้จำหลักไว้ในรัชสมัย พระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) เป็นภาพขบวนพยุหยาตราของกองทัพ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656-1695) ภาพจำหลักกองทัพชาวเสียมนั้น เป็นทหารเดินเท้า แต่ละคนเกล้าผมทรงสูงไว้กลางกระหม่อม รวบผมรัดด้วยเกี้ยว 2 หรือ 3 ชั้น บนยอดสุดประดับพู่ เชิงผมถักเป็นหลอดทิ้งปลาย ให้ยาวลงมาประบ่าทั้งด้านข้างและด้านหลัง ใส่ต่างหู แขวนพวงดอกไม้ นุ่งผ้าทั้งผืนตั้งแต่เอวห่อพันมาบรรจบไว้ข้างหน้า ปล่อยชายล่างลงมาปิดเข่า รอบเอวมีพู่ห้อยด้วยสายเส้นเล็ก ๆ ปลายพู่เกือบถึงเข่า ถัดจากขอบเอวลงมามีเข็มขัดแผ่นโต อาจทำด้วยทองหรือเงินจำหลักลายคาดอยู่หลวม ๆ สวมเสื้อรัดรูป แขนสั้นเพียงข้อศอก ผ่าอกตลอด มีกำไลประดับที่ต้นแขน บางคนมีกรองคอ มือขวากุมหอกด้ามยาว ปลายประดับพู่ มือซ้ายถือโล่ห์แบบกาบกล้วย โค้งยาวพอที่จะปิดศีรษะตลอดเท้าได้มิดในขณะยืน ผู้ที่เป็นายขี่ช้างโดยยืนอยู่บนสัปคับ มือถือธนูศร มีกลดด้ามยาวชูกันแดดและเป็นเครื่องประดับยศ ควาญหน้าถือหอก ปลายประดับพู่หลายชั้น ทั้งหมดไม่สวมรองเท้า ที่ว่าทหารสยามนุ่งอะไรคล้าย ๆ กระโปรงนั้น นักวิชาการไทยก็ไปดูกันมาเยอะแล้ว แต่ไม่เห็นสรุปบอกชาวบ้านสักทีว่า ทหารสยาม “นุ่ง” อะไรกันแน่ เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าพบบทความเรื่อง “การแต่งกายของชายไทย” ถอดความจากการตอบคำถามในรายการ “สารนิเทสก์ทางอากาศ” ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ 2503 ผู้สัมภาษณ์ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช วันนั้นคือ นางสมจิต สิทธิไชย เริ่มต้นรายการ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า “หลักฐานทางประวัติศาสตร์อันแรกที่เกี่ยวกับการแต่งกายของผู้ชายไทยที่เรามีอยู่ที่ระเบียงนครวัด คือในขบวนกองทัพของพระเจ้าสุริยะวรมัน ผู้สร้างนครวัดนั้น มีอยู่ห้องหนึ่ง ! ซึ่งแปลกกว่าห้องอื่น เพราะเหตุว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “เซียมกุฏิ” คือเป็นห้อง “สยาม” หรือ “ห้องไทย” เราได้เห็นกองทัพไทยสลักไว้บนศาลาที่ระเบียงนครวัด แสดงการแต่งกายของคนไทยเมื่อราว แปดเก้าร้อยปีหรือพันปีมาแล้วอย่างชัดแจ้ง เท่าที่เห็นที่นครวัด ผู้ชายไทยในสมัยนั้นไว้ผมยาวชนิดที่รอบ ๆ ศรีษะปล่อยลงมาประบ่า เป็นทำนองผมบ๊อบ แล้วเกล้ากระหม่อมก็เกล้าขึ้นไปเป็นมวยสูง แล้วก็ปักปิ่น เสื้อนั้นไม่ปรากฏว่าใส่ แต่ว่าสิ่งที่นุ่งอยู่นั้นมันบอกยากครับ เพราะเหตุว่าดูในรูปสลักหิน เราไม่รู้ว่าทำด้วยวัตถุอะไร ลักษณะนั้นเป็นคล้าย ๆ กับกระโปรงสั้นแค่เข่าเหมือนอย่างกับพวกสก็อตนุ่ง คือพวก kilt เป็นผ้าพันรอบกายยาวประมาณแค่เข่า แต่ของสก๊อตนั้นเขาทำจากผ้าสักหลาด ของเรานั้นอาจเป็นผ้าก็ได้ แต่เมื่อครั้งกรมศิลปากรมีการสัมมนาที่สุโขทัยเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมสมัยสุโขทัย ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ และได้มีท่านหนึ่งแนะขึ้นอย่างที่น่าฟังอย่างยิ่งว่า ลักษณะของสิ่งที่คนไทยที่ปรากฏอยู่ที่นครวัดนุ่งนั้นมันเป็นเส้น ๆ อยู่ ที่พันรอบกายน่ะ อาจจะไม่ใช่ผ้า อาจจะเป็นหวายก็ได้ ถ้าหากว่าความเห็นนั้นถูกซึ่งผมก็เห็นว่าไม่มีอะไรจะน่าขัดแย้ง ก็แปลว่าคนไทยสมัยเมื่อเก้าร้อยหรือพันปีมาแล้ว นุ่งมู่ลี่ เอาหวายทำมู่ลี่แล้วก็นุ่ง ภาพปรากฏอยู่ที่นครวัดนั้นมันเป็นภาพของทหารที่กำลังจะไปรบ ขี่ช้างขี่ม้าถืออาวุธ เพราะฉะนั้นทหารที่ไปรบอาจจะต้องนุ่งห่มด้วยวัตถุที่จะเป็นเครื่องป้องกันตัวด้วย ดังนั้นคนไทยในสมัยนั้นอาจจะนุ่งอะไรที่ทำด้วยหวายเป็นเส้น ๆ เพื่อออกรบจริง ๆ แต่เห็นจะเป็นไปโดยวัตถุประสงค์ที่ว่าจะให้หวายนั้นเป็นเครื่องป้องกันอาวุธหอกดาบได้ เพราะว่ามันมีสปริง เอาดาบฟันมาบางทีมันก็คงไม่เข้าเบอะบะเหมือนกับนุ่งผ้าไปรบ นางสมจิต สิทธิไชย : เขาคงต้องมีวิธีทำอะไรให้มันอ่อน จะได้ลุกเดินเหินได้สะดวก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช : ก็ไปรบกันนี้ ก็ไม่ค่อยจะมีเวลานั่งหรอกครับ คุณสมจิตบางทีจะไม่เคยไปรบ คือถ้าไม่ยืนก็นอน ที่จะไปนั่งน่ะจะน้อย เวลาไปรบน่ะ เพราะฉะนั้นถ้านุ่งหวายไปมันก็คงรบได้ แล้วหวายมันก็มีสปริงป้องกันอาวุธ แต่ถ้านุ่งอยู่กับบ้านน่ะ มันก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ไหน ถ้าเผื่อเราจะนุ่งอะไรพัน ๆ รอบกายละก็ประมาณแค่หัวเข่า เวลาไปรบนั้นอาจจะเป็นหวายจริง แต่ว่าคนไทยเวลาเขาอยู่กับบ้าน เขาอาจจะนุ่งผ้าหรือเปลือกไม้บางอย่าง ในสมัยนั้นอาจจะทอผ้ายังไม่เป็น หรือว่าทอเป็นก็ยังไม่มีทางชัณสูตรได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงนุ่งอะไรที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับกระโปรงพันรอบกาย นี่ก็เป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดที่เราได้หลักฐาน” ส่วน “จิตร ภูมิศักดื” อธิบายเรื่องการแต่งกายของนักรบสยามไว้ในหนังสือ “ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม (มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519 หน้า 130-150” สรุปได้ว่า ภาพชาวเสียม (สฺยา) ในระเบียงนครวัดนั้น ร่างใหญ่ แข็งแรง ใบหน้ายาว. จมูกยาว โด่งกว่าจมูกภาพชาวเขมร บางคนก็มีหนวดมีเคราด้วย. ทุกคนใส่ตุ้มหูห่วงกลมเหมือนจักรวงเขื่อง ไว้ผมยาว เกล้าทรงสูงลดชั้นขึ้นไปกลางกบาล บนยอดประดับดอกไม้ไหวเป็นช่อสูง เมาลีที่เกล้าดูเหมือนจะมีเครื่องรัดที่ไทยโบราณเรียกเกี้ยว ผมตอนล่างของกบาล คือบริเวณท้ายทอยจรดหูปล่อยปรกลงประบ่า มีพวงดอกไม้แซมผมรอบท้ายทอยเป็นระย้า. ทรงผมนี้ผิดกับทัพชาวเขมรและละโว้ทั้งหมด ซึ่งพวกนั้นสวมเทริดยอดเป็นรูปหัวสัตว์ต่างๆ, ไม่ปล่อยผมประบ่าเลย เสื้อ เสื้อแขนสั้น ไม่มีคอ คือเจียนผายขึ้นไปเลย บ้างก็เป็นเสื้อเรียบๆ บ้างก็เป็นเสื้อแพรลายดอกไม้เป็นดวงๆ (ที่ว่าเป็นเสื้อแพรก็เพราะผ้าไหม, ผ้าฝ้ายของไทยไม่มีทอเป็นลายดอกไม้อย่างนั้น ลายอย่างนั้นมีแต่ทาในแพร) ปลายแขนเสื้อและชายเสื้อมีขลิบริมลวดลาย. โสร่ง โสร่ง มีทั้งเป็นผ้าพื้นเรียบและทั้งลายแบบผ้านุ่งลาวโส้ง (ผู้ไท) ซึ่งนุ่งให้เชิงผ้าข้างล่างผายนิดๆ เหมือนโสร่งมอ-พะม่า แต่สังเกตว่าไม่ได้เพลาะชายผ้าให้เป็นถุง หากเป็นผืน และนุ่งพันแบบมลายู. รอบเอวมีดอกไม้ห้อยเป็นระย้าลงมาเป็นสายยาวเกือบจรดเข่าเหมือนระย้าประดับเอวระบาฮาวาย. มือถือหอกหรือทวน และดั้ง. เจ้านาย ตัวนายทัพเสียมกุก แต่งตัวสวมเสื้อ นุ่งโสร่งแบบเดียวกันกับไพร่พล ต่างแต่มีผ้าคาดอก เอวเหน็บกริชอันเบ้อเร่อ ยืนโก่งธนูอยู่บนหลังช้าง. เฉพาะผมนั้น เกล้าลดชั้นขึ้นไป และมีดอกไม้ไหวประดับเป็นช่อเช่นกัน ต่างแต่ว่าพวงดอกไม้ห้อยแซมผมที่รอบท้ายทอยนั้นมากกว่าของพวกไพร่พลจนดูเป็นแผงซ้อนกันทีเดียว ร่ม เครื่องสูงที่ใช้ประดับยศผู้นำบนหลังช้างนั้น เป็นร่มใหญ่คล้ายกลด แต่หลังคาลาดตรง ไม่คุ่ม มีเชิงระบายหลุบมนลงมานิดหน่อย, คันยาว ถือชูบังคนที่ยืนบนหลังช้างได้สบาย และใช้ประดับเป็นหมู่หลายๆ คัน. ผ้าคาดอก นอกจากเสื้อแล้ว ตัวนายของทัพเสียมกุกบนหลังช้างยังมีผ้าคาดอกเป็นแถบใหญ่ อันนี้แปลกดี, ปรกติผ้าของไทยยุคหลังๆ มักจะคาดพุง. แต่ในวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งมีปรากฏชัดว่าตัวขุนเจืองเวลาแต่งตัวขึ้นช้างก็คาดผ้าดอกลายเครือวัลย์งดงามทีเดียว นุ่งผ้าผืน พวกเสียมกุกทั้งตัวนายที่ยืนบนหลังช้างและทั้งไพร่พลก็นุ่งผ้าเป็นผืน แต่พันรอบตัวให้เชิงผายนิดๆ ตุ้มหู ภาพสลักรูปเสียมกุกใส่ตุ้มหูห่วงกลมกระชับรู ค่อนข้างโต มีลายเป็นจักๆ นั้น อันนี้ตรงกับในวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งเผงทีเดียว. พวกผู้ชายใส่ตุ้มหูห่วงด้วย ซึ่งในหนังสือวรรณคดีเรียกว่า กะจอนต้าง (ต้าง ภาษาลาวหมายถึงติ่งของใบหู และหมายถึงตุ้มหูห่วงขนาดใหญ่ด้วย). เกล้าผม ตามรูปนครวัดนั้น เห็นจะเป็นแบบหนึ่งของการเกล้ากลางกบาลที่เรียกว่า เกล้าโจรงโขดง, และที่มีแซมดอกไม้ไหวบนยอดเมาลีนั้น ได้พบว่าตกถึงสมัยอยุธยา ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าการแซมดอกไม้ไหวบนมวยยังเป็นเครื่องประดับยศอย่างหนึ่งของพวกเจ้านายผู้หญิงและเมียขุนนาง. และตัวขุนนางเองก็มีการสรวมเครื่องประดับศีรษะและไว้ผมมวยมีเกี้ยวรัดทองคำ (เก็บย่อความจาก(เก็บย่อความจากเว็บ https://board.postjung.com/744572.html)